16 ม.ค. 2022 เวลา 16:12
ความเป็น 'ครู' ของ 'พระพุทธเจ้า'
ครูได้แค่สอน ไม่ใช่ผู้สั่งให้ใครเชื่อตาม
"เชื่อไหมว่า ต่อให้เป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ตรัสรู้ธรรมลึกซึ้งเป็นสัจจะขนาดไหน แต่พอถึงเวลาจะหาใครสักคนแสดงธรรมให้ฟังครั้งแรกยังยากเลย แถมต้องดั้นด้นเดินทางไปหาเขาถึงที่อีกต่างหาก ไปหาแล้วเขาก็ไม่ได้อยากจะฟัง ตอนแรกไม่ต้อนรับด้วยซ้ำ สุดท้ายถึงมีโอกาสได้แสดงธรรม อธิบายสิ่งที่เป็นสาระเป็นความจริงตั้งมากมาย ฟังกันอยู่ ๕ คน มีคนเข้าใจแค่คนเดียว ตอนนั้นได้คนเดียวก็ยังดีใจมาก จนถึงกับต้องเปล่งอุทาน นี่เห็นอะไรไหม การอธิบายอะไรให้ใครเข้าใจมันไม่ใช่ของง่าย การจะเปลี่ยนความคิดคนเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ว่าทุกคนพร้อมที่จะฟัง หรือฟังแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจรู้เรื่อง บางทีในคนร้อยคน อาจหาคนที่ใจกว้างพอที่จะรับฟังเหตุผลได้แค่คนเดียวหรือไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงว่าเขาจะยอมเปลี่ยนความคิดเดิมหรือไม่ นี่มันเป็นธรรมดาของโลก ดังนั้นอย่าได้คาดหวังอะไรจากคนอื่นเลย แค่ได้ทำหน้าที่ที่เราควรทำก็พอแล้ว"
ข้อความข้างต้นนี้ผู้เขียนคัดลอกไว้คราวมาฆบูชาสักราวปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๖๔) จากเพจพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ฉายาเมื่อครั้งยังบวชเป็นพระ
ผู้เขียนได้ข้อสังเกตจากเรื่องนี้ ดังนี้
  • ครู คือ ผู้สอน ผู้แนะนำความคิดใหม่ๆ แก่ศิษย์
  • การสอน คือ การขายความคิดอย่างหนึ่ง
  • ในการขาย ต่อให้เก่งแค่ไหนจะหาคนมาฟังครั้งแรกยังยาก เมื่อฟังแล้วผู้จะยอมซื้อไปก็ยิ่งมีน้อยใหญ่
  • สถิติการขายครั้งแรกจะเป็น 20 เปอร์เซนต์ ถ้าได้ผู้ฟังที่หมายตาซึ่งมีประสงค์ต้องการอยู่แล้วแต่เดิม (โดยทั่วไปวงการขายเขาบอกว่าได้แค่ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้นแหละ)
  • ในการขายความคิดใหม่ ครู หรือนักขาย หรือผู้บอก อย่าได้คาดหวังอะไรมาก ในการเปลี่ยนความคิดคน หากทว่าพึงทำหน้าที่ที่ควรทำให้ดียิ่งๆ ต่อไป
  • ในการขายความคิดถ้ายังไม่เก่งระดับบรมศาสดาก็ยิ่งต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นดีขึ้นจึงจะคาดหวังได้มากขึ้น (พระพุทธเจ้ายังได้มากแค่ 20 เปอร์เซนต์ในครั้งแรกเท่านั้น)
  • ครูทำได้แค่สอน นำ ชี้แนะ และทำให้ดู แต่ไม่อาจสั่ง ให้ศิษย์รู้ได้
  • ผู้ฟังหรือศิษย์ก็ยังต้องนำความรู้ไปทดลองเอง ต้องเข้าใจและรู้ให้ได้เอง, แม้จะมีครูดี
  • ผู้ฟังแม้จะมีครูชั้นเลิศมาถ่ายทอดให้ฟัง การจะเข้าใจได้ยังต้องขึ้นอยู่กับตนเอง ต้องน้อมนำมาไตร่ตรอง ทดลองทำ กว่าจะเข้าใจรู้ชัด ตัวเองต้องตระหนักเอง และต้องใช้เวลา
  • ผู้ฟังจะรู้แจ้งเห็นจริงได้เพียงแค่ฟังตั้งแต่ครั้งแรกนั้น หายาก แม้ใฝ่ใจในเรื่องที่ฟังมาแต่เดิม
  • ผู้ฟังหากยิ่งไม่เคยอยากจะรู้อยู่แล้วก็ยากจะได้รับผลอะไร
  • ครูถ้ายิ่งไม่เข้าท่า ยิ่งเป็นไปได้ว่าลูกศิษย์ยิ่งหลงทาง
  • ศิษยานุศิษย์จะวนเวียนอยู่ในความไม่รู้ไปอีกยาวนานถ้ามีครูไม่เอาไหน
1
  • พระพุทธเจ้าคือครูผู้เลิศ ประเสริฐกว่าครูคนใด
..... นิกุล
โอวาทปาติโมกข์ และ วันมาฆบูชา :
1
โอวาทปาฏิโมกข์ ถือเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงแสดง"โอวาทปาฏิโมกข์" เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ ๙ เดือน แก่พระอรหันตสาวก ๑๒๕๐ รูป [ผู้เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นพระอรหันตสาวกที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ทั้งสิ้น] ที่มาชุมนุม เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๓ หรือวันมาฆบุรณมี ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์
เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ
เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
โอวาทปาฏิโมกข์ ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน
๑) จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)
๒) หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย
(ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย
ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง
ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ
(สพฺพปาปสฺส อรกณํ)
ข. ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ
(กุสลสฺสูปสมฺปทา)
ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ
(สจิตฺตปริโยทปนํ)
การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด
๓) วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ** ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
- สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
- สัมมาวาจา การพูดจาชอบ
- สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ
- สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ
- สัมมาวายามะ ความพากเพียรชอบ
- สัมมาสติ ความระลึกชอบ
- สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ
** รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา
และรวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว ทั้งกาย วาจา ใจ คือให้ทำดี พูดดี และคิดดี
ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โทสะ โมหะ
ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่
ที่อยากมี-อยากเป็นแบบมืดบอด
ที่ไม่อยากมี-ไม่อยากเป็น อันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมจาก ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข เป็นต้น
โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้.
  • ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)
  • ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)
  • ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)
  • รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)
  • ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)
  • ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา
การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)
จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต
และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต
ขอบคุณข้อมูลจาก BG ชมพู่แก้มแหม่ม [http://www.oknation.net/blog/prisanasweetsong/2011/02/18/entry-2]
แก้คำผิดเป็น; ทะนุถนอม, ลำบากกาย
โฆษณา