19 ม.ค. 2022 เวลา 03:20 • ข่าว
ประเทศไทย และสหประชาชาติ: ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญด้านการพัฒนา
เมื่อปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อองค์การสหประชาชาติมาครบ ๗๕ ปี ซึ่งการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย วันนี้ ดิฉันขอมาถ่ายทอดบทสัมภาษณ์คุณพืชภพ มงคลนาวิน หรือพี่พืช รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ย้อนความหลังการก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของไทยค่ะ (รับฟังเพิ่มเติมผ่าน FM ๘๘ MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=_Vv4Ta3I4o8)
ท่านรองอธิบดีพืช ได้ท้าวความไปเมื่อหลังยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ในขณะนั้น ไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมในยุโรปและตะวันออกไกล ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการรับรองในระดับสากล รวมไปถึงการได้รับความเคารพในอธิปไตย และบูรณภาพในดินแดนของตน ซึ่งในขณะนั้นเอง การเข้าร่วมองค์การสหประชาชาติจะทำให้ประเทศไทยปลอดภัยและเป็นที่เคารพต่อนานาประเทศได้ เนื่องจากองค์การสหประชาชาติเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดและเป็นสากล ซึ่งออกแบบมาเพื่อรักษาสันติภาพของโลก การปกป้องอธิปไตย และส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะได้รับการยอมรับเป็นสมาชิก จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติของสมาชิกถาวรทั้งห้าประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเสียก่อน ดังนั้น ถึงแม้ไทยจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่กลับมีปัญหาบางประการ เช่น การเจรจากับประเทศอื่น ๆ และด้วยความเป็นผู้นำที่มีความสามารถของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จึงใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนในการยื่นเสนอชื่อเพื่อเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙) ไทยได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกอันดับที่ ๕๕ ขององค์การสหประชาชาติ
ตลอดระยะเวลา ๗๕ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นต่อสหประชาชาติและหลักการที่ประดิษฐานอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) เช่นเดียวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) หรือแม้กระทั่งการมีส่วนร่วมของคนไทยที่เข้ามามีบทบาทต่อองค์การสหประชาชาติ ยกตัวอย่างเช่น ดร. ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ ๑๑ ในปี ค.ศ. ๑๙๕๖
ยิ่งไปกว่านั้น อดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติให้เป็นประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงด้านภัยคุกคาม ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง โดยล่าสุด ดร. วิลาวรรณ มังคละธนากุล ก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission) หรือ ILC เป็นสตรีไทยคนแรก และสตรีคนแรกจากอาเซียนด้วย
ประเทศไทยพิสูจน์ให้ประชาคมระหว่างประเทศได้เห็นแล้วว่า เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ สร้างสรรค์ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญด้านการพัฒนาของสหประชาชาติใน ๓ เสาหลักของสหประชาชาติ ได้แก่ (๑) หลักนิติธรรม สันติภาพ และความมั่นคง (๒) หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ (๓) หลักนิติธรรมและการพัฒนา โดยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไทยสามารถทำให้เป้าหมายต่าง ๆ ลุล่วงไปได้นับตั้งแต่การเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตอบรับคำร้องขอหลายครั้ง เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
อาทิ ในช่วงสงครามเกาหลีในปี ค.ศ. ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) ประเทศไทยถือเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศแรกที่ส่งทหารภาคพื้นดิน ๑๑,๗๐๐ นายและข้าว ๔๐,๐๐๐ ตันไปในปี ค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) รวมไปถึงการที่ประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้งกองกำลังฉุกเฉินแห่งสหประชาชาติในตะวันออกกลาง และภารกิจสหประชาชาติในคองโก โดยยึดมั่นในระบอบพหุภาคีและการระงับข้อพิพาท
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้าเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๘๕ - ๑๙๘๖ (พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๒๙) โดยความสำเร็จที่โดดเด่นของไทย คือ ในช่วงการเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้มีการนำมติ UNSC ที่ ๕๘๙ (ปี ค.ศ. ๑๙๘๖ / พ.ศ. ๒๕๒๙) มาบังคับใช้ ซึ่งปูทางไปสู่การยุติสงครามอิรัก-อิหร่าน
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ทำงานร่วมกันกับองค์การสหประชาชาติเพื่อบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความขัดแย้งในกัมพูชาผ่านข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ซึ่งการมีส่วนร่วมของไทยในการรักษาสันติภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังสิ้นสุดสงครามเย็น โดยผู้รักษาสันติภาพของไทยได้ให้ความสำคัญต่อวาระสันติภาพที่ยั่งยืนและเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุความขัดแย้ง สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๖ ได้แก่ สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง โดยไทยได้ส่งคนเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพเป็นจำนวนมากกว่า ๒๗,๐๐๐ คน ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติมากกว่า ๒๐ แห่งทั่วโลก
ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อการดำเนินการด้านสภาพอากาศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนากลุ่มแรก ๆ ที่ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ไปยังสำนักเลขาธิการ UNFCCC ซึ่งในการประชุมใหญ่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าวิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไทยได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยรัฐบาลไทยได้สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ อย่างเต็มที่ และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะระดับโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกยังให้การยอมรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในร้อยประเทศซึ่งรับมือต่อสถานการณ์โควิด-๑๙ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สุดท้ายนี้ สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของประเทศไทย คือ การที่ได้ทำหน้าที่เป็น Super Hub หรือศูนย์กลาง ขององค์การสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และการเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ ด้วย โดยประเทศไทยจะยังคงเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้ และมีความสร้างสรรค์ ตลอดจนเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติในอีกหลายปีข้างหน้า
นางสาวพิมพ์ภัทรา ณ กาฬสินธุ์
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา