17 ม.ค. 2022 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
12 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ในปี 2022
ใกล้จะสิ้นปี 2021 กันแล้ว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมาใหม่อยู่เรื่อย ๆ การจะตามให้ทันทุกเทคโนโลยีคงเป็นไปได้ยาก อีกไม่นานก็จะปี 2022 กันแล้ว ทางบริษัท การ์ตเนอร์ (Gartner) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ก็ได้วิเคราะห์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่จะเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ 12 อย่างของปี 2022 ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และถ้าผู้บริหารองค์กรหรือหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำไปใช้ ก็จะช่วยทำให้การทำงานขององค์กรสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น
Trend 1: Data Fabric
เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อมูลเกิดขึ้นมากมาย หลากหลายแพลตฟอร์ม Data fabric เป็นแนวคิดการออกแบบที่เชื่อมข้อมูลในแพลตฟอร์มข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เสมือนราวกับว่าข้อมูลในแต่ละที่แต่ละแพลตฟอร์มอยู่ร่วมกันในที่เดียว ช่วยเพิ่มความสะดวกในการจัดการข้อมูล ทำให้ข้อมูลสามารถพร้อมใช้งานได้ทุกที่ตามต้องการ และ Data Fabric สามารถใช้ในการวิเคราะห์และแนะนำว่าข้อมูลส่วนไหนที่จะถูกนำไปใช้หรือตรงไหนที่ควรเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยลดงานที่ต้องจัดการข้อมูลได้ถึง 70%
Trend 2: Cybersecurity Mesh
Cybersecurity mesh เป็นสถาปัตยกรรมที่ว่าด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยของทรัพย์สินดิจิทัลที่มีโซลูชันด้านความปลอดภัยที่ต่างกันทั้งหมดขององค์กร ให้สามารถจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยโดยรวมได้ โดยมีความสามารถในการกำหนดขอบเขตความปลอดภัย ตรวจสอบตัวตน สามารถเช็คการใช้งานว่าเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ และสามารถทำการควบคุมและจัดการได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าทั้งทรัพย์สินดิจิทัลจะอยู่บนสภาพแวดล้อมระบบคลาวด์หรือไม่ใช่คลาวด์ก็ตาม
Trend 3: Privacy-Enhancing Computation
Privacy-Enhancing Computation เป็นเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยควบคุม และดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเชื่อถือ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยลดความกังวลของเจ้าของข้อมูล
Trend 4: Cloud-Native Platforms
Cloud-Native Platforms จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คุณสร้างแอปพลิเคชันบนระบบคลาวด์ได้อย่างยืดหยุ่น รวดเร็ว เพื่อตอบสนองตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะแก้ไขปัญหาของวิธีเดิมของการย้ายแอปพลิเคชันไประบบคลาวด์แบบ Lift and Shift ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ของคลาวด์ได้อย่างเต็มที่ และยังมีความซับซ้อนในการบำรุงรักษา
Trend 5: Composable Applications
การสร้างแอปพลิเคชันโดยแบ่งเป็นส่วน ๆ ยึดตามโจทย์ของธุรกิจเป็นหลัก โดยจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนา และสามารถนำโค้ดเดิมกลับมาใช้ใหม่ในซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ได้ซอฟต์แวร์ที่ออกสู่ตลาดได้เร็วมากยิ่งขึ้น
Trend 6: Decision Intelligence
การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น augmented analytics, simulations และ AI มาช่วยส่งเสริมการตัดสินใจเพื่อการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Trend 7: Hyperautomation
เป็นแนวทางที่ใช้การขับเคลื่อนธุรกิจผ่านการทำให้กระบวนการทางธุรกิจและ IT เป็นแบบอัตโนมัติและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับปริมาณการใช้งานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพของงาน ให้สามารถทำงานจากทางไกลได้ และเพิ่มความเร็วของกระบวนการทางธุรกิจ
Trend 8: AI Engineering
พนักงานที่พัฒนาแอปพลิเคชันที่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้าน AI จะต้องใช้ทั้งเวลาและเงินจำนวนมากในการนำระบบที่มี AI เข้ามาใช้ร่วมกับแอปพลิเคชัน การมี AI engineer ที่เชี่ยวชาญจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและสามารถส่งมอบงานที่เป็นประโยชน์แก่องค์กรได้อย่างดีแน่นอน
Trend 9: Distributed Enterprises
เมื่อการทำงานไม่จำเป็นต้องทำที่ออฟฟิศเท่านั้น การทำงานจากระยะไกลเริ่มเพิ่มขึ้น องค์กรก็ต้องนำเทคโนโลยีที่จะช่วยในการทำงาน เพื่อให้พนักงาน ลูกค้า หรือ partner ได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ดีที่สุด
Trend 10: Total Experience
คือการบริหารจัดการประสบการณ์แบบองค์รวม ที่จะประสานประสบการณ์ รวมไปถึงความเชื่อมั่น ความพึงพอใจ ความภักดี ทั้งของพนักงาน ลูกค้า และผู้ใช้งาน เข้ามาพิจารณาร่วมกัน เพื่อใช้ออกแบบกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต
Trend 11: Autonomic Systems
ระบบอัตโนมัติที่ปรับตัวและเรียนรู้ได้แบบเรียลไทม์ เป็นทั้งระบบแบบกายภาพและซอฟต์แวร์ที่สามารถตอบรับความต้องการในสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และป้องกันการโจมตีโดยที่ไม่ต้องมีคนมาคอยดูแลจัดการ
Trend 12: Generative AI
Generative AI คือเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้ โดยไม่ซ้ำกับของเดิม สามารถสร้างเนื้อหาที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ เช่น คอนเทนต์วิดีโอ หรือการเพิ่มความเร็วในการวิจัยและการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่ยาจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์
เทรนด์เทคโนโลยีจะช่วยพลักดันธุรกิจแบบดิจิทัลได้อย่างไร
Engineering Trust:
เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กล่าวถึงจะช่วยสร้างรากฐานให้กับ IT ให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมั่นใจได้ว่าการประมวลผลข้อมูลทั้งที่อยู่บนระบบคลาวด์และที่ไม่ได้อยู่บนระบบคลาวด์จะมีความปลอดภัย และสามารถปรับขนาดโครงสร้างของ IT ได้ตามที่ต้องการอีกด้วย
Sculpting Change:
การเปลี่ยนแปลงขององค์กรตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้คุณสามารถปรับขนาดและเร่งการพัฒนาองค์กรสู่การเป็น digitalization ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างแอปพลิเคชันที่ช่วยให้คุณลดขั้นตอนทางธุรกิจและปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของ AI เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการนำไปใช้ตัดสินใจขององค์กรได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น
Accelerating Growth:
การเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยอาศัยเทรนด์ของเทคโนโลยี จะทำให้องค์กรมีกำลังที่จะชนะในธุรกิจและได้ส่วนแบ่งในตลาด และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้องค์กรของคุณและความสามารถทางด้านดิจิทัลอีกด้วย
โฆษณา