7 ม.ค. 2022 เวลา 08:49 • การศึกษา
สวัสดีวันศุกร์อีกครั้ง สัปดาห์นี้เบนซ์จะมาตอบคำถามที่เราทิ้งกันไว้เมื่อศุกร์ที่แล้วว่า "ทำไมการรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสถึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นอะไรขนาดนั้น?" เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
อย่างที่ทราบกันดีนะคะว่าเชื้อไวรัสไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิต มันเป็นเพียงอนุภาคที่ไม่มีส่วนประกอบอะไรที่ซับซ้อนมีเพียงสารพันธุกรรมซึ่งอาจเป็น DNA หรือ RNA อย่างใดอย่างหนึ่งและมีโปรตีนที่ห่อหุ้มมันอยู่ อนุภาคจิ๋วนี้จะอาศัยกลไกต่างๆ ของเซลล์ในสิ่งมีชีวิตเพื่อให้มันเพิ่มจำนวนและอยู่รอด
งั้นถ้าเราอยากจะกำจัดมัน เราจะใช้อะไรดีล่ะ? คำตอบง่ายๆคือ อะไรก็ได้ที่ฆ่าไวรัสได้ยังไงล่ะ แต่เราอย่าลืมนะว่าการเพิ่มจำนวนของมันต้องอาศัยสิ่งมีชีวิต ดังนั้น จึงมีความเป็นได้สูงว่ายาหรือสิ่งที่เราใช้กำจัดไวรัสที่ติดเชื้อในตัวเรานอกจากจะมีผลต่อไวรัสแล้วก็อาจมีผลต่อร่างกายได้ด้วยเช่นกันค่ะ
เอ๋…..แต่เราก็ยังมีวัคซีนนี่นา หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนว่าจะช่วยป้องกันร่างกายจากไวรัสได้แน่นอน เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะติดเชื้อ แต่ความจริงแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ เมื่อพิจารณาดีๆ เราจะเห็นว่าวัคซีนทำมาจากเชื้ออ่อนแอหรือเชื้อตายตามแต่ชนิดของวัคซีน นั่นหมายความว่ามันไม่ได้เป็นการรักษาหรือป้องกันไม่ให้ติดเลย เพียงแต่มันช่วยให้ร่างกายของเราคุ้นเคยกับเชื้อเหล่านั้นและเรียนรู้ที่จะจดจำหน้าตาของไวรัส และเมื่อภูมิคุ้มกันได้เผชิญหน้ากับมันจริงๆ จะได้ช่วยต่อสู้เพื่อไม่ให้ร่างกายของเราเสียหายมากหรือถึงขั้นเสียชีวิตนั้นเอง (ฉีดวัคซีนแล้ว=ยังติดเชื้อได้อยู่นะ) ยังไงก็เถอะเราก็ควรใส่หน้ากากและใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างที่คุณหมอหลายท่านแนะนำ
อีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่สามารถรักษาโรคจากไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การกลายพันธุ์ที่ร้ายกาจ
เคยสงสัยไหมว่า การลดการเดินทางจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้อย่างไร? คำตอบคือ เมื่อไวรัสมายึดเกาะที่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตแล้วเริ่มการปล่อยสารพันธุกรรม อาศัยกลไกในเซลล์จำลองตัวเองเสร็จสรรพ ไวรัสก็จะมีการแพร่เชื้อจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์ สิ่งนี้แหละที่จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการกลายพันธุ์มากขึ้นแล้วคิดดูสิว่าสิ่งมีชีวิตแบบเรามีเซลล์ตั้งกี่เซลล์แล้วยิ่งติดเชื้อได้จากคนต่อคนโอกาสกลายพันธุ์ยิ่งมากขึ้นไปอีก การกลายพันธุ์ที่รวดเร็วนี้ทำให้เรายังไม่มีวัคซีนที่จะสามารถป้องกันได้ 100% และยังคงต้องถูกพัฒนาต่อไป
เป็นยังไงกันบ้างคะ หลังจากอ่านจบน่าจะพอทราบเหตุผลกันไปบ้างแล้ว ไว้คราวหน้าเบนซ์จะมาเล่าเรื่องให้อ่านเกี่ยวกับไวรัสอีกเช่นเคยค่ะ แต่จะเป็นเรื่องเล่าแนวประวัติศาสตร์นิดนึงเกี่ยวกับการค้นพบไวรัสว่า นักวิทยาศาสตร์เขารู้ได้ยังไงว่าไวรัสมีอยู่จริงๆ ซากฟอสซิลก็ไม่มี แล้วไวรัสมันเริ่มรุกรานพวกเรามาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน…เดี๋ยวเรามาหาคำตอบกันนะคะ แล้วไว้เจอกันใหม่ สวัสดีค่ะ :)
หากมีคำเเนะนำ ติชม หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับเริ่องนี้สามารถคอมเมนต์พูดคุยกันได้นะคะ
โฆษณา