19 ม.ค. 2022 เวลา 13:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Howard Marks -Memo (Re: Selling Out) ที่ล้ำค่าสำหรับนักลงทุน (มกราคม 2022)
Howard Marks ผู้จัดการกองทุน Oaktree Capital Management และผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง The most important things illuminated ได้เขียน Memo ให้กับผู้ลงทุนในกองทุนมากว่า 40 ปีแล้ว เป็นหนึ่งใน Memo ที่มีชื่อเสียงมากในแวดวงการลงทุนแบบวีไอหรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
ผมได้มีโอกาสอ่าน Memo ล่าสุดที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2022 เลยขอสรุปให้เพื่อนๆได้อ่านกันดังนี้
✅ Howard เขียน Memo มากว่า 40 ปี ครอบคลุมหัวข้อการลงทุนไปกับเกือบหมดแล้ว แต่ด้วยในช่วงโควิดเขาได้อาศัยอยู่กับลูก และได้คุยกันในหัวข้อ “เมื่อไหร่ที่ควรจะขายสินทรัพย์ที่ราคากำลังขึ้น” ทำให้เขาคิดว่าหัวข้อนี้น่าจะเป็นหัวข้อที่เขาต้องเขียนถึงในหนึ่ง Memo เต็มๆเลยทีเดียว
✅ เขาได้เริ่มด้วยประโยคคลาสสิคในการลงทุน “Buy Low, Sell High” ที่เป็นเหมือนประโยคล้อเลียนที่นักลงทุนส่วนมากมองการลงทุนเป็นแบบนั้น เขายกตัวอย่างคำพูดของนาย Will Rogers ซึ่งเป็นนักแสดงชื่อดังในช่วงปี 1920 ถึง 1940 นาย Will เคยกล่าวไว้ว่า
“อย่าเล่นการพนัน จงเอาเงินทั้งหมดที่เราเก็บออมไว้ไปซื้อหุ้นที่ดีและถือมันไว้จนหุ้นปรับตัวขึ้น แล้วขายมันทิ้งไป ถ้าหุ้นตัวไหนไม่ขึ้นก็ไม่ต้องซื้อมัน”
คำแนะนำนี้อาจจะดูไร้เหตุผลแต่มันก็โชว์ถึงความชัดเจนและความง่ายของสุภาษิตนี้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนก็ยอมรับอย่างไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ว่าพวกเขาควรที่จะขายหุ้นเมื่อราคามีการปรับตัวขึ้น แต่หลักการเบื้องต้นนี้จะมีประโยชน์ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ควรจะพูดถึงใน Memo ฉบับนี้
✅ เขาได้อ้างอิงกลับไปที่ Memo ในปี 2015 ที่เขียนเกี่ยวกับ “Liquidity” หรือสภาพคล่องในตลาด ซึ่งตลาดหุ้นอเมริกาในช่วงปีนั้นมีความกังวลเกี่ยวกับความคล่องเนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ออกมาควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินมากขึ้นหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-2009 ในช่วงตอนท้ายเขาได้สรุปว่า ข้อแรกคือนักลงทุนส่วนมากซื้อขายหุ้นบ่อยเกินไป ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวเองมากขึ้น ข้อที่สองคือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องในการจัดการพอร์ตคือการสร้างพอร์ตสำหรับลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องว่าเราจะซื้อขายได้หรือไม่ นักลงทุนระยะยาวมีความได้เปรียบกว่านักลงทุนระยะสั้น นักลงทุนที่อดทนจะสามารถเพิกเฉยต่อผลงานหุ้นในระยะสั้นได้และถือมันได้ในระยะยาว หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าบริการจำนวนมากให้กับโบรกเกอร์
ในขณะที่นักลงทุนส่วนมากที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นจะกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหนึ่งเดือนข้างหน้าหรือในไตรมาสหน้า เขาเหล่านั้นจะซื้อขายกันบ่อยมาก นอกจากนี้นักลงทุนระยะยาวยังสามารถฉกฉวยโอกาสซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องในช่วงเวลาที่ราคาตกต่ำมากๆได้อีกด้วย ดังนั้นสภาพคล่องของตลาดจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับนักลงทุนระยะยาวเลย
✅ มันยากมากเลยที่จะถือหุ้นไว้ 20 ปีโดยไม่ขายเพราะนักลงทุนทุกคนถูกกระตุ้นด้วย ข่าวดีของบริษัท อารมณ์และผลตอบแทนที่ทำได้ ทุกคนคงฝันว่าจะได้ซื้อหุ้น Amazon ที่ราคา $5 เมื่อตอนไอพีโอในปี 1998 เนื่องจากตอนนี้มันสร้างผลตอบแทนได้ถึง 660 เท่า ที่ราคา $3,300 ในปัจจุบัน
👉🏻 แต่ใครจะสามารถถือหุ้น Amazon จนราคาขึ้นมาถึง $85 ในปี 1999 หรือ 17 เท่าในระยะเวลาน้อยกว่า 2 ปี
👉🏻 ใครสามารถถือมันข้ามในช่วงเกิดวิกฤติดอทคอม ราคาหุ้นตกต่ำลดลงถึง 93% ลงมาที่ $6 ในปี 2001
👉🏻 และใครไม่ได้ขายหุ้นทิ้งในปี 2015 ตอนที่มันขึ้นมาถึง $600 หรือขึ้นมาถึง 100 เท่าจากราคาต่ำสุดในช่วงปี 2001
ยิ่งเขาคิดเกี่ยวกับสภาพคล่องของตลาดมากเท่าไหร่ เขายิ่งมีความเชื่อว่า มีสองเหตุผลด้วยกันที่ทำให้คนเราขายหุ้นทิ้ง ประการแรกคือหุ้นมันขึ้น ประการที่สองคือหุ้นมันลง ฟังดูแล้วอาจจะดูงี่เง่า แต่นี่คือพฤติกรรมของนักลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในตลาดหุ้น
✅ Selling Because it’s Up การทำกำไรถูกกระตุ้นโดยจิตวิทยา นักลงทุนชอบหุ้นปรับตัวขึ้นได้กำไร พวกเขาใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียใจและความอับอาย กลัวว่าถ้าไม่ขายหุ้นแล้วกำไรจะหายหมด มันคือพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องเอากำไรมาก่อน ดังนั้นนักลงทุนบางคนเลยคิดว่าการขายหุ้นที่ชนะเป็นสิ่งที่น่าทำ Howard ไม่ได้บอกว่านักลงทุนไม่ควรขายหุ้นที่ได้กำไรทิ้ง แต่สิ่งที่เขาต้องการสื่อคืออย่าขายหุ้นเพียงเพราะว่าหุ้นมันขึ้นเท่านั้น
✅ Selling Because it’s Down ก็เหมือนกันกับการขายหุ้นที่ได้กำไรเพียงเพราะว่าหุ้นมันขึ้น มันดูไม่มีเหตุผล มันจะแย่กว่านั้นอีกถ้านักลงทุนขายหุ้นเพียงเพราะว่าหุ้นมันตก ทำให้ขาดทุน เขาเชื่อว่ามีนักลงทุนจำนวนมากทำอย่างนั้น โดยความจริงแล้วการซื้อหุ้นที่มีราคาอยู่ในช่วงขาขึ้นจะทำให้เกิดตลาดกระทิงได้ และพัฒนาเป็นเป็นฟองสบู่ ในขณะเดียวกันการขายหุ้นในช่วงที่มันลงเยอะๆก็มีโอกาสทำให้ตลาดพังได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นทั้งฟองสบู่และตลาดพังสามารถเกิดได้จากการที่นักลงทุนซื้อหุ้นมากเกินไปหรือขายหุ้นมากเกินไป
Howard ยังกล่าวถึงคนที่ลงทุนในกองทุนรวมโดยเฉลี่ยแล้วจะได้ผลตอบแทนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนกองทุมรวมทั้งหมด อ่านแล้วอาจจะงงๆ เขาให้ข้อมูลเพิ่มว่าคนที่ลงทุนในกองทุนรวมชอบแห่ไปซื้อตอนที่มันกำลังดีมากๆ พอซื้อแล้วราคากองทุนก็ลงเหวเลย นอกจากนี้ยังชอบขายกองทุนทิ้งตอนที่มันราคาปรับลงเยอะๆ แย่สุดๆ พอขายไป กองทุนก็พลิกกลับมาทำกำไรได้ดีเลยทีเดียว (ผมว่าพวกเราน่าประยุกต์ใช้ได้กับกองทุนจีนตอนนี้)
โดยสรุปนักลงทุนที่เหนือกว่าจะสามารถสร้างข้อได้เปรียบจากการผิดพลาดของนักลงทุนท่านอื่นการขายหุ้นออกไปเพียงเพราะว่าหุ้นมันตก เป็นสิ่งที่ผิดพลาด มันได้ทำให้นักลงทุนที่ชาญฉลาดสามารถฉกฉวยโอกาสที่ยิ่งใหญ่ไปได้
✅ #แล้วเมื่อไหร่ควรจะขายหุ้น??? เขาอ้างถึง Memo ในปี 2020 ที่ชื่อว่า Something of Value (ลองตามอ่านกันดู) ตอนนั้นช่วงโควิดระบาดหนักๆ เขาเลยย้ายไปอยู่กับลูกชายที่ชื่อ Andrew และได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องหุ้นดังนี้
<Howard> ฉันเห็นหุ้น XYZ ที่ลูกลงทุนไปขึ้นมา xx% แล้วในปี 2020 และค่าพีอีก็อยู่ที่ xx แล้ว ลูกรู้สึกอยากขายหุ้นเพื่อทำกำไรไหม?
<Andrew> ผมบอกพ่อแล้วหนิครับ ผมไม่ใช่นักขาย ทำไมผมต้องขายมัน
<Howard> โอเค แต่ลูกก็อาจจะขายหุ้นทิ้งไปบ้างเพราะว่า 1)หุ้นมันขึ้นมาเยอะมากแล้ว 2)ลูกควรจะต้องบันทึกกำไรไว้บ้าง เพื่อมั่นใจว่ากำไรจะไม่สูญหายไปหมด 3)ที่ราคานี้พ่อรู้สึกว่ามันสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว 4)ไม่เคยมีใครเคยถังแตกเพราะขายหุ้นทำกำไร
<Andrew> มันก็ใช่น่ะครับ แต่ในทางตรงข้ามผมคิดว่า 1)ผมเป็นนักลงทุนระยะยาว ผมไม่คิดว่าหุ้นเป็นแค่กระดาษที่ทำการซื้อขายเปลี่ยนมือ แต่มันคือการเป็นเจ้าของธุรกิจ 2)บริษัทที่ผมลงทุนมีโอกาสเติบโตอีกมาก 3)ต่อให้ตลาดมันตกลงมาเยอะๆในระยะสั้น ผมก็บริหารจัดการกับมันได้ สุดท้ายแล้วการลงทุนระยะยาวเท่านั้นที่ผมสนใจ
<Howard> แต่มันก็มีโอกาสที่จะมีมูลค่าเกินพื้นฐานในระยะสั้น ลูกไม่อยากขายหุ้นบางส่วนเพื่อเอากำไรเข้ากระเป๋าเหรอ ถ้าตลาดมันลง ลูกก็จะได้ไม่เสียใจ รวมทั้งยังสามารถซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่าได้ด้วย
<Andrew> ถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทที่อยู่นอกตลาด บริษัทนั้นมีโอกาสการเติบโตอีกมหาศาลและมีผู้บริหารที่ยอดเยี่ยม ผมคงไม่เคยที่คิดจะขายหุ้นเพราะว่ามีคนมาเสนอราคาที่ดีให้ บริษัทที่สร้างผลตอบแทนทบต้นที่ยอดเยี่ยมหาได้ยากในตลาด ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดถ้าขายมันนอกจากนี้ผมคิดว่ามันง่ายกว่าที่จะคาดการณ์การเติบโตของบริษัทในระยะยาวเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้น
<Howard> Howard คงเหนื่อยล่ะที่จะชักชวนให้ลูกขายหุ้นที่เกินมูลค่า เขาเลยถามลูกไปว่าแล้วมันมีจุดไหนไหมที่ลูกจะเริ่มขายหุ้น
<Andrew> ทางทฤษฎีแล้วน่าจะมีแต่มันก็ขึ้นอยู่กับ 1)พื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดไว้ 2)มีโอกาสในการซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าตัวนี้ที่เขาถือแล้วสบายใจ
Howard สรุปว่านักลงทุนควรจะขายหุ้นด้วยการพิจารณาสองสิ่งที่เกี่ยวข้องกันในสถานการณ์ดังนี้
👉🏻 ถ้าทฤษฎีการลงทุนของคุณดูเหมือนว่าจะไม่ถูกต้องแล้วจากที่เคยคิดไว้ และ/หรือ มันมีข้อมูลบางอย่างบอกไว้อย่างนั้น มันก็อาจจะเป็นโอกาสดีที่ขายหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดทิ้งไป
👉🏻 ถ้านักลงทุนเจอหุ้นตัวใหม่ที่มีอนาคตมากกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า มันก็ดูเหมาะสมที่จะขายหุ้นที่ถือทิ้งไป
การขายหุ้นคือขบวนการตัดสินใจที่ต้องทำควบคู่กันไปแผนงานที่จะทำต่อไป เมื่อเราขายหุ้นทิ้งก็คิดว่าจะเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวไหนต่อ อะไรที่เราอาจจะเสียโอกาสไปเมื่อย้ายไปหุ้นตัวใหม่ หรือเราจะพลาดอะไรไปถ้าเราถือหุ้นต่อไปในพอร์ต จะดีกว่าขายทิ้งไหม คำถามพวกนี้เชื่อมต่อไปที่เรื่องค่าสูญเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost ที่สำคัญมากในขั้นตอนการตัดสินใจทางด้านการเงิน
จะเกิดอะไรขึ้นกับไอเดียการขายหุ้นทิ้งก่อนเกิดวิกฤตที่เราคิดว่ามันกำลังจะมากระทบหุ้นเราหรือตลาดโดยรวม มันมีปัญหาอย่างแท้จริงที่จะเกิดขึ้นกับไอเดียนี้
👉🏻 ทำไมการขายหุ้นที่คุณคิดว่ามีอนาคตดีในระยะยาว เพียงเพราะว่าคุณต้องการเตรียมพร้อมรับมือกับตลาดที่จะตกลงชั่วคราว
👉🏻 การทำแบบนั้นอาจจะทำให้คุณผิดพลาดได้เพราะว่าหุ้นอาจจะไม่ตกจริงก็ได้
👉🏻ชาร์ลี มังเกอร์เคยชี้ว่าการขายหุ้นเพื่อคาดการณ์ตลาด (Marketing-timing) จริงๆแล้วทำให้นักลงทุนผิดพลาด 2 ข้อ ข้อแรกคือหุ้นอาจจะไม่ตกอย่างที่เราคิด ข้อสองคือถ้ามันเกิดขึ้นจริง คุณก็ต้องทำนายได้แม่นยำว่าเมื่อไหร่จะเป็นจังหวะเวลาที่ถูกต้องที่จะซื้อหุ้นคืนในราคาต่ำกว่า
👉🏻 ถ้าคุณคิดผิดหุ้นไม่ลงอย่างที่คาดไว้แต่เราขายหุ้นไปแล้ว เราก็เสียโอกาสทำกำไร และอาจจะไม่สามารถกลับไปซื้อหุ้นได้อีกเลยเพราะราคาวิ่งสูงขึ้นไปแล้ว
ดังนั้นมันไม่ใช่ไอเดียที่ดีเลยที่จะขายหุ้นด้วยการคาดการณ์ตลาด มันมีโอกาสน้อยมากๆเลยที่จะทำกำไรได้ มีไม่กี่คนที่มีความสามารถทางด้านนี้ที่จะได้ประโยชน์จากมัน ด้วยการขายหุ้นทิ้งเพื่อไปช้อนซื้อในราคาที่ต่ำกว่า
✅ Howard เชื่อว่านักลงทุนกระจายความเสี่ยงในการจัดพอร์ตแม้แต่นักลงทุนชื่อดังก็ตาม เขาไม่เคยได้ยินเลยว่านักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวในพอร์ต โดยเขาเหล่านั้นอาจจะให้น้ำหนักเยอะกับสินทรัพย์ที่เขารู้จักแต่ก็จะกระจายไปในสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ เขายกตัวอย่างที่เขาคุยกับลูกชายเขาดังนี้
<Howard> ลูกมีพอร์ตหุ้นที่กระจุกตัวอยู่ หุ้น XYZ เป็นหุ้นที่ลูกลงในสัดส่วนเยอะอยู่แล้วตั้งแต่ตอนซื้อ พอตอนนี้ราคาปรับขึ้นมา หุ้นมันยิ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นไปอีก นักลงทุนที่ชาญฉลาดจะโฟกัสไปที่และถือความได้เปรียบในหุ้นโดยที่เขาเข้าใจและพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงหรือขายตัวที่ขึ้นออกไปบ้างเพื่อจำกัดโอกาสพอที่จะเสียหายจากสิ่งที่เราไม่รู้ ลูกไม่คิดเหรอว่าตัวนี้มันเข้าข่ายสิ่งที่พ่อเพิ่งพูดไป
<Andrew> มันก็อาจจะจริงขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเรา การลดสัดส่วนหุ้น XYZ เหมือนการขายหุ้นที่เขารู้สึกมั่นใจเพราะทำการบ้านมาดีและสบายใจที่จะถือครองออกไป แล้วย้ายไปถือหุ้นตัวที่เขารู้สึกดีน้อยกว่าหรือรู้จักน้อยกว่า สำหรับเขามันดีกว่ามากเลยที่จะถือครองหุ้นไม่กี่ตัวซึ่งเป็นตัวที่เขารู้สึกเชื่อมั่น ผมเชื่อว่ามันมีหุ้นสองสามตัวเท่านั้นที่เขารู้ลึกจริงๆในชีวิตนี้ ดังนั้นเขาจึงต้องสร้างประโยชน์กับมันให้สูงสุดด้วยการถือมันต่อไป
นักลงทุนมืออาชีพทุกคนต้องการผลงานดีเพื่อลูกค้าและตัวเอง หรือแม้แต่นักลงทุนมือสมัครเล่นก็ยังต้องพยายามจำกัดความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จากเหตุผลเหล่านี้ นักลงทุนส่วนมากจึงต้องจำกัดสัดส่วนการซื้อสินทรัพย์นั้นๆ และลดสัดส่วนลงเมื่อราคาปรับขึ้น
โดยสรุป:
👉🏻 พวกเราควรจะตัดสินใจในการลงทุนโดยใช้พื้นฐานของการประเมินโอกาสเติบโตของแต่ละสินทรัพย์
👉🏻 พวกเราไม่ควรจะขายหุ้นเพียงเพราะว่าราคามันปรับขึ้นและหุ้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเยอะ
👉🏻 มันมีเหตุผลที่ถูกต้องที่จำกัดขนาดของการถือครองสินทรัพย์นั้นๆของพวกเรา
👉🏻 แต่มันไม่มีทางเลยที่เราจะใช้วิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ชั้นสูงมาหาจุดที่สมดุลย์ของการจำกัดขนาดของสินทรัพย์ในพอร์ต
✅ ใครที่เข้าวัยทำงานแล้วเริ่มลงทุนทันที และไม่ลดสัดส่วนของหุ้นด้วยการเทรด Howard มั่นใจว่าเขาจะสบายเมื่อตอนเกษียณ
✅ Howard เชื่อว่าช่วงเวลา (Time) เข้าซื้อในช่วงวิกฤต ไม่ใช่การคาดการณ์ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง (Market Timing) คือกุญแจสำคัญที่จะสร้างความร่ำรวยให้เราในตลาดหุ้น เขากล่าวว่าจากประวัติศาสตร์ของอเมริกา ช่วงที่ตลาดให้ผลตอบแทนดีที่สุดคือช่วงตลาดเกิดความกลัวมากที่สุดตัวอย่างเช่น ช่วงต้นปี 2020 ตอนที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก ช่วงนั้นตลาดมีความกลัวสูงสุด ใครกล้าซื้อก็ได้กำไรมหาศาล
✅ Howard แชร์ข้อมูลจาก JP Morgan Asset Management ไว้ว่าในช่วงระยะเวลา 20 ปีระหว่างปี 1999 ถึง 2018 ผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 5.6% แต่ผลตอบแทนของคุณจะลดลงเหลือแค่ 2% ถ้าคุณขายหุ้นออกไปในช่วงวันที่ดีที่สุด 10 วัน และผลตอบแทนจะเป็นศูนย์ถ้าคุณพลาดวันที่ดีที่สุดไป 20 วัน อย่าซื้อขายบ่อยๆเพราะนอกจากเสียค่าคอมฯเยอะแล้ว คุณอาจจะพลาดโอกาสทำกำไรในวันที่หุ้นปรับขึ้นเยอะๆด้วย
✅ Howard บอกว่าที่กองทุน Oaktree ไม่ใช้วิธีเทรดหุ้นเพื่อสร้างผลกำไรแต่เขาใช้วิธีการลงทุนโดยมองไปที่สินทรัพย์ที่สามารถประเมินโอกาสการเติบโตในระยะยาว เขาลงทุนเต็มจำนวนเงินตลอดเวลา ทีมเขาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในช่วงบรรยากาศของตลาดที่เปลี่ยนไป ในบางครั้งก็ปรับกลยุทธ์เป็นแบบเชิงรับมากขึ้น ระวังตัวมากขึ้น แต่เราไม่เคยขายหุ้นทิ้งแล้วถือเงินสดเลย
เขาปิดท้ายด้วยการกล่าวว่าการถือหุ้นที่ราคาลดลงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่าชื่นชม แต่การที่เขาพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนเพราะว่าไม่ได้ซื้อหุ้นที่ถูกจ้างมาให้ซื้อ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้
ผมได้เรียนรู้เยอะมากจาก Memo นี้ที่เขียนโดยนักลงทุนระดับโลก คุ้มค่ามากครับ
เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดมาอ่านกันได้ที่ลิงค์นี้ครับ
ผมทำกลุ่มปิดใน Facebook สำหรับการลงทุนหุ้นอเมริกาและจีนโดยมีค่าสมาชิกรายปีอยู่ที่ 2,999 บาทต่อคน
สมัครเข้าร่วมกันได้ที่ www.billionairevi.com/registration
โดยค่าสมาชิกจะถูกนำไปซื้อบทวิเคราะห์จากต่างประเทศในเวปชื่อดัง เช่น SeekingAlpha, The Motley Fool, Morningstar รวมทั้งข่าวจาก CNBC, Bloomberg, Businessinsider, The Economist รวมทั้งหาคนมาช่วยเขียนบทความครอบคลุมตลาดจีนมากขึ้น
โฆษณา