5 ม.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
โอกาสของธุรกิจไทยในรัฐเคเรล่า (Kerala) ของอินเดีย
ภาพรวมและศักยภาพของรัฐเคเรล่า
ปัจจัยด้านประชากรและภูมิศาสตร์
รัฐเคเรล่าหรือเกรละ (Kerala) มีประชากรประมาณ 35 ล้านคน โดยกว่า 26.5% เป็นมุสลิม (สัดส่วน มุสลิมในอินเดียโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14.2%) ทำให้แรงงานและตลาดในเคเรล่าค่อนข้างพร้อมสำหรับสินค้าฮาลาล ในขณะดียวกัน คนเคเรล่ามีอัตราการรู้หนังสือถึง 96.2% ซึ่งสูงกว่าทุกรัฐในอินเดีย โดยรัฐบาลเคเรล่าเน้นพัฒนาคนในสาขาวิทยาศาสตร์ ทำให้แรงงานในเคเรล่าค่อนข้างพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี โดย GDP ของรัฐนี้ในช่วงปี 2558 – 2564 ขยายตัว 11.72%
ในด้านภูมิศาสตร์ เคเรล่ามีลักษณะเป็นแนวยาวติดทะเล 580 กม. ประกอบด้วยภูเขาสูงและที่ราบต่ำ ปริ่มน้ำทะเล (Back Water) ทำให้รัฐนี้มีผลผลิตสัตว์น้ำและมีมะพร้าวจำนวนมาก (Kerala มาจากภาษามาลายาลัม แปลว่าดินแดนแห่งมะพร้าว) จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราและผลไม้ท้องถิ่น อาทิ สับปะรด ขนุน มะขาม มะม่วงหิมพานต์ โกโก้ และกาแฟ และเครื่องเทศ อาทิ พริกไท กระวาน ขิง อบเชย และวนิลา รวมทั้งยางพารา ซึ่งประมาณ 78% ของผลผลิตทั้งหมดมาจากรัฐนี้ นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือน้ำลึกบนเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับศรีลังกาและตะวันออกกลาง/อาหรับด้วย ทำให้เคเรล่าเป็นแหล่งผลิตและส่งออกมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะเมืองธิรูวานันทปุรัม (Thiruvananthapuram) เมืองหลวงของรัฐนี้ และทำให้มีชาวเคเรล่าเดินทางไป ศึกษาและทำงานในตะวันออกกลางหลายล้านคน
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐเคเรล่า
นอกเหนือจากการผลิตอาหารฮาลาลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพในปัจจุบันแล้ว ยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐเคเรล่า (Kelara Perspective Plan 2030) ได้วางแผนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจโดยจะใช้ประโยชน์จากจุดเด่นคือ สมุนไพรและภูมิปัญญาด้านอายุรเวท รวมทั้งจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Plant & Technology) โดยมุ่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยาสมุนไพรและเครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งบริการสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพ (Medical Hub) แห่งหนึ่งของโลก รองรับความต้องการจากชาวอินเดียทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งชาวอาหรับด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังวางแผนให้เคเรล่าเป็นแหล่งผลิตยางพาราและผลไม้เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคและอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย จึงได้พยายามยกระดับผลิตภาพและคุณภาพของการปลูกยางพารา มะพร้าว และผลไม้เมืองร้อน อาทิ เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด ชมพู่ และทุเรียน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและ ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ทั้งในรูปแบบผลไม้สดและผลไม้แปรรูป
โอกาสของผู้ประกอบการไทยในรัฐเคเรล่า
ในด้านการค้า ข้อมูลของ Global Trade Atlas บ่งชี้ว่าปัจจุบันสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยังรัฐเคเรล่า โดยผ่านท่าเรือที่เมืองโคชิ (Kochi Port) ได้แก่ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และเอสเซนเชียลออยล์ ซึ่งอุตสาหกรรมในรัฐเคเรล่ากำลังขยายการผลิตเพื่อการส่งออกไปทางตะวันออกกลาง จึงเป็นโอกาสของสินค้าขั้นกลางจากไทยที่จะสนับสนุนเป็นห่วงโซ่อุปทานได้ อาทิ ส่วนประกอบของเครื่องจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์การแพทย์ วัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางและอาหารฮาลาล ซึ่งสามารถต่อยอดมูลค่าเพิ่มและสร้างงานให้กับคนอินเดียได้ด้วย
ในด้านการลงทุน ข้อมูลของหน่วยงานด้านนิคมอุตสาหกรรมของรัฐเคเรล่า (Kerala State Industrial Development Corporation: KSIDC) ระบุว่ารัฐเคเรล่ามีนิคมอุตสาหกรรม 23 แห่ง โดยวางแผนแบบคลัสเตอร์ ให้เชื่อมโยงกับแหล่งวัตถุดิบและสถาบันศึกษาเฉพาะทาง โดยจะเน้นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สินค้า/บริการสุขภาพ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์/ โทรคมนาคม/ซอฟแวร์ รัฐบาลเคเรล่าจึงได้ส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและยกระดับอุตสาหกรรมเหล่านี้ อาทิ การแปรรูปพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์และบริการสปา การให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้เคเรล่าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับโลก โดยตั้งเป้าที่จะสร้าง Medical Cities จำนวน 3 แห่งภายใน 10 ปี ข้างหน้า (2573) จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ เกี่ยวข้อง ดังนี้
อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป: อาหารฮาลาล
รัฐเคเรล่าเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนประเทศในตะวันออกกลาง โดยในแต่ละวันมีผักและผลไม้สดจากเคเรล่าถูกส่งออกทางเรือไปยังซาอุดีอาระเบียวันละประมาณ 30-40 ตัน และส่งออกทางเครื่องบินไปยังประเทศในตะวันออกกลางอีกวันละประมาณ 150 ตัน โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มให้ถึงวันละ 200 ตัน โดยเฉพาะกล้วยและสับปะรด ในขณะเดียวกัน นักลงทุนจากซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ก็เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารและ เครื่องดื่ม รวมทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเคเรล่าด้วย
ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมควรพิจารณาเข้าไปลงทุน ตั้งโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งบรรจุภัณฑ์อาหารรองรับผู้บริโภคที่เป็นชาวมุสลิมทั้งในอินเดียและ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาหรับ อาทิ โอมาน อิรัก อิหร่าน อียิปต์ โดยเฉพาะเมืองในเคเรล่าที่มีสนามบินนานาชาติ ได้แก่ Kozhikode, Thiruvananthapuram, Kannur และ Kochi (มีเที่ยวบินตรง ไป-กลับประเทศไทย) รวมทั้ง เมือง Vizhinjam ซึ่งจะมีท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงกับตะวันออกลาง ทั้งนี้ อาจมีการนำวัตถุดิบจากไทยไป ใช้ในการแปรรูปเพื่อผลิตอาหารและเครื่องดื่มด้วย
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายประการหนึ่งคือรัฐบาลของเคเรล่าได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผลไม้เพื่อการพึ่งพาตนเองและการส่งออก อาทิ เงาะ มังคุด ขนุน ทุเรียน ลิ้นจี่ สละ อโวคาโด และโกโก้ โดยรัฐบาลมีงบประมาณอุดหนุนให้ประมาณ 1,800 บาทต่อไร่ โดยในปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 4,375 ไร่ ซึ่งรัฐบาลจะจัดหาต้นพันธุ์และวัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรด้วย โดยปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวเงาะแล้วและขายปลีกในราคา 65 บาท/กก. โดยเป็นเงาะสายพันธุ์จากมาเลเซีย (พันธุ์ Pulasan) ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าเงาะไทย และจะแปรรูปเป็นเงาะกระป๋องส่งออกไปยังตะวันออกกลางต่อไป
ธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม
รัฐเคเรล่าที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์แผนโบราณเป็นพื้นฐาน ประกอบกับการมีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล และเครือข่ายของผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับประเทศในตะวันออกกลาง ทำให้ธุรกิจบริการสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างความแตกต่างด้วยกรรมวิธีแบบธรรมชาติบำบัด/อายุรเวทและโยคะ รวมทั้งมีค่าครองชีพที่ไม่แพงในกรณีที่ผู้ป่วยและญาติจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นเวลานาน ตามยุทธศาสตร์ของรัฐเคเราล่า การรักษาพยาบาลที่จะมุ่งเน้น ได้แก่ cardiac and nephrology, orthopedic, gastro และ oncology
รวมทั้งการดูแลเพื่อการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด โดยนำการแพทย์แผนอินเดียเข้าไปผสมผสาน ซึ่งอินเดียได้ศึกษาแนวทางของไทย มาเลเซียและสิงคโปร์มาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดงานต่างๆ อาทิ Arogya Expo และ Kerala Travel Mart เพื่อสร้างการรับรู้ว่าเคเรล่าเป็น World-class Healthcare Destination
ศักยภาพในด้านนี้ของรัฐเคเรล่าถือเป็นคู่แข่งหนึ่งของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาส ในการ เข้าไปทำธุรกิจของไทยเช่นเดียวกัน เพื่อรองรับลูกค้าทั้งภายในประเทศอินเดียและชาวเคเรล่าในภูมิภาคอาหรับที่ กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดทุกปี รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมาตรฐานการให้บริการของโรงพยาบาลในอินเดียยังเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลกำลังเร่งยกระดับให้ได้ตามมาตรฐานสากล จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปเป็นทางเลือกในตลาด โดยเฉพาะการตรวจรักษาและเสริมความงาม ซึ่งไทยมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงราคาให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ในตลาดอินเดีย
โอกาสทางธุรกิจอีกประการหนึ่งที่ตรงกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยคือธุรกิจบริการความงาม (Beauty Service) ทั้งที่เป็นการฟื้นฟูสภาพผิวโดยไม่ใช้ การผ่าตัด (Non-Surgical) และคลินิกศัลยกรรมเพื่อความงาม (Cosmetic Surgery) ซึ่งการให้บริการทั้งสองแบบยังคงมีจํานวนน้อย โดยบริการที่คนอินเดียเริ่มให้ความสนใจ ได้แก่ anti-ageing, under eye rejuvenation, facelift, laser hair removal, hair transplant และ under arm lightening รวมถึงการดูดไขมันเพื่อลดขนาดสะโพกและต้นแขน และการลดขนาดของหน้าอกของผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งการใช้บริการยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แน่ใจในความปลอดภัย ซึ่งสถานบริการของไทยอาจเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ และอาจใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นกลไกในการขยายสาขา รวมทั้ง อาจประชาสัมพันธ์ร่วมกับดารา/นักกีฬา และเชิญชวนให้เดินทางไปใช้บริการในประเทศไทยต่อไปด้วย
ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในการเข้าไปลงทุนในรัฐเครล่า
การลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมอาหารเป็นสาขาที่หน่วยงานของอินเดียให้การสนับสนุนอยู่แล้ว โดยอนุญาตให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้สูงสุด 100% ภายใต้การอนุมัติแบบอัตโนมัติ (Automatic Approval) และได้รับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและอากรนำเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบ เพื่อนำใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินเดียในประเทศไทยเพื่อทราบถึงมาตรการและเงื่อนไขล่าสุดที่รัฐเคเรล่าสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติได้ โดยเฉพาะการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงแรงจูงใจสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลเคเรล่ากำลังให้ความสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่อุตสาหรรมอาหารฮาลาลเท่านั้น แต่รวมถึงโรงงานผลิตภาชนะ/บรรจุภัณชีวภาพ และบริการห้องเย็น สำหรับอาหารทะเลและโลจิสติกส์สำหรับผักและผลไม้ เพื่อลดการสูญเสียของวัตถุดิบและการขนส่งอาหารฮาลาลด้วย
สำหรับการเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพและความงามในรัฐเคเรล่า ผู้ประกอบการไทยควรศึกษามาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ตามเกณฑ์ของ NABH and ACHI และมาตรฐานสำหรับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ และความงาม รวมทั้งติดต่อเป็นพันธมิตรกับธุรกิจนำเที่ยวในรัฐเคเรล่า อาทิ Thomas Cook, IRCTC และ Wings ตลอดจนโรงแรมและโรงพยาบาลในท้องถิ่น เพื่อวางแผนการตลาดและการให้บริการร่วมกัน นอกจากนี้ ควรจัดหาเจ้าหน้าที่ที่สามารถสื่อสื่อสารภาษาอาหรับได้ เพื่อให้เข้าถึงตลาดในตะวันออกกลาง และมีติดตามผลการให้บริการสุขภาพและความงามเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งต่อการให้บริการไปยังสาขาในประเทศไทยในอนาคต
การร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพในอินเดีย เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งสำหรับสินค้าและบริการฮาลาล อินเดียมีเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการชาวมุสลิมในอินเดีย (All India Muslim Business & Startup Network (AIMBSN) ที่พร้อมจะพบปะหารือกับพันธมิตรจากทั่วโลกในการขยายกิจการให้กับสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร ยาและเครื่องสำอางจากสมุนไพร เพื่อตอบสนองชาวมุสลิมทั้งจากชาวมุสลิมที่อยู่ในอินเดีย ซึ่งมีประมาณ 15% ของประชากร (หรือประมาณ 200 ล้านคน) รวมถึงชาวอินเดียโพ้นทะเล โดยมีสำนักงานอยู่ในกลุ่มประเทศ (Gulf Cooperation Council: GCC) ด้วย
โฆษณา