20 ม.ค. 2022 เวลา 02:57 • ท่องเที่ยว
ภูหินร่องกล้า ในวันที่ฟ้าสีทอง @ ลานหินปุ่ม ผาชูธง
ก่อนเดินทางมาท่องเที่ยวยาวๆในทริปที่เริ่มต้นจาก ภูหินร่องกล้า จนมาจบลงที่เมืองชาละวัน ฉันไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากไปกว่าการได้ออกเดินทางไกลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเยียวยาตัวเองจากเวลาที่มีเหลือเฟือหลังจากที่ไวรัสโควิดระบาด จนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านติดต่อกันมากกว่าหนึ่งปี
.. การเดินทางครั้งนี้เริ่มแค่เพียง ความหวังเพียงจะได้บันทึกความแตกต่างผ่านเลนส์กล้อง แล้วเก็บไว้ในความทรงจำ
.. แต่ หลังจากหลายวันที่ระหกระเหินไปตามเส้นทางที่บางส่วนทั้งลำบากและยาวไกล ฉันได้พบกับดินแดนที่สวยงามอย่างยิ่ง .. และแน่นอน การเดินทางขยายความเข้าใจ รวมถึงได้ช่วยหล่อหลอมจิตวิญญาณของเราด้วย
เราก็อาจออกเดินทางจากเมืองหลวงในวันที่บรรยากาศโดยรวมดูจะเป็นใจในการท่องเที่ยวของช่วงกลางเดือนมกราคม .. ผ่านทิวทัศน์ อันเขียวขจีของภูผา ที่ขนาบสองฟากฝั่งถนน เพื่อมุ่งหน้าสู่…ป่า…เขา… ธรรมชาติ ความสดชื่น โดยจุดหมายแรกอยู่ที่ “ อุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้า ”
“ภูหินร่องกล้า” .. ดินแดนแห่งเทือกเขาสลับซับซ้อน ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มียอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล ภูหินร่องกล้า โดยที่ภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,820 เมตรจากระดับน้ำทะเล
“ อุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้า ” .. ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิแห่งการสู้รบในช่วงปีพ.ศ. 2511-2525 ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดง ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความตายระหว่างการสู้รบของคน 2 กลุ่ม คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับ ฝ่ายความมั่นคง
.. และสุดท้าย ฝ่ายความมั่นคงประกาศใช้การเมืองนำการทหาร เปิดโอกาสให้เหล่านักศึกษาประชาชนที่หนีเข้าป่า กลับคืนสู่เมืองมาช่วยกันพัฒนาชาติไทย หลังจากนั้นมาดินแดนภูหินร่องกล้าก็ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่ง ชาติ ลำดับที่ 48 ของประเทศไทย
.. จากวันนั้นเป็นต้นมา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้กลายเป็นพื้นที่ของการท่องเที่ยวตามรอยผู้กล้า ซึ่งกลายเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงร่องรอยสมรภูมิประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับความงามอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้ง ป่าไม้ น้ำตก ภูผา และลานหินรูปร่างแปลกตา
เราเข้าพักในบ้านพักของอุทยานที่แฝงกายอยู่ในอ้อมกอดของต้นไม้ใหญ่ที่ร่มรื่น และเมื่อกายพร้อม ใจพร้อม เราก็จะเริ่มการเดินทางสู่พื้นที่ส่วนหนึ่งในอุทยานแห่งนี้ค่ะ
พิพิธภัณฑ์การสู้รบ .. ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เป็ฯแห่งแรกที่เราแวะเข้าไปเยือน เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของที่นี่ โดยมีวิทยากรของอุทยานบรรยายความเป็นมาให้ฟัง
ที่นี่ ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบในอดีต มีสภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาภูหินร่องกล้า
เราเริ่มออกเดินเข้าสู่เส้นทางลานหินปุม และผาชูธงในช่วงเวลาบ่ายคล้อยแล้ว และหวังว่าเราจะทันพอดีๆในการเก็บแสงตะวันในยามที่สีทอง ส้ม เหลืองอาบไล้ลานหินให้เป็นภาพที่สวยงามแปลกตา
ในช่วงต้นของการเดินทาง .. เมื่อเดินผ่านทางเข้าที่มีร่มไม้เขียวขจีออกมาแล้ว จะเป็นลานหินกว้างๆ มองเห็นป่าอยู่เบื้องหน้า
การเดินในเส้นทางลานหินปุ่มมีระยะทางเป็นวงกลมรวมกันราว 3,726 เมตร เป็นทางที่ไม่ราบเรียบ อาจจะมีบางส่วนที่ต้องผ่านป่า ผาหิน ลานหินสูงๆต่ำๆ แต่ไม่ลำบากมาก .. แค่ต้องระวังนิดหน่อยในการก้าวเดินเพื่อไม่ให้พลาดหกล้ม หรือเท้าแพลง
เส้นทางเดินชมธรรมชาติเส้นนี้ สามารถเดินเป็นวงกลม แล้วกลับมาจุดเริ่มต้นได้เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง .. เราใช้เส้นทางวนซ้าย
เมื่อเข้าเขตที่เป็นป่า สลับกับโขดหินตามธรรมชาติรูปร่างแปลกตาแล้ว .. ระหว่างทางจะมีธรรมสวยงามให้ชมไปตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นลานหินและก้อนหินรูปร่างประหลาดอย่าง “ผาหินกบ” ก้อนหินใหญ่มองดูคล้ายกบเกาะอยู่บนหิน “ผาหัวใจหิน” รูปร่างคล้ายหัวใจ และ “ผานาคราช” เป็นต้น
เส้นทางเดินช่วงถัดไปเป็นป่าโปร่ง สลับกับหินผาในรายทาง อาจจะมองเห็นรอยแยกของหินบ้าง แต่ไม่มีร่องลึกหรือใหญ่เท่าที่ลานหินแตก และมีสะพานให้ก้าวเดินข้ามสบายๆ ..
.. หากมาเยือนภูหินร่องกล้าในช่วงฤดูฝนราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ลานหินในเส้นทางนี้ก็จะเพิ่มความงามด้วยดอกไม้ป่าหน้าฝนบนลานหิน ที่จะเบ่งบานอวดโฉมน่ารักๆ ไปตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น “ดอกเปราะภู” ดอกไม้สีขาวกลีบบางขึ้นอยู่เป็นดงตามพื้นดิน “ลิ้นมังกร” สีส้มสดเด่นอยู่ตามพื้นดิน “ตาเหินไหว” ออกดอกสีขาวชูช่อเป็นริ้วพลิ้วไหวตามลม ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ “ดอกหงส์เหิน” ที่ดูคล้ายกับหงส์สีส้มน่ารัก สีสันสวยงาม ที่มักชูใบออกช่อดอกสวยงามในช่วงหน้าฝนอยู่บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาชูธงและลานหินปุ่ม
.. แต่ช่วงที่เราไปเยือนพื้นที่ออกจะแห้งแล้ง ต้นไม้ใบไม้ดอกเหล่านี้จึงยังไม่เริงร่า รับความสดชื่นของน้ำฝน แต่ก็มีส่วนดรตรงที่ทำให้การเดินง่ายขึ้นมาก
“ลานหินปุ่ม” อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผาสูงระดับ 1,262 เมตรจากระดับน้ำทะเล .. เป็นไฮไลท์สำคัญในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีลักษณะเป็นลานหินขนาดย่อมริมหน้าผา ซึ่งมีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่ม เป็นปม ขนาดไล่เลี่ยกันผุดขึ้นมาเต็มไปหมดอย่างน่าอัศจรรย์
.. สันนิษฐานว่าเกิดจากรอยแตกของลานหินที่มีขนาดเล็กเมื่อเกิดการผุพังทลาย ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี ฟิสิกส์ จะกัดเซาะหินเป็นแท่ง จากนั้นเมื่อปะทะกับสายลมและสายน้ำ รอยแตกเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะมีลักษณะกลมมนคล้ายปุ่มหินหรือเสาหินเตี้ย ๆ เรียงรายกันเป็นแนว ปุ่มหินเหล่านี้มีความสูง 15-25 เซนติเมตร โดยประมาณ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 30 เซนติเมตร
ในด้านประวัติศาสตร์ .. ลานหินปุ่มเคยถูกใช้เป็นที่สำหรับพักฟื้นของพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากอยู่บนหน้าผา จึงมีลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การนั่งพักผ่อน แต่ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ถูกไฟป่าไหม้หมดแล้วเหลือเพียงหลักฐานที่บ่งบอกบางส่วนเท่านั้น โดยเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
เรามาถึงลานหินปุ่มใวงเวลาเย็น .. ในยามที่ดวงสุริยันเปล่งแสงสีเหลืองทอง สีแดง สีส้มอาบไปทั่วขอบฟ้า ทำให้ความเหนื่อยถูกแทนที่ด้วยความปิติ เบิกบานและอิ่มเอิบใจ เหมือนกับการเติมพลังให้กับชีวิต จากวินาทีที่เห็นภาพงดงามที่สุดในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
"...เก็บตะวันที่เคยส่องฟ้า เก็บเอามาเก็บไว้ในใจ เก็บพลังเก็บแรงแห่งแสงยิ่งใหญ่ รวมกันไว้ให้เป็นหนึ่งเดียว..."
การเก็บดวงตะวันไว้ในดวงใจ นอกจากจะเก็บไว้ในภาพถ่ายแล้ว .. ถือเป็นความทรงจำอันเพริศแพร้วอย่างหนึ่ง ยิ่งดวงอาทิตย์อันงดงามกลมโตของช่วงเย็นในหน้าหนาวแล้ว ยิ่งมีความวิจิตรงดงาม แถมยังแฝงไว้ด้วยปรัชญาและความท้าทายสำหรับผู้ที่ค้นพบมัน
นักเดินทางแต่ละคนจึงเลือกสถานที่เก็บตะวันไว้ในจิตใจและในความทรงจำที่แตกต่างกันออกไป
บริเวณนี้ยังเป็นจุดชมวิวความเขียวขจีของผืนป่าเบื้องล่างได้เป็นอย่างดี และในบางวันอาจมีหมอกพัดพามาปกคลุมก็มองดูสวยงามไปอีกแบบ
“.. ออกเดินทางต่อไปที่ผาชูธงนะครับ เดี๋ยวจะมืดก่อนเดินทางกลับ” .. เจ้าหน้าที่อุทยานตะโกนบอกนักท่องเที่ยวที่ยังคงลุ่มหลงแสงตะวัน และกดชัตเตอร์มือเป็นระวิง
พื้นหินในทางผ่านสู่ผาชูธง มีลักษณะแปลกตา ที่ใครบางคนบอกว่าเหมือนเกล็ดพญานาค .. เพื่อนนักธรณีวิทยาบอกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี จนมีสภาพอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้
เราเดินอย่างเร่งรีบ พยายามไล่ตามดวงตะวัน ในขณะที่ในใจภาวนาว่าขอให้เราไปทันแสงสุดท้ายก่อนที่พระอาทิตย์จะจูบลาโลก หลีกทางให้ดวงจันทราเข้ามาโอบกอดผืนโลกแทน .. บรรยากาศและทิวทัศน์ระหว่างทางสวยจนต้องเก็บภาพมากฝากเพื่อนๆอีกหลายช๊อต
“ผาชูธง” อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้อย่างสวยงามกว้างไกล และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม
ผาชูธงในอดีตเคยเป็นจุดชูธงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อรบชนะทหารของรัฐบาลก็จะขึ้นไปชูธงแดงรูปค้อนเคียว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และเพื่อส่งข่าวสาร ส่วนปัจจุบันบนผาชูธงมีธงชาติไทยปักอยู่ สามารถขึ้นไปชมวิวที่สวยงามด้านบนได้
เมื่อมาถึงผาชูธงก็ถือได้ว่าเกินครึ่งทางมาแล้ว เดินต่อไปอีกจะพบ “ซันแครก” หินรูปร่างแปลกที่ดูคล้ายหมอนหินวางซ้อนกัน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วและการกัดเซาะของน้ำและอากาศจนลานหินดูคล้ายเป็นเกล็ดมนๆ ไปทั่วพื้นที่
จากจุดนี้สามารถเดินวนไปสู่ทางออกทางเดิมได้ แต่หากยังอยากเดินเที่ยวชมต่ออีกหน่อย เดินเข้าไปต่อจากซันแครกจะพบกับลานอเนกประสงค์ ลานหินกว้างที่ พคท. เคยใช้เป็นที่พักผ่อน และสังสรรค์ในหมู่สมาชิกในโอกาสสำคัญต่างๆ
ความมืดย่างกายเข้ามาโฮบกอดผืนดินอย่างรวดเร็วหลังพระอาทิตย์อัสดง .. แม้ว่าเรายังอยากที่จะไปเยือนอีกบางสถานที่ เช่น “สำนักอำนาจรัฐ” ซึ่งเป็นเหมือนที่ทำการของ พคท. คล้ายกับศาลากลางจังหวัด โดยบริเวณนี้แต่เดิมมีบ้านไม้อยู่เป็นกลุ่ม มีโรงอาหาร โรงทอผ้า สถานที่อบรม เป็นสถานที่พิจารณาโทษผู้กระทำความผิด คุก และบ้านพักของผู้บริหารพรรค
.. รวมถึง “ที่หลบภัยทางอากาศ” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณสำนักอำนาจรัฐ อันมีลักษณะเป็นเพิงหินใหญ่ที่สามารถซ่อนตัวจากเครื่องบินลาดตระเวนและการก่อกวนฐานที่มั่นเป็นที่หลบภัยอย่างดี บรรจุคนได้ประมาณ 200 คน
.. แต่เราไม่สามารถทำได้ จำพใจต้องเดินฝ่าความมืดออกมาให่ทัน ก่อนจะเกิดการหลงทาง และก่อปัญหาให้เพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ
อุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้า .. เป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่รักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ ของการสู้รบและความสวยงามทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ สวยงามแปลกตาผิดจาก อุทยานแห่งชาติโดยทั่วไป .. เราจึงหวังว่าจะได้กลับมาเยือนที่นี่อีกหลายๆครั้ง
สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตู้ ป.ณ. 3 อ.นครชัย จ.พิษณุโลก 65120 โทร. 0-5523-3527
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ 61 ถนนพหลโยธิน
เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา