15 ม.ค. 2022 เวลา 13:07 • ธุรกิจ
ยังวิ่งตาม Passion ได้อยู่ไหม? เข้าใจวิกฤตชีวิตคนวัย 30 ผ่านหนัง 'Tick, tick...BOOM!'
1
“..หลังๆ มานี้ผมได้ยินเสียงนี้ดังอยู่ในหัวตลอดไม่ว่าจะไปไหน มันดังติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก..” หลายคนที่ย่างเข้าใกล้วัย 30 คงเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะพวกเขาสัมผัสถึงมันได้อยู่ตลอดเวลา แต่เสียงที่ว่านั้นไม่ใช่ความผิดพลาดทางเทคนิคของหูฟังหรือความผิดปกติทางการได้ยินแต่อย่างใด มันเป็นเสียงของ ‘นาฬิกาชีวิต’ ที่นับถอยเข้าสู่วัย 30 ปี
1
ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. เสียงนาฬิกาดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเรามองไปยังคนรอบข้าง เพื่อนหลายคนได้แต่งงาน สร้างครอบครัวเป็นที่เรียบร้อย หลายคนได้เลื่อนตำแหน่งและมีเงินเดือนสูงลิ่ว หลายคนทำตามความฝันในการเรียนต่อต่างประเทศจนสำเร็จ และหลายคนร่ำรวยจากการเทรด ได้ใช้ชีวิตสบายๆ แบบไม่ต้องทำงานจนถึงวัยเกษียณ
ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. หัวใจเราบีบแน่นขึ้นและเริ่มหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อต้องหันมามองชีวิตตัวเอง ชีวิตที่ยังไม่ได้ลงหลักปักฐานที่ไหน ยังไม่มีเงินเก็บก้อนโต และยังอยากวิ่งตามความฝันอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จไหม
2
เสียงแห่ง ‘ความวิตกกังวล’ นี้เองจึงกลายเป็นซาวนด์แทร็กประกอบภาพยนตร์ชีวิตในวัยย่างเข้า 30 ของใครหลายๆ คน หนึ่งในนั้นคือ โจนาธาน ลาร์สัน วัย 29 ปี ตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง ‘tick, tick… BOOM!’
‘Tick, tick… BOOM!’ จดหมายรักสู่ความฝัน ศิลปะ และเหล่าศิลปิน
หากใครเข้า Netflix ช่วงนี้อาจได้เห็น ‘Tick, tick… BOOM!’ ภาพยนตร์มิวสิคัลที่นำแสดงโดยแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (สไปเดอร์แมนจาก The Amazing Spider-Man ของเรา) ขึ้นในหน้าแนะนำอยู่บ้าง ภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของโจนาธาน ลาร์สัน นักแต่งเพลงและนักเขียนบทละคร เจ้าของละครมิวสิคัลแนวร็อก-โอเปร่า ชื่อดังในยุค 90 อย่าง ‘Rent’
2
ฟังดูเป็นหนังชีวประวัติธรรมดาๆ แต่ทำไมคนดูพากันประทับใจจนเสียน้ำตากันทุกราย!?!
ถึงหนังจะเล่าถึงชีวประวัติของนักเขียน (ที่หลายๆ คนไม่รู้จักเลย) แต่สิ่งที่ทำให้หลายคน ‘อิน’ จนร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นเพราะหนังได้พูดถึงความกดดันที่คนวัย 30 ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี
โจนาธาน ลาร์สัน ตัวเอกของเรื่องนั้นอยู่ในวัย 29 กำลังจะย่างเข้า 30 ภายในอีกไม่กี่วัน เขาใช้เวลาหลายปีในการเขียนบทละครเรื่องหนึ่งขึ้นมา เขาคาดหวังอย่างมากว่าจะสำเร็จและโด่งดังจนได้ก็คราวนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหามันมีอยู่ว่าเพลงหลักของเรื่องนั้น เขายังแต่งไม่สำเร็จ ไหนจะต้องอยู่ด้วยรายได้อันน้อยนิดจากการเป็นเด็กเสิร์ฟ ซึ่งแทบไม่พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ในขณะเดียวกันก็ต้องเจอกับความกดดันจากแฟนสาวที่คาดหวังให้เขาพร้อมพัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกก้าว และชีวิตที่มั่นคงของเพื่อนสนิทที่ทิ้งฝันแบบศิลปิน ไปเป็นพนักงานเงินเดือน
เขาต้องเลือกแล้ว ระหว่าง ‘ความฝัน’ หรือ ‘ความมั่นคง’
สิ่งที่โจนาธานต้องเผชิญนั้นไม่ต่างจากคนวัยใกล้ 30 คนอื่นๆ ต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจครั้งสำคัญ ความกดดันทั้งในด้านการงาน การเงิน และความสัมพันธ์
เท่านั้นยังไม่พอ หนังยังพูดถึงประเด็นความกังวลต่างๆ ที่เหล่าสายผลิตหรืออาชีพ ‘ศิลปิน’ ต้องเจอ เช่น ความฝันที่วิ่งตามมาตลอด แต่ตอนนี้เริ่มดูเลือนลาง
หรือความเชื่อที่ว่า ‘Passion สำคัญกว่าเงินเดือน’ ที่เคยเชื่อสุดใจนั้นเริ่มสั่นคลอน เพราะในวัยนี้ ชีวิตมั่นคงของคนรอบข้างนั้นก็ดูหอมหวานเหลือเกิน..
เพราะคงไม่มีใครเข้าใจศิลปินไปมากกว่าศิลปินด้วยกันเองแล้ว
ในอีกแง่ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ต่างจาก ‘จดหมายรัก’ สู่เหล่านักสร้างสรรค์ทุกคน
รู้จักกับ Quater-life Crisis วิกฤตชีวิตของคนวัย 30
ช่วงก่อนเราอาจได้ยินคำว่า Midlife crisis หรือวิกฤตของคนวัยกลางคนอยู่บ่อยๆ แต่หลายปีให้หลังมานี้ คำว่า “Quarter-life crisis” ก็เป็นที่ได้ยินบ่อยไม่แพ้กัน นั่นอาจเป็นเพราะจริงๆ แล้วชีวิตของคนช่วงวัย 30 นั้นก็ชวนเครียดไม่แพ้กันเลย
แล้ววิกฤตที่ว่ามาจากไหน ความกดดันสำหรับคนวัยนี้มีอะไรบ้าง
ความกดดันแรกคือเรื่องการลงหลักปักฐาน เราในวัย 20 อาจเป็นวัยแห่งการผจญภัย ย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้โดยไม่ได้มีภาระติดตัวมากมายนัก แต่พอเริ่มเข้าใกล้ 30 หลายๆ คนอาจต้องเริ่มตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่เมืองหลวงหรือกลับบ้านต่างจังหวัด จะซื้อบ้านหรือซื้อคอนโดฯ จะอยู่คนเดียว อยู่กับคนในครอบครัว หรืออยู่กับแฟน
1
ในด้านการงาน หลายๆ คนอาจเริ่มเหนื่อยและเบื่อกับงานที่ทำอยู่ จันทร์-ศุกร์เป็นเหมือนช่วงเวลาที่เราฝืนฝ่าฟันไปเพื่อได้ใช้ชีวิตจริงๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ เราเริ่มถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า ‘ที่ทำอยู่มีความสุขไหม’
ในด้านความสัมพันธ์ คนโสดหลายคนเริ่มกดดันกว่าเคย เพราะคนรอบข้างอาจแต่งงานมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว ส่วนคนมีคู่ก็ต้องเริ่มวางแผนชีวิตคู่กันบ้างแล้ว หลายคนต้องตัดสินใจร่วมกันเรื่องการมีบุตร จริงอยู่ที่ว่าวัย 30 อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่พร้อมเท่าไรนัก แต่หากผ่านช่วงที่ร่างกายอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว การมีบุตรที่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่คนในวัยนี้ต้องเผชิญ ตั้งแต่เรื่องการดูแลพ่อแม่ หรือคนแก่ในครอบครัว ไปจนถึงการศึกษาต่อของตัวเอง
จากวัย 20 ที่หลายคนมองว่า ‘ยังมีเวลา’ และไม่มีใครคาดหวังอะไร เราสามารถใช้ชีวิต ค้นหาตัวเอง และวิ่งตามความฝันได้ แต่เพียง 10 ปีต่อมา เรากลับถูกคาดหวังให้มีพร้อมทุกๆ ด้านตั้งแต่ความสำเร็จด้านการงาน การเงิน และการมีครอบครัว
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวัย 30 ถึง ‘วิกฤต’ ไม่แพ้วัยกลางคน
ชีวิตไม่ได้หยุดที่ 30
แม้หนังจะเล่าความกังวลผ่านเสียงนาฬิกานับถอยหลังได้เป็นอย่างดี แต่ในความจริงนั้น นาฬิกาชีวิตของคนเราไม่ได้หยุดที่วัย 30 เสียทีเดียว แม้นาฬิกาจะเคลื่อนผ่านเวลาเที่ยงคืนในคืนวันเกิดของเรา มันก็ยังจะเคลื่อนต่อไปเช่นนั้นจนเราอายุ 40 50 60 และจนกว่านาฬิกาชีวิตจะหยุดเดินจริงๆ
ถึงกระนั้น การรู้ว่าชีวิตยังมีเวลาอีกเยอะก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกกังวลนี้ทุเลาลงเลย เพราะมีหลายสิ่งที่เราต้องเผชิญ เช่น ความคาดหวังของสังคมและจากตัวเราเอง คำถามที่ตามมาก็คือเราจะรับมือกับความกังวลนี้อย่างไร
บทความเรื่อง Managing A Quarter Life Crisis In The Midst Of A Crisis ได้พูดถึงวิธีจัดการกับความกังวลของคนวัย 30 ไว้ ด้วย 3 สเต็ปดังนี้
1) เป็นนักสืบความคิดและความรู้สึก
เราจะเลือกเส้นทางต่อไปของชีวิตไม่ได้เลย หากเราไม่รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนแล้ว ดังนั้นการรับรู้ ‘ความรู้สึก’ และ ‘ความคิด’ ณ ตอนนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ จริงอยู่ที่ความคิดประเภทที่ว่า ‘ที่ทำอยู่มีความสุขไหม’ อาจทำให้เราเครียดขึ้นมา แต่การตระหนักรู้ถึงความคิดเหล่านี้และค่อยๆ ตอบคำถามมันนั่นแหละ จะทำให้เราเจอทางออก
เพื่อป้องกันการตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ผู้เขียนแนะนำว่า ให้จดลงในกระดาษว่าเราทำอะไรไปบ้างในแต่ละวัน จากนั้นก็เขียนความคิดเห็นและความรู้สึกของเราต่อกิจกรรมเหล่านั้น ทำเช่นนี้ทุกๆ วันประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้วเราจะเห็นเองว่า กิจกรรมไหนในงานของเราที่เราไม่ชอบจริงๆ และกิจกรรมไหนที่ยังทำให้เรารู้สึกมีแรงบันดาลใจ
พอได้คำตอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ
2) ตัดสินใจแบบไม่ต้องกลัว!
ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง เราไม่เพียงแต่ต้องทิ้งตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งไว้ข้าง แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของทางที่เราเลือกอีก ไม่แปลกเลยหากเรากลัว กังวล คิดวนไปวนมา และตัดสินใจไม่ได้สักที
อย่างไรก็ตาม ความลังเลนั้นมีแต่จะทำให้เราเครียดและเสียเวลา จะดีกว่าไหมหากเรากล้าตัดสินใจแบบไม่เกรงกลัว
ผู้เขียนแนะนำว่า ให้โฟกัสที่ ‘ความเป็นไปได้’ ไม่ใช่ ‘ความกลัว’
ลองมองถึงข้อดีและสิ่งดีๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเรา เป็นต้นว่า งานใหม่จะมีอะไรบ้างให้เราได้เรียนรู้ และ ความรู้เหล่านั้นเราจะเอาไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง พอเราปล่อยวางความกลัวได้แล้ว ก็เข้าสู่สเต็ปต่อไป ซึ่งก็คือการหัดอยู่กับความอึดอัด
3) ฝึกอยู่กับความไม่สบายใจ
ขั้นตอนที่ยากที่สุดไม่ใช่การตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่าง แต่เป็นการทำใจปล่อยวาง ‘สิ่งที่ไม่ได้เลือก’ และอยู่กับ ‘สิ่งที่เราเลือก’ แม้สถานการณ์เริ่มจะไม่ง่าย
ต้องยอมรับว่าการปรับตัวกับเส้นทางใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผู้เขียนแนะนำว่าการใจดีกับตัวเอง หรือการมี Self-compassion จะทำให้เราก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
ตระหนักอยู่เสมอว่า ในชีวิตนี้มีทั้งคนที่ ‘รู้ตัวเอง’ ตั้งแต่เด็กว่าอยากทำอะไรและเดินหน้าทำตามความฝัน กับ คนที่ ‘ไม่รู้ตัวเอง’ ว่าชอบอะไรและทดลองทำไปเรื่อยๆ แบบเรา หากเราจะเลือก ลองทำ แล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ ให้รู้จักรักและให้อภัยตัวเองมากพอที่จะเริ่มใหม่
ความรักที่มีต่อตัวเองนี้แหละจะพาเราไปสู่เส้นทางที่เหมาะสมกับเราในท้ายที่สุด
มีหลายครั้งที่โจนาธาน ลาร์สัน ตัวเอกในเรื่อง ‘tick, tick… BOOM!’ อยากยอมแพ้ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เขาต้องเผชิญนั้นไม่ง่ายเลย ไหนจะเสียง ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. ที่ดังอยู่ในหัว ทำเอาหายใจไม่ทั่วท้องตลอดเวลาอีก แต่สิ่งที่ทำให้เขาเดินหน้าและทำตามความฝันของตัวเองต่อ แม้จะยากลำบากแค่ไหน คือการตั้งใจฟังให้ดี ฟังทะลุผ่านเสียง ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. ติ้ก.. และฟังให้ลึกลงไป
เราจะได้ยินเสียงที่เราอยากได้ยินที่สุด ซึ่งก็คือ ‘เสียงหัวใจตัวเอง’ นั่นเอง
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
​​
โฆษณา