17 ม.ค. 2022 เวลา 12:21 • ปรัชญา
มายาแห่งตัวตน
David Hume (1711-1776)
ท่านผู้อ่านคงจะเคยยืนหน้ากระจกเงา, มองเข้าไปในกระจกเงาแผ่นนั้นและเห็นคนคนหนึ่งยืนอยู่ในนั้น. เขากำลังจ้องมองท่าน. ท่านเองก็กำลังสบตากับบุคคลผู้นั้นอยู่เช่นกัน. คนในกระจกหาใช่ใครอื่น, หากแต่เป็นตัวท่านเอง.
คำถามที่น่าสนใจก็คือ “เรา” ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่? ใครกันที่อยู่ในกระจก?
บทความนี้จะเชิญชวนท่านผู้อ่านไปสำรวจและตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า “ตัวเรา”. สิ่งใดคือบ่อเกิดแห่งความรู้สึกของการมีตัวมีตนของเรา และตัวตนคืออะไรกันแน่?
นักปรัชญาคนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้คือ เดวิด ฮูม. ในหนังสือ A Treatise of Human Nature ของเขา, เขาพูดถึงการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” เอาไว้อย่างน่าสนใจ. ฮูมเสนอว่า การรับรู้ทั้งหมดทั้งมวลของมนุษย์เราสามารถถูกแบ่งออกได้เป็นสองชนิด; นั่นคือ, impressions (ภาพประทับ) และ ideas (ความคิด).
สิ่งที่ใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างการรับรู้ทั้งสองชนิดนี้คือระดับของความรุนแรงและความชัดเจนที่มันปรากฏขึ้นในจิตใจของเรา. ภาพประทับคือการรับรู้ที่วิ่งเข้า “กระแทกใส่” และ “ประทับเข้า” ไปในจิตใจของเราอย่างรุนแรงด้วยความแจ่มแจ้งชัดเจน, ในขณะที่ความคิดเป็นเพียงเงาหรือภาพอันเลือนรางจางจืดของภาพประทับ. หากท่านกำลังเห็น, กำลังฟัง, กำลังสัมผัส, การรับรู้ที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้ถือเป็นภาพประทับ; แต่หากท่านระลึกนึกคิดไปถึงสิ่งที่ท่านเคยเห็น, เคยฟัง, เคยสัมผัส, สิ่งที่ปรากฏขึ้นในการรับรู้ของท่านคือ ความคิด. เมื่อเรากำลังมองเห็นโต๊ะ, นี่เป็นภาพประทับ; แต่หลังจากนั้น, โต๊ะจะกลายเป็นความคิดเมื่อเราพยายามระลึกนึกถึงมันในภายหลัง. ความคิดของโต๊ะก็คือภาพประทับของโต๊ะที่เลือนรางไม่แจ่มชัด.
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ฮูมเน้นย้ำก็คือ ทุกๆ ความคิดล้วนต้องมีภาพประทับมารองรับ. ความคิดจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากภาพประทับ. แต่ละความคิดต้องมีภาพประทับซึ่งเป็นที่มาของแต่ละความคิดนั้นๆ. กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า หากไม่มีภาพประทับ, ก็จะไม่มีความคิด.
1
จากแนวคิดเรื่อง impression และ idea ดังกล่าว, ฮูมตั้งคำถามขึ้นมาว่า ความรู้สึกว่าเราเป็นเรา, ตัวตนของเราจากไหนกันแน่? ภาพประทับอะไรบ้างที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของความคิดเกี่ยวกับตัวตน? ด้วยการสังเกตอย่างไตร่ตรองและใกล้ชิด, ฮูมพบว่า เราไม่เคยมีประสบการณ์หรือการรับรู้ใดๆ เลยที่สามารถเป็นบ่อเกิดของความคิดแห่งการดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ได้. กล่าวโดยสรุปก็คือ, เราไม่เคยมีภาพประทับของตัวตนเลย; ดังนั้น, เราจะมีความคิดของตัวตนไม่ได้.
เป็นที่เชื่อกันว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงคงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง. ความเชื่อที่ว่า เราเป็นเรา ส่อนัยว่า มันมี “สาระ” หรือ “แก่น” แห่งความเป็นเราที่ดำรงอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวรคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง. ด้วยเหตุนี้เอง, หากเรามีภาพประทับของตัวตนแล้วไซร้, มันจะต้องเป็นภาพประทับที่ดำรงอยู่โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลง. อย่างก็ไรตาม, ในทัศนะของฮูม, เราไม่เคยประสบพบเจอภาพประทับที่มีลักษณะดังกล่าว; ดังนั้น, ฮูมจึงสรุปว่า เราไม่เคยมีภาพประทับของตัวตนอันจะเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดเกี่ยวกับตัวตนเลย.
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว, ความเป็นตัวเป็นตนที่เรากำลังรู้สึกอยู่อย่างชัดเจนนี้คืออะไร? ฮูมเขียนไว้อย่างชวนใจให้คิดสะกิดจิตให้ฉงนใน A Treatise of Human Nature ของเขาว่า:
“มีนักปรัชญาอยู่จำนวนหนึ่งผู้ซึ่งจินตนาการไปว่า ในทุกๆขณะ เรากำลังสำนึกตรึกตรองอยู่อย่างใกล้ชิดกับสิ่งที่เราเรียกว่า ตัวตนของเรา; นึกคิดไปเองว่า เรารู้สึกได้ถึงการดำรงอยู่และความต่อเนื่องในการดำรงอยู่ของมัน . . . สำหรับข้าพเจ้า, เมื่อข้าพเจ้าสอดส่องไตร่ตรองมองเข้าไปอย่างใกล้ชิดยังสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ตัวเอง, ข้าพเจ้ามักประสบพบเจอกับการรับรู้จำเพาะเจาะจงบางอย่างบางประการอยู่เสมอ; ความร้อน หรือ ความเย็น; แสงสว่าง หรือ ร่มเงา; ความรัก หรือความเกลียดชัง; ความเจ็บปวด หรือ ความยินดี. ข้าพเจ้าไม่เคยได้สัมผัสถึงตัวตนโดยปราศจากการรับรู้และไม่เคยสัมผัสสิ่งใดเลยนอกเหนือจากการรับรู้."
5
ในทัศนะของฮูม, ในบรรดาสิ่งที่เขาสามารถรับรู้ได้, ไม่มีสิ่งใดเลยที่สามารถถูกเรียกได้ว่า ตัวตน. ฮูมยืนยันหนักแน่นว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวตนหาใช่สิ่งอื่นใดไม่นอกจากการสืบทอต่อเนื่องกันของการรับรู้. ตัวตนของเราเป็นเพียงเป็นผลผลิตของการรับรู้ที่ถูกนำมาห่อมัดรวมกัน (a bundle of different perceptions).
แนวความคิดเกี่ยวกับตัวตนแบบที่ฮูมนำเสนอนี้มีชื่อเรียกว่า Bundle Theory of Self. ใจความสำคัญของทฤษฎีนี้คือ ความรู้สึกที่ว่า เราแต่ละคนมีความเป็นตัวเป็นตนที่มีความต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวนั้นเป็นเพียงมายาภาพ. สิ่งที่เรียกว่าตัวตนแท้จริงแล้วเป็นเพียงอนุกรมของประสบการณ์ที่ถูกนำมาร้อยเรียงต่อเนื่องเข้าด้วยกันเท่านั้นเอง.
การมีอยู่ของตัวตนจึงเป็นอีกมายาภาพหนึ่ง – สิ่งที่ดูเหมือนจะมีอยู่แต่พอมองหาดูดีแล้วกลับไม่ได้มีอยู่จริงๆ – ของเราที่ยากจะสลัดทิ้งไปได้!
Kanizsa triangle: ตัวตนของเราอาจจะเปรียบได้กับสามเหลี่ยมตรงกลางในภาพ. เรามองเห็นมัน; แต่สามเหลี่ยมนั้นไม่ได้มีอยู่จริงๆ.
อ้างอิง
- Gaarder, Jostein, 1952-. Sophie's World : a Novel about the History of Philosophy. New York :Farrar, Straus and Giroux, 1994.
- Hume, David. Treatise of Human Nature. Edited by L. A. Selby-Bigge, 2nd ed., Oxford University Press, 1978.
โฆษณา