14 ม.ค. 2022 เวลา 16:36 • อาหาร
เมนูญี่ปู๊น~ญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ①
เครดิตภาพ : zatsugaku-company.com
อาหารเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกถึงวิถีความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น ๆ เมื่อพูดถึงต้มยำกุ้ง แน่นอนว่าแทบทุกคนที่ได้ยินชื่ออาหารนี้จะนึกถึงประเทศไทย พูดถึงหม้อไฟหมาล่า ก็อาจทำให้นึกไปถึงประเทศจีน แม้แต่ "ซูชิ" ทุกคนก็คงจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น
2
ทว่า อาหารบางอย่างที่เรารับประทานจนคุ้นชินแล้วเข้าใจว่าอาหารเมนูนี้เป็นอาหารประจำประเทศนี้ หรือมีต้นกำเนิดมาจากท้องถิ่นนั้น ๆ แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป วัฒนธรรมอาหารมีการเปลี่ยนแปลงถ่ายเทตลอดเวลา อย่างฝอยทอง ทองหยิบทองหยอด ขนมที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน กลับมีที่มาจากหญิงชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยเมื่อสมัยอยุธยาอย่าง "มารี กีมาร์" หรือ "ท้าวทองกีบม้า" เป็นผู้รังสรรค์ดัดแปลงมาจากขนมของโปรตุเกสนั่นเอง
3
อาหารญี่ปุ่นเองก็มีหลากหลายเมนูที่คาดไม่ถึงว่ามีที่มาที่ไปมาจากดินแดนอื่น !
2
【เทมปุระ】
เครดิตภาพ : katsuitei.jp
เมนูชุบแป้งทอดที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมนูกุ้งทอดเทมปุระ แท้ที่จริงแล้วเทมปุระกลับไม่ใช่เมนูที่รังสรรค์ขึ้นโดยฝีมือชาวญี่ปุ่นแต่อย่างใด เทมปุระเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในยุคมุโรมาจิ (室町時代, ค.ศ. 1336-1573) โดยพ่อค้าปืนคาบศิลาชาวโปรตุเกส อาหารนั้นมีชื่อในภาษาโปรตุเกสว่า Temporas โดยมีธรรมเนียมการรับประทานอาหารที่ทำจากปลาและผักนำมาชุบแป้งทอดในน้ำมัน ทดแทนการรับประทานเนื้อสัตว์ในวันสำคัญทางศาสนา (斎日) โดยแป้งทอดกรอบในยุคนั้นทำมาจากแป้งสาลี, ไข่, เหล้าสาเก, น้ำตาล และเกลือ ทว่าน้ำมันสำหรับทอดอาหารกลับเป็นของมีค่า หายาก เมนูเทมปุระจึงถือได้ว่าเป็นอาหารหรูหราที่ชนชั้นสูงเท่านั้นรับประทานกัน
2
ภาพวาดของหญิงสาวชาวเอโดะกำลังรับประทานเทมปุระ เครดิตภาพ : cuisine-kingdom.com
ต่อมาในต้นยุคเอโดะ น้ำมันสำหรับประกอบอาหารเริ่มมีใช้อย่างแพร่หลาย เทมปุระจึงกลายเป็นอาหารที่ไม่ว่าใครก็สามารถรับประทานได้ และด้วยวิธีการทำที่ง่าย ทานได้สะดวก จึงกล่าวได้ว่า เทมปุระเป็นฟาสต์ฟู้ดแห่งยุคเอโดะเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหารข้างทาง ร้านโซบะ หรือแม้แต่ร้านซูชิ ต่างก็มีเมนูรองท้องอย่างเทมปุระอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งยุคนี้เรียกชื่ออาหารว่า เอโดะเทมปุระ (江戸天ぷら)
3
แบบจำลองร้านขายเทมปุระข้างทางในยุคเอโดะ เครดิตภาพ : mag.japaaan.com
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีไทโชที่ 12 (大正12年, ค.ศ. 1923) ผู้คนโยกย้ายถิ่นฐาน และได้นำวิธีการทำเทมปุระประจำถิ่นไปเผยแพร่ ทำให้ผู้คนในแถบคันโต (ญี่ปุ่นตอนกลางแถบโตเกียว) ได้รู้จักกับเทมปุระแบบคันไซ (ญี่ปุ่นฝั่งตะวันตกแถบโอซาก้า) ซึ่งเป็นแป้งทอดกรอบที่ไม่มีส่วนผสมของไข่ สีของเทมปุระจึงขาวกว่าเทมปุระแบบคันโตที่ผสมไข่ในแป้ง เมื่อทอดจนกรอบจึงมีสีเหลืองทอง ผู้คนในแถบคันไซเองก็ได้รู้จักเทมปุระแบบคันโตด้วยเช่นกัน
2
เทมปุระโซบะ เมนูคู่ชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคเอโดะ เครดิตภาพ : cjnavi.co.jp
จากเมนูสามัญธรรมดาที่ทุกคนจับต้องได้ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นยุคโชวะ (ราว ๆ ค.ศ. 1926) เป็นต้นมา ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ผู้คนจึงเลือกที่จะรับประทานเฉพาะโอกาสพิเศษ อาทิ วันปีใหม่ หรืองานฉลองต่าง ๆ เริ่มมีร้านอาหารเฉพาะทางแบบหรูหราที่เสิร์ฟเพียงแค่เทมปุระเท่านั้นเกิดขึ้น จวบจนเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา (7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 - 2 กันยายน ค.ศ. 1945) อาหารการกินเริ่มขาดแคลน เทมปุระจึงยิ่งกลายเป็นอาหารที่ไม่ได้รับประทานกันได้บ่อย
3
ร้านเฉพาะทางที่เสิร์ฟเทมปุระแบบ Fine Dining เครดิตภาพ : r.gnavi.co.jp
เมื่อสงครามผ่านพ้นไป เศรษฐกิจเริ่มฟื้นฟู อาหารการกินเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้น วิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงเริ่มออกไปทำงานนอกบ้าน คนหนุ่มสาวเองเริ่มออกมาใช้ชีวิตคนเดียว ซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงปรับตัวให้บริการอาหารปรุงสำเร็จเมนูต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ เทมปุระ ซึ่งกลายเป็นเมนูประจำมุมอาหารปรุงสำเร็จในซุปเปอร์มาร์เก็ตไปโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีการดัดแปลงนำเทมปุระวางบนข้าวเสิร์ฟในรูปแบบอาหารจานด่วนที่เรียกว่า ข้าวหน้าเทมปุระ (天丼) เพื่อสอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบอย่างในปัจจุบันอีกด้วย
2
เครดิตภาพ : block.livedoor.jp
จากเมนูข้ามน้ำข้ามทะเลที่เข้ามาในประเทศเมื่อเกือบเจ็ดร้อยปีที่แล้ว ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่าง ๆ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่น เทมปุระเป็นได้ทั้งเมนูรองท้อง อาหารจานด่วน กับข้าวมื้อเย็นประจำบ้าน กระทั่งอาหารเสิร์ฟเป็นคอร์สแบบหรูหราในมื้อพิเศษ ที่คนทั่วโลกต่างรู้จักในฐานะของ "อาหารญี่ปุ่น"
3
โฆษณา