13 ม.ค. 2022 เวลา 21:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
BREAKING !! : ดอกเบี้ยบ้านเริ่มดีดตัว ! จับตาอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจจริงตลอดปีนี้เอาไว้ให้ดี !! เพราะต่อให้ FED จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน แต่ตอนนี้ Bond Yield และ Mortgage Rates เริ่มปรับตัวสูงขึ้นโดยไม่รอความเคลื่อนไหวของ FED
4
ถึงแม้ว่า FED จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานในตอนนี้ แต่ในภาค Real Economy หรือเศรษฐกิจจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น ! เพราะล่าสุดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาฯ ในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดีดตัวขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว และตอนนี้ได้พุ่งขึ้นไปสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในสหรัฐฯ
ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน 30 ปีตอนนี้ดีดตัวอยู่มาอยู่ที่ 3.45% จาก 3.22% ในสัปดาห์ที่แล้ว และโดยรวมได้ดีดตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ประมาณ 2.65% ในต้นปี 2021 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตามอง เนื่องจากราคาอสังหาฯ ในสหรัฐฯ ตลอดปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้นไปสูงสุดในรอบประมาณ 30 ปีเลยทีเดียวจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ ดังนั้นการพุ่งขึ้นของดอกเบี้ยอสังหาฯ หรือ Mortgage Rates อาจส่งผลให้ผู้คนเริ่มไม่อยากกู้เงินซื้อบ้าน และหากดอกเบี้ยยังขึ้นไม่หยุด ก็อาจส่งผลต่อราคาอสังหาฯ ในสหรัฐฯ ได้
1
สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยบ้านเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการที่ FED เริ่มทำ QE Tapering ซึ่งหมายถึงการลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนลง ซึ่งในงบ 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนนั้นถูกแบ่งเป็นการซื้อหลักทรัพย์จำนองบ้าน (Mortgage Backed Securities) ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน
2
แน่นอนว่าเมื่อกำลังซื้อ MBS ลดลงก็จะส่งผลให้ Yield ของมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ Mortgage Rates เช่นกัน
การพุ่งขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ และ Mortgage Rates นี้ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ของภาค Real Economy ว่าต้นทุนในการกู้ยืมอาจจะสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อตลาดฟื้นตัวมากกว่านี้ และเมื่อ FED เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน
ดอกเบี้ยบ้านที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับผู้ซื้อบ้านโดยตรง และทำให้กำลังซื้อหดตัว ดังนั้นปริมาณการซื้อบ้านในตลาดอาจหดตัวลงไปด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับปี 2021 ที่ดอกเบี้ยบ้านอยู่ที่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้ผู้คนต่างก็นำเงินมากู้ซื้อบ้าน และส่งผลให้ราคาอสังหาฯ ในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลาย 10 ปี
จนปัจจุบันนี้ ราคาบ้านยังอยู่ในระดับดังกล่าว และเกินกำลังซื้อของชาวอเมริกันหลายคนไปแล้ว ดังนั้นจึงน่าจับตามองอย่างยิ่งว่า FED หรือรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการควบคุมไม่ให้ดอกเบี้ยเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นจนเกินไปได้อย่างไร
Sam Khater หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Freddie Mac ให้ความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“อัตราดอกเบี้ยบ้านที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อ แต่ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของราคาบ้าน ก็มีแนวโน้มว่า Demand จะลดลงในอนาคตอันใกล้นี้”
(The rise in mortgage rates so far this year has not yet affected purchase demand, But given the fast pace of home price growth, it will likely dampen demand in the near future.)
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเริ่มลดลงต่อจากนี้ เนื่องจากราคาผู้ผลิตในสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาล่าสุดเริ่มแสดงถึงการชะลอตัว แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่อจากนี้ และยังคงต้องติดตามสัญญาณเพิ่มเติมต่อไป และเมื่อเทียบกับปี 2020 พบว่า PPI ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 9.7%
โดยทั้งนี้ Keith Gumbinger รองประธานของบริษัท HSH.com ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาฯ กล่าวว่า “หากอัตราเงินเฟ้อลดลง อัตราดอกเบี้ยก็จะทรงตัว” (If inflation cools off, interest rates will level.)
ทางนักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford Economics ให้ความเห็นเกี่ยวกับดัชนี PPI เอาไว้ว่า
“ราคาผู้ผลิตสิ้นสุดปีด้วยสถิติที่น่ายินดี ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่การหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องในภาค Supply จะทำให้ราคาผู้ผลิตใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระยะสั้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดแรงผลักดันทางด้านเงินเฟ้อ”
(Producer prices ended the year on an encouraging note, rising less than expectations, But persistent supply disruptions will pin producer prices near record levels in the near term, especially given a rapidly spreading omicron variant that will fan inflation pressures.)
ข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ของสหรัฐฯ
ล่าสุด ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ! โดยอยู่ที่ 230,000 ราย เพิ่มขึ้น 23,000 รายจากในสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาปลดพนักงานเนื่องจากการระบาดของ Omicron และอาจนำไปสู่กระแสการเลิกจ้างงานมากขึ้นได้ ซึ่งยังไม่มีอะไรยืนยันว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป
ขณะเดียวกัน นายจ้างในสหรัฐฯ ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนตำแหน่งงานว่าง (Job Opening) ก็ยังมีอยู่อย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่งเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การระบาดของ Omicron นั้นอาจสร้างผลกระทบได้เพียงในระยะสั้น เนื่องจากตอนนี้เริ่มมีข้อมูลออกมาเรื่อย ๆ แล้วว่าอาการป่วย Omicron นั้นส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรง และอาจจะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จนทำให้ COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่แทน
Eliza Winger นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“จำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลให้คนงานที่ได้รับผลกระทบบางส่วนต้องยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังเปิดกว้าง แม้ว่าจะต้องดำเนินงานด้วยความสามารถที่จำกัด”
(The spike in the number of Covid cases is forcing temporary business closures, which likely pushed some affected workers to apply for jobless benefits, Most businesses are open, albeit operating at limited capacity.)
ทันโลก ทันเหตุการณ์ ทันข่าวสารที่แท้จริงไปกับ World Maker
🙏 ขอบคุณทุกท่าน 🙏 ที่ติดตาม World Maker ฝากกด Like และ Share เพื่อเป็นกำลังใจและให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 😊
References :
โฆษณา