12 ม.ค. 2022 เวลา 02:02 • ข่าวรอบโลก
ภารกิจกระทรวงต่างประเทศที่ท้าทายในสถานการณ์โควิด-๑๙ และยุคหลังโควิด-๑๙
รายการ ‘รักเมืองไทย’ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้สัมภาษณ์อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงต่างประเทศ คุณธานี แสงรัตน์ ในหัวข้อภารกิจกระทรวงต่างประเทศที่ท้าทายในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ และยุคหลังโควิด-๑๙ (https://youtu.be/ZnCKdakZdtM หรือ https://fb.watch/9BFrLYyHT4/)
เมื่อพูดถึงการจัดการกับโควิด-๑๙ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะนึกถึงกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่ก็ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ศบค. ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙ กระทรวงการต่างประเทศเป็นหนึ่งในนั้น ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการพบผู้ติดเชื้อรายแรกของโลกนอกประเทศจีนซึ่งก็คือประเทศไทย มาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จากประเทศต่าง ๆ ด้วย
ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ทำให้ทางการจีนตัดสินใจงดเที่ยวบินเข้าออกภายในเมือง โดยข้าราชการกระทรวงกาต่างประเทศประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง จำนวน ๓ คน ได้เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงปักกิ่งไปยังเมืองอู่ฮั่น ระยะทางกว่า ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว ๑๕ ชั่วโมง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างอยู่ในเมืองอู่ฮั่น และไม่เพียงแต่ในเมืองอู่ฮั่นเท่านั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าไปปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยในทั่วทุกมุมโลก เพราะการดูแลคนไทยทั่วโลกคือภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศ
ในช่วงของการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ท่านอธิบดีธานี เล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเป็นเครื่องมือจัดหาวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย ทำให้ไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ จากมิตรประเทศหลายแห่ง เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศด้วยกัน
...และเมื่อสถานการณ์โควิด-๑๙ ดีขึ้นตามลำดับ ประเทศไทยได้กลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๑๕๖๔ จนถึงช่วงปลายเดือนธันวามคม ซึ่งจำเป็นต้องกลับมาใช้ระบบแซนด์บ๊อกซ์และการกักกันโรคเพียงอย่างเดียวเป็นการชั่วคราวอีกครั้งเพื่อป้องกันการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงเทศกาลวันหยุด ....
ในห้วงที่เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ท่านอธิบดีธานีฯ เล่าให้ฟังว่า กระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอระบบ “Thailand Pass” สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อให้สามารถอัพโหลดเอกสารสำคัญต่าง ๆ ได้ โดยเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารใด ๆ เพิ่มเติมมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ลดการสัมผัสตามแบบวิถีชีวิตใหม่ และทำให้เกิดความสะดวกในด้านเอกสารมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจาก QR Code ที่กระทรวงการต่างประเทศออกให้ผ่านระบบ Thailand Pass ท่านผู้อ่านยังสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ Thailand Pass ได้ ผ่านเว็บไซต์ tp.consular.go.th ด้วย
...และในปี ๒๕๖๕ นี้ ขอเชิญท่านผู้อ่านและพี่น้องชาวไทยทุกท่านร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภารคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ที่ประเทศไทยรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพจากประเทศนิวซีแลนด์ การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกโอกาสและเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจโลกสู่ยุคหลังโควิด-๑๙ ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
เอเปคเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากอันดับต้น ๆ ของโลกโดยครอบคลุมประชากรมากกว่าหนึ่งในสามของโลก และมีมูลค่า GDP มากกว่ากึ่งหนึ่งของโลก สำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ ไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model ที่จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้านด้วยกัน ไม่เพียงแค่ในด้านเศรษฐกิจ ผมจึงขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านเข้าไปติดตามเพจเฟสบุ๊ค APEC 2022 Thailand เพื่อที่จะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงานประชุมเอเปคในปีหน้าได้อย่างครบถ้วน
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา