17 ม.ค. 2022 เวลา 10:18 • กีฬา
อินเดียโอเพ่น 2022
เวทีดาวดังหมางเมิน
โดย ปุ๊ กว่างโจว
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การแข่งขันแบดมินตันรายการอินเดียโอเพ่น 2022 กลายเป็นเวทีที่ดาวดังหมางเมิน มีผู้เล่นระดับโลกเข้าร่วมการแข่งขันน้อย แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง ก็เปิดโอกาสให้นักกีฬาดาวรุ่งจากเจ้าภาพอินเดียและชาติอื่นๆ เข้าร่วมเพื่อสร้างความสำเร็จให้ตัวเอง
แม้ว่าในรอบปี 2021 ที่ผ่านมา การแข่งขันแบดมินตันโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การจัดการแข่งขันรายการใหญ่ๆ ก็สามารถดำเนินการให้ผ่านไปได้ ไม่ว่าจะเป็นแบดมินตันสามรายการใหญ่ โยเน็กซ์ ไทยแลนด์โอเพ่น โตโยต้า ไทยแลนด์โอเพ่น เฮชเอสบีซี เวิลด์ทัวร์ไฟนอล ในเมืองไทย และที่อินโดนีเซีย โยเน็กซ์ออลอิงแลนด์ แบดมินตันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก หรือทัวร์นาเมนต์เวิลด์ทัวร์ 1000 เวิลด์ทัวร์ 750 เวิลด์ทัวร์ 500 ที่มีเพียงรายการไฮโลว์โอเพ่น รายการเดียวในยุโรป รวมไปถึงแบดมินตันชิงแชมป์โลก ประเภททีมผสม “สุธีรมานคัพ” แบดมินตันชิงแชมป์โลก ประเภททีมชายหญิงอย่างโธมัสคัพ-อูเบอร์คัพ ก่อนจะปิดท้ายปลายปีด้วยรายการสุดท้ายอย่างศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก 2021 ณ ประเทศสเปน
สำหรับโปรแกรมการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ในปี 2022 นี้ ถูกวางให้จัดอย่างคร่าวๆ โดยแบ่งเป็นทัวร์นาเมนต์เวิลด์ทัวร์ระดับ 100 ห้ารายการ ระดับ 300 สิบรายการ ระดับ 500 เจ็ดรายการ ระดับ 750 ห้ารายการ และระดับ 1000 สามรายการ โดยยังคงมีทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกประเภททีมชายหญิง “โธมัสคัพ-อูเบอร์คัพ” ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
แต่แค่การประเดิมทัวร์นาเมนต์ในเดือนนี้ด้วยรายการแข่งขันติดต่อกัน ณ ประเทศอินเดีย (อินเดียเลค) อย่างโยเน็กซ์-ซันไรส์ อินเดียโอเพ่น 2022 ทัวร์นาเมนต์เวิลด์ทัวร์ 500 ไซเอ็ด โมดี อินเดียอินเตอร์เนชั่นแนล ทัวร์นาเมนต์เวิลด์ทัวร์ 300 และโอดิชาโอเพ่น ทัวร์นาเมนต์เวิลด์ทัวร์ 100 ก็ส่อแววที่การแข่งขันไม่สนุกอย่างที่คาด เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 สายพันธุ์โอไมคอน ยังส่งผลกระทบต่อความกังวลและความปลอดภัยของผู้คนทั่วโลก ทำให้บรรดาผู้เล่นระดับโลก ระดับแม่เหล็กดึงดูดผู้ชม ต่างพากันถอนตัวหรือไม่มาร่วมทำการแข่งขันกันอย่างมากมาย
ทั้งที่ในอดีตรายการอินเดียโอเพ่นนี้ ในช่วงสถานการณ์ปกติ ถึงแม้จะเป็นรายการระดับเวิลด์ทัวร์ 500 ก็ตาม แต่บรรดาผู้เล่นระดับโลกต่างเดินทางมาร่วมแข่งขันกันอย่างคับคั่ง มีดาวดังเคยมาคว้าแชมป์กันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เคนโตะ โมโมตะ ในปี 2016 วิคเตอร์ อเซลเซน แชมป์เก่าปี 2017 และ 2019 หรือแม้แต่เมย์ รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาประเภทหญิงเดี่ยวคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ถึงสามสมัย คือในปี 2013, 2016 และปี 2019
แต่หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักกีฬาระดับโลกจำนวนมากต่างพากันถอนตัวไม่เข้าร่วมแข่งขัน แม้ว่าจะเป็นการจัดการแข่งแบบอินเดียเลค (สามรายการติดต่อกัน) แต่หากพิจารณาถึงทัวร์นาเมนต์หลังจากอินเดียโอเพ่นครั้งนี้ ก็จะเป็นรายการไซเอ็ด โมดี อินเดียอินเตอร์เนชั่นแนล และโอดิชาโอเพ่น แต่ก็เป็นเพียงรายการระดับ 300 และ 100 เท่านั้น โดยปกติแล้วนักกีฬาระดับโลกหรือมืออันดับโลกก็ไม่เข้าร่วมการแข่งขันในระดับ 300 สักเท่าไร นี่จึงเป็นเหตุให้ปีนี้การแข่งขันอินเดียโอเพ่นขาดสีสันลงไปมากนั่นเอง
แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง รายการนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าภาพอินเดียสามารถส่งดาวรุ่งหรือนักกีฬาที่สมาคมแบดมินตันอินเดียต้องการต่อยอดและสร้างประสบการณ์ให้กับนักกีฬารุ่นใหม่ๆ ได้มีส่วนร่วมในเกมการแข่งขันระดับเวิลด์ทัวร์ให้มากขึ้น ซึ่งโอกาสแบบนี้หาไม่ได้ง่ายหากเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ
1
อินเดียโอเพ่น 2022 ในปีนี้ หากพิจารณาในแต่ละประเภทเริ่มที่ชายเดี่ยว ต้องยอมรับว่ามือวางอันดับสูงที่ไม่ได้ถอนตัวมีโอกาสอย่างมากที่จะสร้างความสำเร็จเป็นรางวัลให้กับตัวเอง โดยมือวางอันดับหนึ่งคือ คิดัมบี ศรีคาน จากอินเดีย รองแชมป์โลกประเภทชายเดี่ยวศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลกที่ผ่านมา (ขณะที่บทความนี้ออก ศรีคานตกรอบสองเมื่อวันพฤหัสแล้ว) โละ เคียนยิว แชมป์โลกประเภทชายเดี่ยวคนล่าสุดจากสิงคโปร์ ก็เข้าแข่งในรายการนี้ และยังมี ลักยาเซน เหรียญทองแดงรายการศึกชิงแชมป์โลกประเภทชายเดี่ยวจากอินเดีย ก็เข้าร่วมในการแข่งขัน ซึ่งในท้ายที่สุดเป็นทั้งคู่ที่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ โดย ลักยา เซน เจ้าของเหรียญทองแดงศึกชิงแชมป์โลกสามารถเอาชนะ โละ เคียนยิว แชมป์โลกคนปัจจุบันไปได้ 2-0 เกม 24-22, 21-17 คว้าแชมป์ในรายการนี้ได้เป็นครั้งแรก
ในประเภทหญิงเดี่ยว มือวางอันดับสูงสุดที่ร่วมแข่งขัน คงเดาได้ไม่ยากว่าคือ พีวี สินธุ นักกีฬาจากชาติเจ้าภาพ โดยมือวางอันดับโลกรองมาก็คือ น้องครีม บุศนันท์ อึ้งบำรุงพันธ์ มือวางอันดับ 2 ขณะที่นักกีฬาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมแข่งขันจะเป็นนักกีฬาดาวรุ่งจากอินเดีย จากที่ในตอนแรกคาดว่า พีวี สินธุ และน้องครีมน่าจะเป็นคู่ชิงชนะเลิศ แต่รอบชิงชนะเลิศกลับกลายเป็นการพบกันระหว่างนักแบดหญิงไทยด้วยกันเอง โดย ศุภนิดา เกตุทอง หรือเมย์ ที่สามารถพลิคล็อกเอาชนะ พีวี สินธุ ในรอบรองชนะเลิศ 2-1 เกม 21-14, 13-21 และ 21-10 เข้ามาชิงกับน้องครีม แต่ก็ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการระดับ 500 ให้กับตัวเองได้ โดยพ่ายให้กับน้องครีมในรอบชิง 1-2 เกม 20-22, 21-19 และ 18-21 ทำให้น้องครีม บุศนันท์ สามารถเพิ่มแชมป์รายการระดับ 500 รายการที่สองให้ตัวเองได้สำเร็จ
ในประเภทชายคู่แทบเรียกว่ามืออันดับโลกไม่มาร่วมแข่งเท่าใดนัก จะมีก็คือ มูฮัมหมัด อาซาน / เฮนดรา เซเทียวาน จากอินโดนีเซีย อดีตแชมป์โลกชายคู่เมื่อปี 2019 เข้าร่วมแข่งขัน ขณะที่คนอื่นๆ อาทิ รางกีเร็ดดี / เช็ทดี จากอินเดีย และ อ่องยิวซิน / เตียวอียี่ จากมาเลเซีย ก็มีฝีมือดีในระดับหนึ่ง แต่อาจได้ความแข็งแรงและความเร็วที่เป็นข้อได้เปรียบ แล้วก็เป็นอย่างที่คาดไว้ เมื่อมือวางอันดับ 1 และ 2 สามารถผ่านเข้าชิงชนะเลิศ และก็พลิกความคาดหมายเมื่อ อาซาน / เซเทียวาน พ่ายต่อ รางกีเร็ดดี / เช็ทดี จากอินเดียเจ้าภาพไป 0-2 เกม 16-21, 24-26 ไม่สามารถคว้าแชมป์ประดับเกียรติยศให้ตัวเองได้
ประเภทชายคู่ว่ามีผู้เล่นระดับโลกเข้าร่วมการแข่งขันน้อยแล้ว ประเภทหญิงคู่ในความเห็นของผมคิดว่า ผู้เล่นระดับโลกมาเข้าร่วมน้อยยิ่งกว่า โดยมือวางอันดับ 3 ของการแข่งขัน Anastasiia Akchurina / Olga Morozova จากรัสเซีย คือมือวางสูงสุดในรายการ โดยมือวางอันดับหนึ่งและสองในตอนแรกอย่าง กิ๊ฟ/วิว จงกลพรรณ กิติธรากุล / รวินดา ประจงใจ และ อัชวานี พอนนัพพา / ซิกี เรดดี ของอินเดีย ต่างถอนตัวทั้งสองคู่ ทำให้มือวางสูงสุดของรายการค่อนข้างไม่เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนแบดมินตัน นอกนั้นแล้วนักกีฬาเกือบทั้งหมดจะเป็นดาวรุ่งจากอินเดีย และนี่เองจึงเปิดโอกาสให้หญิงคู่ดาวรุ่งของไทยอย่าง เบญญาภา กับ นันทกาจญน์ เอี่ยมสอาด ประเดิมคว้าแชมป์แรกของปีและเป็นรายการใหญ่ระดับเวิลด์ทัวร์ 500 ครั้งแรกของทั้งคู่ด้วยการเอาชนะคู่มือวางอันดับสาม 2-0 เกม 21-13, 21-5 ด้วยสกอร์ค่อนข้างห่างจนน่าประหลาดใจ
ส่วนในประเภทคู่ผสม มือวางอันดับโลกสูงสุดที่เข้าร่วมการแข่งขันคือ ตันเคียงเม้ง / ไล่เป่ยจิง จากมาเลเซีย ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง นอกนั้นก็จะเป็นบรรดาดาวรุ่งของอินเดียเข้าร่วมแข่งขันเป็นส่วนใหญ่ อินเดียโอเพ่น 2022 ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งคู่อาจจะสามารถคว้าแชมป์มาครองเป็นแชมป์เวิลด์ทัวร์ระดับ 500 ก็เป็นได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่คู่จากมาเลเซียที่เป็นแชมป์ กลับกลายเป็นคู่ผสมหน้าใหม่ที่สามารถฝ่าฟันคู่แข่ง ยืนบนโพเดียมแชมเปี้ยนอย่าง ฮียองไค เทอรี / ตันเหว่ยฮาน จากสิงคโปร์ เอาชนะมือวางอันดับสาม เฉินทังเจี๋ย / เป็กเยนเหว่ย จากมาเลเซีย 2-0 เกม 21-15, 21-18 เป็นแชมป์รายการใหญ่รายการแรกของทั้งคู่เช่นกัน
ภายใต้สถานการณ์ที่โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทัวร์นาเมนต์การแข่งขันของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (บีดับบลิวเอฟ) เป็นอันมาก ซึ่งเราก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร หรือว่าปี 2022 นี้ก็จะเป็นอีกปีที่การแข่งขันในระดับเวิลด์ทัวร์ 300, 500, 750, 1000 และทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกรายการต่างๆ มีโอกาสเลื่อนหรือถูกยกเลิกอีกครั้ง ต้องมาลองติดตามกันดูว่าหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น บีดับบลิวเอฟจะมีมาตรการแก้ไขปัญหานักกีฬาระดับโลกเข้าร่วมการแข่งขันให้ดีขึ้นได้อย่างไร โอกาสที่จะมีเจ้าภาพเดียวและมีทัวร์นาเมนต์หลายรายการอยู่ในประเทศเดียวกันแบบไทยแลนด์เลคและอินโดนีเซียเลคเหมือนปี 2021 ที่ผ่านมาก็มีโอกาสเป็นไปได้
#PlayNowThailand #khelnow #2022IndiaOpen #Badminton
โฆษณา