14 ม.ค. 2022 เวลา 16:59 • หนังสือ
📚จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
เปลี่ยนความชอบให้เป็นเงิน
「好き」を「お金」に変える心理学
📚เปลี่ยนความชอบให้เป็นเงิน - จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
“ การที่เรารู้จัก “ วิธีหาเงิน ” เลี้ยงชีพนั้นเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ “ วิธีใช้เงิน ” ที่จะช่วยเพิ่มความสุขให้ชีวิต “
🍀🍀🍀
“ ในการใช้เงินเพื่ออ่านหนังสือเป็นหลัก จะมีวัฏจักรอยู่เพียง 3 อย่างคือ นำเงินมาซื้อหนังสือ หาสิ่งแวดล้อมดี ๆ สำหรับการอ่าน และจัดสรรเวลาเพื่อให้ได้อ่านหนังสือ
ผมใช้เงินไปกับ 3 อย่างนี้ ชีวิตผมจึงมีความสุข ดังนั้นถ้าเราหาเงินได้เพียงพอกับความต้องการในเรื่องนี้ เราก็จะสามารถมีความสุขได้เสมอ “
“ การได้ครอบครองทรัพย์สมบัติที่หามาได้โดยรู้คุณค่าอย่างแท้จริงนั้น เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อตัวคุณเอง และความมั่นใจที่ได้จากจุดนี้จะกลายเป็นความสามารถที่ไม่มีใครสามารถฉกฉวยไปจากคุณได้ แม้ทรัพย์สมบัติจะสูญหายไปก็ตามที นี่แหละคือจุดกำเนิดของความมั่นใจ “
“ ผมคิดว่าความรู้ ประสบการณ์ และทักษะ คือสิ่งที่เปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ แม้ว่าเงินจะเป็นสิ่งที่ใช้แล้วสูญสลายไป แต่ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะคือสิ่งที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งแหลมคมมากขึ้นเรื่อย ๆ “
💲นักเขียนเปิดมาด้วยคำถามว่า เราจะมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอสำหรับใช้จ่าย ต้อง 1 ล้าน หรือจนถึง 1 พันล้านเลยหรือไม่
เขาเล่าว่า คนญี่ปุ่นหาเงินเก่ง แต่ก็มีแนวโน้มสูญเสียเงินมากเช่นกัน จึงสรุปได้ว่า การหาเงินกับความสุขจะเริ่มไม่ใช่คำตอบของกันและกันเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง
การใช้จ่ายไปฟุ่มเฟือยก็เช่นกัน ถึงจะจ่ายมากแต่ยังเคว้งอยู่ดี เพราะไม่ได้มากจากใจจริง ๆ ที่ชอบ
💸 บทที่1 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงิน 3 ประการที่น่าอึดอัดใจซึ่งทำให้ความสุขบินหนี
ข้อแรก ตอนเด็กเราจะคิดว่าการใช้จ่ายไปกับอะไรมาก = ไม่ดี นักเขียนก็เล่าว่าให้เราใช้จ่ายไปกับอะไรที่ชอบหรือถนัด หรือต้องการมันโดยไม่เสียดายภายหลัง กล่าวแบบสรุป เราควรพิจารณาอย่างเฉียบแหลมสำหรับตัวเลือกที่ออกดอกให้คุ้มกับความมัธยัสถ์
ข้อสอง การออมเงินคือทางลัดสู่ความสำเร็จ ในช่วง 20-30 ปี ควรใช้เงินไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ลงทุนกับตัวเอง ถึงเวลาที่เหมาะสมที่ใช้จ่ายให้ใช้จ่าย ถ้าตั้งหน้าตั้งตาเก็บอย่างเดียวไม่ได้สร้างความมั่นใจอะไรให้กับเรา
ข้อสาม ถ้าใช้เงิน แล้วเงินจะหมด
เราสามารถดำเนินตาม “วงจรมิรู้จบ” คือ ดำเนินชีวิตตาม เงิน -> สิ่งที่ชอบ -> งาน -> เงิน เราจึงสามารถสร้างรายได้และทำในสิ่งที่ชอบได้ไม่รู้จบ
💸 บทที่ 2 สิ่งสำคัญในการทำ “สิ่งที่ชอบ” ให้ถึงที่สุด
บทนี้นักเขียนเล่าว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่ชอบถึงจะกลายเป็นงานและเงินให้เรา โดยเขาเล่าว่าตอนนั้นเป็นนักอ่านใจ แต่ลาออกจากวงการเพราะชอบ “อ่านหนังสือ”
เขาเล่าว่าเมื่อลงทุนกับ “ความรู้” และมันจะช่วยต่อยอดไปสู่งานและทำเงินให้กับเขา จึงเป็นที่มาของช่องยูทูบที่เขาลงเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ โดยการเรียบเรียงและเผยแพร่ความรู้จากหนังสือที่เขาอ่าน เขาได้ตระหนักว่าตั้งแต่เด็กจนโตก็มีแต่หนังสือกับความรู้ จึงลงทุนไปกับสิ่ง ๆ นี้
และที่มีคนจ้างเขาไปทำงานเพราะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่มีแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
💸 บทที่ 3 โอกาสในการสร้างเงิน
  • Chance 1 ประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเราชอบอะไร กล่าวคือ ถ้าคนรอบข้างไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็จะไม่ค่อยมีใครยิบยื่นโอกาสดี ๆ ให้ ดังนั้น ควรพูดเรื่องนี้ออกไปแม้เจอกับใครเป็นครั้งแรก
  • Chance 2 การให้และให้ กล่าวคือ ในโอกาสนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้โดยเฉพาะสิ่งของ มีเทคนิคด้านจิตวิทยาในเรื่องนี้ อย่างเช่น ให้ของเพื่อนที่ทำงานจนดึกดื่นเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง พร้อมแปะโน้ตให้กำลังใจ
  • Chance 3 ให้ “การสนับสนุนผู้อื่นผ่านสิ่งที่เราชอบ กล่าวคือ ในโอกาสนี้ อย่างเช่น นักเขียนเขาชื่นชอบหนังสือ ก็ให้การสนับสนุนผู้อื่นด้วยความรู้ แต่ไม่ใช่เพียงเล่าถึงความใฝ่ฝันของเราเพียงผู้เดียว แต่ต้องรับฟังความใฝ่ฝันผู้อื่นด้วย ก็จะมีคนที่คอยช่วยเหลือกัน
  • Chance 4 เครือข่ายที่ห่างเหิน นี่แหละต้องให้ความสำคัญ กล่าวคือ เป็นกลุ่มคนที่ทำงานในแบบคล้ายเรา ยิ่งต้องรีคอนเนคชัน ฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังจากเจอกันครั้งแรก
💸 บทที่ 4 กฎ 7 ข้อ สำหรับการลงทุนเพื่อขัดเกลาทักษะ
  • Rule 1 ใช้เงินซื้อประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ นักเขียนเน้นว่า ห้ามทำเด็ดขาดคือซื้อสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่ควรซื้อประสบการณ์มากกว่า อย่าใช้เงินเรียกร้องความสนใจ เดี๋ยวจะเดินตามฝันไม่สำเร็จ
  • Rule 2 ใช้เงินไปกับของที่มีมูลค่ามากกว่าราคา กล่าวคือ สิ่งที่เราซื้อมานั่น มันมีคุณค่าอะไรสำหรับเรา อย่างเช่น การซื้อนาฬิกาแพง ๆ ถ้าซื้อแล้วมันทำเงินคืนมาได้ก็ซื้อ แต่ถ้าซื้อของหรูหรามาเล่น ๆ ก็อย่าซื้อ
  • Rule 3 ใช้เงินไปกับการซื้อหนังสือ การลงทุนใหม่ที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลแน่นอน กล่าวคือ นักเขียนเป็นคนอ่านหนังสือ เขาบอกว่าได้อะไรจากหนังสือมามากกว่าราคาที่เขาซื้อมา เมื่อเปรียบกับเนื้อหาที่อยู่ข้างในนั้น อาจจะเป็นหมื่นเท่าเลยทีเดียว
  • Rule 4 ใช้เงินเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพื่อเรียกความสำเร็จเข้าหาตัวเอง กล่าวคือ การเป็นกีฟเวอร์ (ระดับบน) ที่สามารถจะให้ผู้อื่น เพื่อลงแรงขยายผลประโยชน์โดยการระดมสมองด้วย สร้างความสำเร็จโดยมีเป้าว่าเราจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
  • Rule 5 ใช้เงินเพื่อสร้างทีมงาน กล่าวคือ เราอาจรับผิดชอบไม่ไหว ควรหาใครมาทำงานในสิ่งที่เราไม่ถนัดด้วย
  • Rule 6 ใช้เงินซื้อเวลาเพื่อทุ่นแรง กล่าวคือ แต่ละคนมีจิตสำนึกของเวลาไม่เท่ากัน คนที่หาเงินได้มากก็ยิ่งให้ความสำคัญกับเวลาเพราะรู้คุณค่ามัน ถามตัวเองว่า เราจำเป็นต้องทำสิ่งนี้หรือไม่
  • Rule 7 ใช้เงินเพื่อเพิ่มคุณค่าของสิ่งที่ชอบให้ได้มากที่สุด กล่าวคือ ถ้าจะคิดเอาสิ่งที่ชอบมารวมกับงาน เขาแนะนำให้สร้างงานใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีใครทำ เพราะก็ยังมีอีกหลายคนที่เก่งในหลายวงการ หรือทำตามฝันแบบดุเดือดฟาดฟัน
💸 บทส่งท้าย ถามอีกครั้งว่า “เงิน” “การหาเงิน” และ “การใช้เงิน” เป็นอย่างไรกันแน่
นักเขียนบอกว่าคนที่มีความมั่งคั่งไม่ใช่คนที่ไม่ใช้เงิน แต่ใช้เงิน “อย่างรู้คุณค่า” คนที่คำนึงถึงการได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่จะจ่ายออกไป ถึงจะเป็นคนที่หาเก่งแค่ไหน ส่วนคนที่ยังไม่มีสิ่งที่ชอบหรือถนัด เอาโน้ตแผ่นนึงขึ้นมา เขียนสามสิ่งที่เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ไม่มีมันแล้วจะอยู่ไม่ได้ ลงไป… อาจเป็นการเริ่มต้นของก้าวเล็ก ๆ สู่วงจรมิรู้จบ ก็ได้
สรุปทั้งหมดทั้งมวลจากการอ่าน ทำให้เรารู้ว่านักเขียนพยายามให้เราใส่ใจเรื่องการเงินของเรา ให้เราลงทุนไปกับสิ่งที่ชอบที่มันจะก่อให้เกิดงาน และเงินตามมา นักเขียนเน้นย้ำ “วงจรมิรู้จบ” มาก เพราะมันคือโอกาสที่เราจะได้ทำในสิ่งที่ชอบ และมีเงินตอบสนองความต้องการกับสิ่งที่เราลุ่มหลงอีกครั้ง
หนังสือเหมาะกับคนที่อยากเปลี่ยนความชอบหรือถนัดให้กลายเป็นงานแบบจริง ๆ จัง ๆ แต่ก็ลืมบอกไปว่าเขาแนะนำว่าถ้าเจอสิ่งที่ชอบ ก็อย่าเพิ่งออกจากงานประจำไปเลยแบบหักดิบ เพราะมันก็มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วย (อันนี้ล่ะใช่เลย จะทำอะไรก็ต้องสตาร์ทจากเงินก่อนทั้งหมดอยู่ดี แอบเศร้า) และก็ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า แล้วมันจะกลับมาตอบแทนให้เรา เหมือนนักเขียนที่ลงทุนไปกับหนังสือ ซึ่งราคาที่จ่ายออกไป เทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าที่เขาได้รับมา
นักเขียน : Mentalist Daigo
นักแปล : กมลวรรณ เพ็ญอร่าม
สำนักพิมพ์ : ช็อร์ตคัต (Shortcut)
โฆษณา