8 ม.ค. 2022 เวลา 09:18 • ประวัติศาสตร์
成人の日 เซจินโนะฮิ : วันที่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่
เครดิตภาพ : sk-imedia.com
คนเราเมื่อเติบโตขึ้นจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาวแล้วก้าวเข้าสู่สังคมด้วยการเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ผู้ใหญ่หรือผู้บรรลุนิติภาวะในแต่ละประเทศต่างถูกกำหนดแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมนั้น ๆ เช่น ประเทศซาอุดิอาราเบีย กำหนดให้ผู้มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ, ประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ กำหนดอายุของผู้บรรลุนิติภาวะไว้ที่ 16 ปีบริบูรณ์, ส่วนประเทศทาจิกิสถานกำหนดไว้ที่อายุครบ 17 ปี, ประเทศส่วนใหญ่ในโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา(ขึ้นอยู่กับแต่ละมลรัฐ) แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เม็กซิโก ฯลฯ กำหนดไว้ที่ 18 ปี, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเอสทัวเนียกำหนดอายุผู้บรรลุนิติภาวะไว้ที่ 21 ปีบริบูรณ์ ส่วนประเทศไทยกำหนดเหมือนไต้หวันที่อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์นั่นเอง
3
ในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันกำหนดให้ผู้บรรลุนิติภาวะคือ บุคคลผู้มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ทว่าตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2022 เป็นต้นไปกำหนดให้มีการปรับลดอายุของผู้บรรลุนิติภาวะเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอายุผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
2
ภาพยนตร์แอนิเมชันสร้างความรู้ความเข้าใจการเปลี่ยนข้อกำหนดอายุของผู้บรรลุนิติภาวะ เครดิตภาพ : gov-online.go.jp
นอกจากการกำหนดปรับเปลี่ยนอายุผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ญี่ปุ่นยังมีวันสำคัญสำหรับผู้ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่หรือผู้บรรลุนิติภาวะอีกด้วย นั่นก็คือวันบรรลุนิติภาวะ (成人の日) ตรงกับวันจันทร์ในสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม ถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในวันนี้เราจะเห็นผู้เข้าร่วมงานผู้หญิงแต่งกายด้วยชุดกิโมโนแขนยาวที่เรียกว่า ฟุริโซเดะ (振袖) ส่วนผู้ชายจะแต่งชุดสูทหรือชุดฮากามะ (袴) เข้าร่วมพิธีแสดงความยินดีตามสถานที่ที่แต่ละท้องที่กำหนดไว้
2
ภาพบรรยากาศผู้เข้าร่วมงานในวันบรรลุนิติภาวะเมืองโยโกฮามา เครดิตภาพ : hareginomarusho.co.jp
พิธีบรรลุนิติภาวะ
ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคนารา (奈良時代, ค.ศ. 710-794) กำหนดให้เด็กผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 12-16 ปี เข้าสู่พิธีบรรลุนิติภาวะซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า พิธีเกมปุขุ (元服) โดยเปลี่ยนทรงผมจากการไว้มวยข้างหูสองข้าง (あげまき) มาเป็นการมัดรวบแล้วสวมหมวก เครื่องแต่งกายก็เปลี่ยนมาเป็นชุดที่ปิดรอบคอและเย็บปิดด้านข้าง (縫腋) รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อตัวด้วย ปลายยุคนาราทรงผมของชายผู้บรรลุนิติภาวะได้ถูกเปลี่ยนเป็นการโกนผมด้านหน้าให้เว้าเข้าไปเป็นพระจันทร์เสี้ยวแล้วมัดจุกที่เรียกว่า ชมมาเงะ (丁髷) อย่างที่เราเห็นกันตามละครหรือภาพยนต์ซามุไรนั่นเอง
2
เครดิตภาพ : touken-world.jp / hairmaxjapan.com / ameblo.jp
สำหรับเด็กผู้หญิงจะเข้าพิธีบรรลุนิติภาวะก่อนหรือพร้อมกับพิธีแต่งงานในช่วงอายุราว ๆ 12-16 ปี โดยเปลี่ยนทรงผมจากการเกล้ามวยเป็นปล่อยผมตรงยาว (垂髪) สวมกิโมโนซ้อนชั้น (裳着) คล้ายชุดจูนิฮิโตเอะ (十二単) โกนคิ้วและเคลือบฟันให้ดำขลับ เมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ (江戸時代, ค.ศ. 1603-1868) ได้เปลี่ยนมาเป็นการใส่กิโมโนแขนสั้น (袖留め) เพื่อให้เข้ากับบริบทและหน้าที่ทางสังคม
3
ผู้หญิงเปลี่ยนจากเด็กหญิงเกล้ามวยเป็นปล่อยผมยาวเมื่อบรรลุนิติภาวะ เครดิตภาพ : kenkobit.site
พิธีบรรลุนิติภาวะตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมา ได้แฝงแนวความคิดและการหล่อหลอมบุคคลไว้อย่างแยบคาย ด้วยการเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ทรงผม รวมไปถึงชื่อตัวเพื่อให้ผู้เข้าพิธีตระหนักถึงหน้าที่ของตนต่อจากนี้ที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบที่พึงกระทำ รวมทั้งการทำให้ผู้คนรอบข้างยอมรับตนในฐานะผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์
5
ตัวอย่างบุคคลสำคัญในอดีตที่เข้าพิธีเกมปุขุ (元服)
織田信長 (Oda Nobunaga) : เข้าพิธีเมื่ออายุครบ 13 ปี เปลี่ยนชื่อจาก 織田吉法師 (Oda Kipposhi) เป็น 織田信長 (Oda Nobunaga)
2
เครดิตภาพ : wikipedia
徳川家康 (Tokugawa Ieyasu) : เข้าพิธีเมื่ออายุครบ 14 ปี เปลี่ยนชื่อจาก 松平竹千代 (Matsudaira Takechiyo) เป็น 松平次郎三郎元信 (Matsudaira Jirosaburomotonobu) แล้วเปลี่ยนเป็น 徳川家康 ในที่สุด
2
เครดิตภาพ : wikipedia
伊達政宗 (Date Masamune) : เข้าพิธีเมื่ออายุครบ 11 ปี เปลี่ยนชื่อจาก 伊達梵天丸 (Date Bontenmaru) เป็น 伊達藤次郎政宗 (Date Tojiromasamune)
2
เครดิตภาพ : wikipedia
浅井長政 (Azai Nagamasa) : เข้าพิธีเมื่ออายุครบ 15 ปี เปลี่ยนชื่อจาก 浅井猿夜叉丸 (Azai Saruyashamaru) เป็น 浅井賢政 (Azai Katamasa) หลังจากแต่งงานได้เปลี่ยนเป็น 浅井長政 ในที่สุด
2
เครดิตภาพ : wikipedia
武田信玄 (Takeda Shingen) : เข้าพิธีเมื่ออายุครบ 16 ปี เปลี่ยนชื่อจาก 武田太郎 (Takeda Taro) หรือ 武田勝千代 (Takeda Katsuchiyo) เป็น 武田晴信 (Takeda Harunobu) หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็น 武田機山 (Takeda Kizan) เมื่อออกบวชได้เปลี่ยนเป็น 武田信玄 ในที่สุด
※เครดิตข้อมูล : https://www.touken-world.jp
2
เครดิตภาพ : wikipedia
พิธีบรรลุนิติภาวะในยุคปัจจุบันริเริ่มมาจากงานเทศกาลเยาวชน (青年祭) ที่จัดขึ้นในเมืองวาระบิ จังหวัดไซตามะ (埼玉県の蕨市) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีโชวะที่ 21 (ค.ศ. 1946) โดยคุณทาคาฮาชิ โชจิโร่ (高橋庄次郎) ประธานกลุ่มเยาวชน ณ ขณะนั้น มีความคิดที่อยากจะขจัดความรู้สึกสิ้นหวังและมืดมนหลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาเพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นได้ให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้พร้อมทั้งชูสโลแกนรณรงค์ให้ประชากรหนุ่มสาวร่วมกันสร้างอนาคตของตัวเองและสร้างชาติต่อไป โดยจัดงานเฉลิมฉลองแสดงความยินดีแก่ผู้ที่บรรลุนิติภาวะทั่วประเทศผู้ซึ่งตระหนักถึงตนเองในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังคม และปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ
2
ภาพบรรยากาศการมาขอพรของผู้เข้าร่วมพิธีบรรลุนิติภาวะที่ศาลเจ้าวาระบิ(和楽備神社) จังหวัดไซตามะ เครดิตภาพ : photo-saitama.jp
สถานที่จัดพิธีบรรลุนิติภาวะที่น่าอิจฉา
โดยปกติแล้วพิธีบรรลุนิติภาวะจะถูกจัดขึ้นในวันจันทร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมนั้น ซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2022 สถานที่จัดงานมักจะเป็นหอประชุมประจำเมืองหรือประจำจังหวัด, สนามกีฬา, ศูนย์จัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ เป็นต้น ทว่าสถานที่จัดงานในบางท้องที่ก็เป็นที่อิจฉาของผู้เข้าร่วมงานที่อื่น ๆ เช่นกัน อย่างเช่น สถานที่จัดงานของเมืองอุระยาสึในจังหวัดชิบะนั้น (千葉県の浦安市) คือโตเกียวดิสนีย์แลนด์ หรือสถานที่จัดงานของเมืองคาโมกาว่าในจังหวัดชิบะ (千葉県の鴨川市) คือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Kamogawa Sea World เป็นต้น
2
เครดิตภาพ : ocl.co.jp / EPOCH TIMES JAPAN
เอกลักษณ์ของงานก็แตกต่างกันไปตามพื้นที่!
อย่างเช่นพิธีบรรลุนิติภาวะในเกาะอิชิกาขิจิม่า (石垣島) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกินาว่า จะมีการให้สมาชิกทุกคนที่อาศัยอยู่ในเกาะมาร่วมอวยพรและแสดงความยินดีแก่ผู้บรรลุนิติภาวะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่มีบรรยากาศอบอุ่นอย่างมาก หรือพิธีบรรลุนิติภาวะของบางท้องที่ในจังหวัดอาโอโมริ, อาคิตะ, ชิมาเนะ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเป็นอย่างมากในเดือนมกราคม ก็เปลี่ยนไปจัดงานในหน้าร้อน ช่วงเทศกาลโอบ้งแทน อีกหนึ่งท้องที่ที่มักจะเป็นที่จับตามองนั่นก็คือ พิธีบรรลุนิติภาวะที่จัดขึ้นในภูมิภาคคิตะคิวชู (北九州) เนื่องจากแนวความคิดที่ว่า พิธีบรรลุนิติภาวะจะถูกจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวตลอดช่วงชีวิต และเป็นกิจกรรมที่มีแต่ความยินดี ผู้เข้าร่วมงานจึงสวมชุดที่มีสีสันฉูดฉาด และดีไซน์ที่สะดุดตาเป็นอย่างมาก
2
ภาพบรรยากาศวันที่จัดพิธีบรรลุนิติภาวะที่คิตะคิวชู เครดิตภาพ : walkerplus.com / kokura.keizai.biz
วันเฉลิมฉลองพิธีบรรลุนิติภาวะ เราจะเห็นผู้เข้าร่วมงานแต่งตัวสวยงามเดินไปมาตาม ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถกล่าวแสดงความยินดีได้ แม้จะไม่รู้จักกัน แน่นอนว่างานนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีแก่บุคคลเหล่านั้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นวันที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังคมเช่นกัน
2
โฆษณา