16 ม.ค. 2022 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ ชวนคนในอีกบริษัทหนึ่งมาร่วมงานกับเขานั้น ใครคนนั้นมีการงานที่มั่นคงกว่าบริษัท Apple มาก แต่ภายในชั่วโมงนั้นชายคนนั้นก็ตัดสินใจได้ว่าจะไปทำงานกับจ๊อบส์
1
ใครคนนั้นชื่อ ทิม คุก
ไม่ทุกคนจะกล้าเปลี่ยนใจจากงานมั่นคงสู่อนาคตที่ไม่แน่นอน แต่การที่ ทิม คุก ตัดสินใจไป ก็เพราะเขามองเห็นภาพอนาคตว่าเขาจะยืนอยู่ตรงจุดที่ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ และมันสนุกกว่าการทำงานที่มั่นคง แต่เซม-เซม
เอาละ ไม่ใช่ทุกคนในโลกที่จะได้รับคำชวนจาก สตีฟ จ็อบส์ ไปร่วมงานด้วย และไม่ทุกคนจะได้ไปยืนอยู่ ณ จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ แต่หากเราเป็น ทิม คุก ในวันนั้น เราจะกล้าทิ้งงานดีไปหางานที่ไม่แน่นอนหรือ?
หลายปีมานี้หลายคนมาขอคำปรึกษาผมเรื่องเปลี่ยนงาน ทุกคนอยากก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่กลัวความไม่แน่นอน กล้าๆ กลัวๆ จึงต้องหาคำปรึกษา
ความจริงหากตอบด้วยสัญชาตญาณล้วนๆ การเปลี่ยนงานก็เหมือนการตกหลุมรัก วูบแรกก็รู้แล้ว
การถามผมก็อาจไม่ผิดคนนัก เพราะผมเปลี่ยนงานหลายครั้งแบบหักฉาก ตีโค้งไปคนละทิศ หลายการตัดสินใจเปลี่ยนชีวิต และหลายการตัดสินใจทำได้ยาก โดยเฉพาะการตัดสินเปลี่ยนงานครั้งสุดท้ายซึ่งกระโจนเข้ามาเป็นนักเขียนอาชีพเมื่อราวยี่สิบปีก่อน
การเปลี่ยนสายงานในวัยปลายเลข 4 ไม่ค่อยมีคน(กล้า)ทำกันนัก
ผมกลัวการเปลี่ยนงานมาตลอดชีวิต แต่กลับเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก เช่น เปลี่ยนจากสายสถาปัตย์เป็นสายโฆษณา เปลี่ยนจากสายโฆษณาเป็นสายหนังสือ แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายนั้นตัดสินใจได้ในเวลาไม่กี่วินาที
1
เพราะอะไร?
เพราะผมมองไปที่จุดหมาย ไม่ใช่เงินเดือนและความมั่นคง
หลายคนเปลี่ยนงานเพราะมีหินก้อนหนึ่งข้างหน้าว่างให้เหยียบ เช่น มีตำแหน่งว่าง มีข้อเสนอเพิ่มเงินเดือน เป็นต้น
คนส่วนมากจะเปลี่ยนงานโดยมองที่รายละเอียดปลีกย่อย เช่น จะได้เงินเดือนเพิ่มเท่าไร ได้โบนัสกี่เดือน ระยะทางจากบ้านไปออฟฟิศไกลแค่ไหน เวลาทำงานยาวไหม ต้องทำงานวันเสาร์ไหม ฯลฯ
เมื่อก้อนหินข้างหน้าเป็นข้อเสนอใหม่ที่ดีกว่า ก็ก้าวไปเหยียบไว้
เมื่อเห็นก้อนใหม่ที่ดีกว่านั้น ก็เปลี่ยนอีก
นี่คือการเปลี่ยนงานแบบช็อตสั้น คิดแบบสั้นๆ ไปทีละท่อน
เรียกว่า stepping stones
นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แค่บอกว่าเป็นการเปลี่ยนงานแบบช็อตสั้น
แต่ยังมีการเปลี่ยนงานอีกแบบหนึ่ง คือคิดช็อตยาว เหมือนยิงลูกสนุกข้ามโต๊ะ
ช็อตยาวคือมองที่จุดหมายเป็นหลัก ถามตัวเองว่าต้องการอะไร อยากทำอะไร ในอีกห้าปี-สิบปีอยากยืนอยู่ตรงไหน แล้วใช้จุดหมายนั้นเป็นตัวกำหนดทาง (path)
ถ้าใช้วิธีนี้ ก็จะตัดสินใจเรื่องเปลี่ยนงานได้ง่ายมาก นั่นคือจะย้ายบริษัทต่อเมื่องานที่ใหม่ทำให้เราไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น มั่นคงขึ้น
ถ้าใช้วิธีนี้ ก็จะสำรวจตัวเองเป็นระยะว่า บริษัทเดิมที่เราทำงานอยู่ยังอยู่บน path นั้นไหม และเราพัฒนาคุณสมบัติของตนเองให้พร้อมสำหรับก้าวต่อไปแค่ไหนแล้ว
ถ้าบริษัทเก่าไม่อยู่บน path ของเรา ก็ได้เวลาเริ่มมองหาบริษัทใหม่ที่อยู่บน path และทำให้เราไปถึงจุดหมาย
และถามตัวเองเสมอว่า ตนเองได้พัฒนาคุณสมบัติจนพร้อมสำหรับการก้าวสู่ path ใหม่หรือเปล่า ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ทำงานเช้าชามเย็นชาม แล้วเชื่อว่าเทวดาจะช่วยเสกฝีมือมาใส่ให้
2
หลักการมองช็อตยาวก็เป็นอย่างนี้ ที่เหลือเป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เช่น เรื่องเงิน เรื่องโบนัส เรื่องทำงานกี่ชั่วโมง ไปจนถึงชื่อตำแหน่งบนนามบัตรว่าเท่ไหม
2
ผมเปลี่ยนงานครั้งสุดท้ายมาร่วมยี่สิบปีแล้ว เงินไม่มากเหมือนสายเก่า เส้นทาง path นี้ขรุขระ แต่ไม่มีวันใดเสียใจที่เปลี่ยนงาน
เหมือนปลาที่กระโดดออกจากกระชัง ดิ่งลงสู่ห้วงสมุทร เบื้องหน้ามืดสลัว มีแสงสว่างสาดลงมาบ้างเป็นระยะ และว่ายไปข้างหน้าโดยมั่นใจว่าไม่หลงทาง
7
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]
โฆษณา