17 ม.ค. 2022 เวลา 04:32 • การเมือง
"ขี้แพ้ชวนตี" จริงเหรอ?
จากประเด็นเมื่อวานเรื่อง #เลือกตั้งซ่อม เราถูกตำหนิในการแสดงความเห็นพอสมควร แต่เรายินดีมากที่เราโดนด่านะ สังคมจะได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแนวคิดประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง และเรามองว่าการตั้งคำถาม หรือสงสัย หรือถกเถียงกันนั้นดีแล้ว ไม่งั้นจะทำเพจ review ไปทำไมจริงไหม?
1) เรามองว่า "การเคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่การไม่ให้ค่า ไม่ให้พื้นที่เสียงส่วนน้อย" ทุกเสียงมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์เต็มที่บนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงความเห็น การที่พูดไม่ได้ ห้ามพูด ประเทศแบบนั้นน่ากลัวนะ ห้ามคนอื่นพูดเพราะแค่เขาแพ้ นี่มัน 'เผด็จการทางความคิด' ไหมนะ?
2) แพ้ได้ เสียใจได้ แสดงความรู้สึกได้ ผิดหวังได้ เรามองว่าเป็นเรื่องปกติมนุษย์ที่จะ express feeling คุณเจ็บใจ คุณแสดงออก มันไม่ใช่กลไกที่เข้าใจยาก เป็นปรากฏการณ์พฤติกรรมทางจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์ คุณไม่พอใจ คุณบ่น คุณแสดงออก ก็คือธรรมชาติของการแสดงออก ไปสั่งไปห้ามทำไมเอ่ย?
3) หากคนชนะ มั่นใจว่าชนะใสๆ คุณไม่จำเป็นต้องดิ้น ร้อนรนอะไรเลย ก็ชนะก็ happy ไป ไม่ได้มีใครห้ามคุณมีความสุขกับชัยชนะ แต่ไม่ใช่ไปห้ามคนอื่นไม่ให้แสดงความทุกข์ร้อน หรือไม่พอใจ การไม่พอใจก็เป็นสิทธิ์นะ ทุกคนมีสิทธิ์สิ ตราบใดที่ความไม่พอใจไม่ได้ไปละเมิดกติกา หรือล้มผลการเลือกตั้ง ก็ยังอยู่ในกติกาว่าเคารพเสียงส่วนใหญ่
4) เราจะใช้คำว่า 'ขี้แพ้ชวนตี' 'ไม่มีน้ำใจนักกีฬา' กับคนบ่นด่า ในประเทศที่มีการซื้อเสียง และยังบิดเบี้ยวเลือกขั้วทางการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการให้เป็นผู้ชนะ คงห้ามไม่ได้ เพราะมันไม่มีพื้นที่ให้กับขั้วเผด็จการบนพื้นที่ประชาธิปไตย มันยอมรับให้อธรรม เป็นเรื่องถูกต้องแต่แรกไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าไม่เห็นด้วย ก็คือไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ให้เขายอมรับการเลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ ประเทศเรายังไม่สามารถมาคุยเรื่องน้ำใจนักกีฬา หรือการเคารพกติกากันได้ เพราะที่ผ่านมา 'เผด็จการ' ไม่ได้เคารพกติกา และไม่ได้มีน้ำใจนักกีฬาจากการโกงมาสม่ำเสมออยู่แล้ว มันต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน จนกว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ 100% ถึงจะมาพูดเรื่องนี้กันอย่างสง่างาม
5) สำหรับปัญหาเรื่องการถูกตำหนิที่รู้สึกว่า "ตนไม่ได้เลือกคนนี้ แล้วถูกเหมารวมไปด้วย รับไม่ได้" เช่น 'เจ็บแล้วจำเป็นคน เจ็บแล้วทนเป็นคนใต้' ที่มีคนพูดถึงเยอะเมื่อวาน เรามองว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรอก แต่การกดดันด้วยการตำหนิ ให้เกิดการกระชากความคิด หรือไปมองที่ต้นตอของปัญหาเป็นเรื่องที่เราต้องทำกันอยู่ ตราบใดที่ประเทศยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ชอบธรรม เสียงส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแบบนี้ คุณก็ต้องอยู่ในสภาวะถูกกดดันจากการถูกเหมารวม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
"จงเจ็บปวดต่อไปกับการผูกตนเองว่าถูกเหมารวม ในวันที่ประเทศยังไม่สว่างไสว แต่ความเจ็บปวดที่หนักกว่าการรู้สึกว่าตนถูกเหมารวม คือการต้องทนอยู่กับความดักดานตลอดไป"
6) การไปด่าคนที่วิจารณ์ผลการเลือกตั้งอีกที ด่าคนที่เขาพูดถึงปัญหาของความดักดาน เพราะคิดว่าตนเองกำลังถูกเหมารวม เป็นเรื่องที่เข้าใจความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูก stereotype แต่ต้องยอมรับด้วยว่า "การไปด่าคนที่เห็นต่างจากคุณ หรือตำหนิผู้คนที่ไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร สุดท้ายด่าคนอื่นเสร็จแล้ว ทั้งเราและคุณก็ต้องทนดักดานในรัฐบาลที่คุณหนีพวกมันไม่หลุดพ้น" สิ่งที่ควรเสียเวลาไม่ใช่การกลับมาด่ากันเอง แต่เป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงคนในพื้นที่ของพวกคุณต่อไปให้พวกเขาตาสว่าง มีมุมมองที่สว่างไสว มากกว่าการมาตำหนิคนที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
7) ด่าเสร็จ บ่นเสร็จแล้ว ก็กลับไปเคารพผลที่ออกมา นี่ไงเคารพเสียงส่วนใหญ่ เราไม่ได้ล้มผลการเลือกตั้ง ในประเทศที่กติกาเบี้ยวๆ เราก็ยังทนกันอยู่ แพ้เสียงส่วนใหญ่ ก็ต้องยอมรับ ก็แค่นั้น จนกว่าประเทศจะได้มีเสียงส่วนใหญ่ที่สว่างไสว ถึงวันนั้นเสียงบ่นด่า ความไม่พอใจก็คงเปลี่ยนขั้วไปเอง มันเป็นกลไกของสังคม ส่วนใครจะมองว่าดูถูกความคิดคนอื่น ด้อยค่าคนอื่น ก็แล้วแต่จะคิด ในประเทศวิกฤติทางตรรกะและพร่องคุณธรรมขนาดนี้ ยังคิดไม่ได้ มันก็เรื่องของคุณ คนคิดได้ เขาก็แค่บ่นต่อไป ก็เรื่องของเขา สิทธิ์ของเขาเช่นกัน
8 ) การเมืองไทยมันเป็น local marketing จริงๆ จะเปลี่ยนยังไงได้ ในเมื่อเลือก "คนที่บูชา" "คนในพื้นที่ที่เห็นหน้าบ่อยๆ" "คนที่อุ้มชูอุปถัมภ์กันมา" ผู้มีอำนาจจากพรรคเดิมๆ เข้าถึงผู้คนแบบลงพื้นที่ จนลงไปในใจคน งานศพก็เจอ งานบวช งานแต่งก็มา sponsor ช่วยเหลือคนในพื้นที่แบบเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตจนเขาเคยชิน ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนียวแน่น พวกคนหน้าใหม่เข้าไป กว่าจะไปฝังอยู่ในใจคนคงใช้เวลา ไม่คุ้น ไม่ชิน ไม่รู้จัก ไม่กล้าเลือก เลือกคนคุ้นๆ เลือกคนที่เคยเลือก เลือกคนที่วางใจ ก็เขาวางใจมาแบบนี้ จะเปลี่ยนใจเขาคงยากจริงๆ แม้ว่าปัญหาประเทศแก้ไม่ได้ก็ช่าง คนนี้เคยดีกับฉันในพื้นที่ ฉันจำได้ ฉันก็เลือก
9) ที่คนเขาบ่นจริงๆ ไม่ใช่เขาอยากด่าคนในจังหวัดไหน ภูมิภาคไหนหรอก แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเห็นผลงานการบริหารห่วยแตกมาหลายปีมาก แต่ยังเลือกพรรคเดิม ปักใจกับคนเดิมๆ เขาก็หวังไงว่าจะเกิดภาวะตาสว่างในใจของคน มันเห็นความไร้ประสิทธิภาพ แต่ยังเลือกคนเดิมได้อยู่ ความดักดานตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องการเหมารวมเลย
เราชวนคุย ไม่ได้หมายความว่าเราถูกต้อง แต่การที่ไม่คุยต่างหาก คือการปล่อยผ่าน issues ต่างๆไป โดยที่ไม่ตั้งคำถามว่า "ทำไมประเทศเป็นแบบนี้?" แล้วเราดักดานอยู่ที่เดิม ไม่พัฒนา
#ThinkTalkLoud
#ตุ๊ดส์review
โฆษณา