20 ม.ค. 2022 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
มองทุกมิติ อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวง
ไม่ใช่แค่กระจายความเจริญ แต่หนีวิกฤตเมืองจมน้ำ
ปัญหาความแออัดสะสมที่เกินเยียวยา
2
ในที่สุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม รัฐสภาอินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมายอนุมัติให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา บนเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่เกาะหลักของประเทศ ที่มีประชากรมากที่สุดถึง 120 ล้านคน ไปยังเกาะบอร์เนียวที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บนพิกัดที่ตั้งในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ระยะทางประมาณ 1,300 กิโลเมตร และใช้ชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่ว่า “นูซันตารา” ที่แปลว่า หมู่เกาะ ซึ่งสะท้อนลักษณะความเป็นประเทศอินโดนีเซียที่มีเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 10,000 แห่ง
เดิมทีแผนการประกาศย้ายเมืองหลวงจะต้องได้รับการอนุมัติตั้งแต่ปี 2019 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องมีการชะลอแผนดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อรับมือกับวิกฤตที่นับได้ว่าสร้างความสูญเสียให้กับประเทศอินโดนีเซียทั้งทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลีคลาย โปรเจคการย้ายศูนย์กลางการบริหารประเทศก็กลายเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลของ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ต้องเร่งให้รัฐสภาอนุมัติ เพื่อเตรียมแผนลงมือก่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา ที่นับว่าเป็นอภิมหาเมกะโปรเจคของประเทศที่ใช้งบประมาณสูงถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.06 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดินประเทศไทยในปีปัจจุบันที่ 3.1 ล้านล้านบาท
นับเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย โดยมีกรอบเวลาดำเนินการย้ายเมืองในเฟสแรกคือระหว่างปี 2022 - 2024 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างถนนและท่าเรือก่อน เพื่อให้การขนส่งเข้าถึงพื้นที่ ขณะที่บางโครงการจะเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ
🔵 สานฝันปั้นเมืองสีเขียวอัจฉริยะ
ด้วยขนาดพื้นที่ 2,561 ตารางกิโลเมตร ของเมืองหลวงแห่งใหม่ อินโดนีเซียหวังจะสร้างเมืองที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคทื่ทุกอย่างต้อง “สมาร์ต” โดยเมืองแห่งนี้วางแผนที่จะเป็นเมืองอัจฉะริยะด้วยการวางโครงข่ายระบบโทรคมนาคมที่สำคัญต่อการติดต่อสื่อสารด้วยระบบความเร็วสูง นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ และเหมาะแก่การใช้ชีวิตในอุดมคติ
1
โดยจะเริ่มก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ในปี 2024 และคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีหรือมากกว่านั้น ที่กระบวนการก่อสร้างและย้ายหน่วยงานต่างๆ พร้อมผู้คนซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นข้าราชการที่ต้องทำงานในหน่วยงานเหล่านี้
ความจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวง เหตุหมดทางแก้ปัญหาสะสม
1
กรุงจาการ์ตา นับว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนตามทะเบียนราษฎร์ราว 10.3 ล้านคน บนพื้นที่ 661.5 ตารางกิโลเมตร ขณะที่กรุงเทพฯ มีประชากรโดยใช้เกณฑ์เดียวกันราว 5.7 ล้านคน บนพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร
แต่ถ้าหากรวมประชากรในเขตปริมณฑล ที่ถูกรวมอยู่ในพื้นที่เขตมหานครจาการ์ตาแล้ว จะมีประชากรมากถึง 31 ล้านคน นับว่าเป็นเขตมหานครที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีประชากร 37 ล้านคน
ด้วยจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น บนพื้นที่เมืองที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำริมทะเลชวา ทำให้เมืองแห่งนี้เผชิญปัญหามากมาย โดยเฉพาะความแออัดของเมือง ที่ไม่อาจจะขยายตัวได้เพิ่มอีกต่อไป เพราะแม้แต่ในเขตปริมณฑลทั้งจังหวัดบันเตน เบกาซี และชวาตะวันตก ต่างก็มีความหนาแน่นสูงอยู่แล้วจากการรองรับการประขากรที่ล้นออกมาจากเขตเมืองหลวง ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาคนล้นเมือง การจราจรติดขัดซึ่งติดอันดับ 1 ของโลกในช่วงหลายปีติดต่อกัน รวมทั้งปัญหาสลัมและชุมชนแออัดที่นับได้ว่าเป็นมหานครที่มีสลัมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ไม่อาจแก้ไขให้เบาบางลดลงได้ มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรที่เข้ามาอยู่ในเขตเมืองหลวง
ประกอบกับกรุงจาการ์ตาประสบปัญหาพื้นดินทรุดตัวลงอย่างรุนแรงทุกปี เนื่องจากกฎหมายอินโดนีเซียยังไม่ได้ห้ามเรื่องการใช้น้ำบาดาล ฉะนั้นบ้านทุกหลัง ตึกสูงทุกแห่งยังสูบน้ำบาดาลมาให้อย่างต่อเนื่อง พื้นดินในเมืองหลวงแห่งนี้ทรุดตัวลงเฉลี่ยประมาณ 15 – 25 เซนติเมตรต่อปี ทำให้ในช่วงฤดูมรสุมต้องเผชิญกับน้ำท่วมรุนแรง
หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่องปี 2554 ที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวง ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้มักจะเกิดแบบนานครั้ง ในรอบสิบปีหรือหลายสิบปี แต่ที่กรุงจาการ์ตากลับต้องเผชิญน้ำท่วมหนักเหมือนกับที่กรุงเทพฯ เคยเผชิญในทุกๆ ปี และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ในทุกๆ ปีไม่ต่ำกว่า 20 ราย
1
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองที่ตั้งอยู่บนปากแม่ และมีแม่น้ำถึง 13 สายไหลผ่านเมือง จึงเป็นจุดที่ทำให้จาการ์ตาไม่อาจรอดพ้นน้ำท่วมหนักไปได้ แม้จะมีความพยายามในการหาทางป้องกัน แต่ด้วยการที่แม่น้ำในกรุงจาการ์ตาไม่สามารถมีศักยภาพในการทำหน้าที่ของตัวมันเองได้อย่างเต็ม เนื่องจากเผชิญกับการบุกรุกเส้นทางน้ำจากสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ และการที่มีขยะลอยอยู่เต็มแม่น้ำอย่างหนาแน่น ก็เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการไหลของน้ำ
แม่น้ำบางสายที่ในอดีตเคยเป็นสายน้ำตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่ทะเล แต่ปัจจุบันอาจจะไม่เหลือแม่น้ำโบราณเหล่านี้อยู่แล้ว เนื่องจากเกิดการถมแม่น้ำ สร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมา เหมือนกับที่ประเทศไทยในอดีตเคยมีการถมคลองเพื่อเปลี่ยนเป็นถนน
ฉะนั้นแม่น้ำ 13 สายในกรุงจาการ์ตาที่เคยไหลเวียน กลับเหลือแม่น้ำที่อยู่ในสภาพดีเพียง 4 สายเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไม เมืองหลวงขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียถึงต้องเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงทุกปี
1
🔵 การย้ายเมืองหลวง อาจ(ไม่)เท่ากับ กระจายความเจริญ
จากที่เช็คกระแสในสังคมออนไลน์ของไทยเกี่ยวกับข่าวนี้ หลายคนเชื่อว่าการที่อินโดนีเซียประกาศย้ายเมืองหลวงไปอยู่ไกลจากที่เดิมนับพันๆ กิโลเมตร หลายคนมองว่านี่จะเป็นการกระจายความเจริญ กระจายความแอดอัด แก้ปัญหารถติดให้กับเมืองหลวงเดิมได้ และมักมีการหยิบยกข่าวการย้ายเมืองหลวงในอดีตของไทยมาพูดถึงด้วยนั้น
อันที่จริงการย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่อื่น อาจจะไม่ใช่คำตอบของการกระจายความเจริญ เพราะมันเป็นการย้ายศูนย์กลางอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีทั้งหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐทั้งกระทรวง กรม กอง สำนัก หรือแม้แต่กองทัพ ออกไปจากพื้นที่เดิม ย้ายข้าราชการพลเรือน ข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการทหาร ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง ที่อาจมีเพียงหลักแสนคนออกไป
1
แต่ภาคธุรกิจไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ฉะนั้นจาการ์ตายังคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม แม้จะไม่ได้เป็นเมืองหลวงแล้วก็ตาม แต่ผู้คนต่างก็ยังหลั่งไหลเข้ามาทำงานหาเงินอยู่ดี ซึ่งก็คงเป็นเรื่องยากที่จะลดความแอดอัดของเมืองลงได้
จากประวัติศาสตร์การย้ายเมืองหลวงของหลายประเทศก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีเมืองหลวงใดเลยที่จะมีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของเมืองขึ้นมาเทียบเท่าเมืองหลวงเก่า เพราะมันกลายเป็นเมืองราชการ ที่มีแต่ข้าราชการเต็มเมืองไปหมด ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ยกตัวอย่างเช่น เมืองปุตราจายา ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2003 ด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้สวยงาม เป็นหน้าเป็นตา หวังจะดึงดูดให้ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ แต่สุดท้ายแล้วเมืองนี้ก็เป็นได้แค่เมืองราชการเมืองหนึ่ง ที่แทบจะไร้ชีวิตชีวา ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ เพราะผู้คนในเมืองแค่เดินทางไปทำงานในตอนเช้า ตกเย็นก็กลับบ้าน เพราะไม่ได้มีสถานที่เอาไว้ไปไหนต่อ ส่วนเสาร์ - อาทิตย์ คนในปุตราจายาก็หลังไหลเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวใช้ชีวิตในกรุงกัวลาลัมเปอร์อยู่ดี
หรือแม้แต่ กรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิล ที่ย้ายจากเมืองริโอ เดอจาเนโร ที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแอตแลนติก เข้าไปอยู่ในใจกลางประเทศในเขตป่าอเมซอนตั้งแต่ปี 1960 ก็ยังพัฒนาขึ้นมาเป็นได้แค่เพียงเมืองระดับกลางของประเทศ ที่ไม่ได้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรมากไปกว่างานราชการแผ่นดิน
ที่สำคัญคือก็ไม่ได้ทำให้เมืองริโอฯ แออัดน้อยลงแต่อย่างใด
รวมทั้งกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมาที่ย้ายมาจากนครย่างกุ้ง รวมทั้ง กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรียที่ย้ายมาจากนครลากอส และนูร์-ซุลตัน เมืองหลวงของาซัคสถาน ที่ย้ายมาจากเมืองอัลมาตี ก็ไม่ได้มีความเจริญมากเพียงพอที่จะเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเมืองหลวงเก่า ที่เป็นทั้งศูนย์กลางการบริหารประเทศ และเป็นเมืองเศรฐกิจ การค้า การลงทุนในที่เดียว
ฉะนั้นการย้ายเมืองหลวงอาจจะไม่ได้ไปสร้างความเจริญ หรือกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่นที่ตั้งเมืองใหม่ เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่ย้ายไปเป็นเพียงหน่วยงานราชการเป็นหลัก ซึ่งข้าราชการเกือบทุกประเทศในโลกนี้ไม่ใช้กลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อหรือมีรายได้สูง ฉะนั้นอาจจะไม่ใช้ฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเมืองใหม่ให้เจริญเติบโตแบบที่หลายคนคิด
1
และการย้ายหน่วยงานราชการไปยังเมืองใหม่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความแออัดของเมืองหลวงเดิมลดลง แต่ข้อดีก็คือหน่วยงานราชการจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความแออัด การเดินทางที่ไม่สะดวกสบาย ซึ่งอาจจะทำให้การทำงานดีขึ้น ประเทศอาจจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องมาเผชิญกับปัญหาที่กินแรงคนทำงานทั้งเช้าละเย็นในทุกๆ ที่ไปทำงานหรือกลับบ้าน
แต่สำหรับอินโดนีเซียแล้ว ด้วยเงื่อนไขที่ไม่อาจรื้อเมืองหลวงเก่าอย่างกรุงจาการ์ตา เพื่อสางปัญหาดั้งเดิมที่สะสมมาอย่างยาวนานจนเกินเยียวยา การย้ายเมืองหลวงไปยังนูซันตาราคงเป็นคำตอบสุดท้ายที่เหมาะสมที่สุดแล้ว
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา