20 ม.ค. 2022 เวลา 03:24 • สัตว์เลี้ยง
มดลูกอักเสบในสัตว์เลี้ยง
มดลูกอักเสบ (pyometra) คือ โรคมดลูกอักเสบแบบมีหนองอยู่ในตัวของมดลูก บางครั้งอาจถูกเรียกสั้นลงว่า “มดลูกอักเสบ” หรือ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า “pyometra” เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งในสุนัขและแมว สาเหตุการเกิดนั้นมักประกอบด้วยหลายปัจจัยดังนี้
1. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
เรามักพบมดลูกอักเสบในช่วงระยะหลังการเป็นสัด (diestrus) เนื่องจากจุลกายวิภาคภายในมดลูกจะปรับเปลี่ยนไปตามการทำงานของฮอร์โมนเพศโปรเจนเตอโรนที่มีผลต่อการเจริญของต่อมภายในผนังมดลูก (uterine gland) และมีการสร้างสิ่งคัดหลั่งจากต่อมนี้ เมื่อพ้นระยะหลังการเป็นสัดในช่วงที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำลง (anestrus) ผนังมดลูกบางลงพร้อม ๆ กับต่อมภายในผนังมดลูกฝ่อเล็กลงไป อย่างไรก็ดีในสัตว์ที่ผ่านวงรอบการเป็นสัดหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ ปี หรือได้รับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนเพิ่มเติมจากการฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งปัจจุบันยกเลิกการใช้ในประเทศไทยแล้ว เมื่อฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนมีผลต่อการเจริญของผนังมดลูกบ่อยขึ้นจะพัฒนาสู่ภาวะผนังมดลูกหนาตัวและมีถุงน้ำ (Cystic EndometriumHyperplasia: CEH) ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อและเกิดมดลูกอักเสบตามมา
2. การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ภายในมดลูก
ในธรรมชาติแล้วส่วนระบบทางเดินปัสสาวะส่วนท้ายสามารถพบเชื้อแบคทีเรียทั่วไปได้ (normal flora) โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดโรค ในช่วงระยะเวลาที่เพศเมียเป็นสัดนั้น ปากมดลูกจะคลายตัว เรียกว่า “ปากมดลูกเปิด” เอื้ออำนวยต่อการผสมพันธุ์เพื่อให้น้ำเชื้อผ่านเข้าไปในมดลูกได้ดี ซึ่งก็เป็นโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียทั่วไปสามารถผ่านเข้าทางปากมดลูกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
3. อายุและสุขภาพของสัตว์ สัตว์อายุน้อยกว่า 5 ปี
ถือว่าอยู่ในวัยที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านเข้าในมดลูกได้ดีกว่าสัตว์ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือสัตว์ที่อายุมากและสัตว์ที่อายุน้อยยังไม่พบความหนาหรือการสะสมของต่อมภายในผนังมดลูกที่เจริญมากขึ้น (CEH)
มดลูกอักเสบแบบมีหนอง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
มดลูกอักเสบแบบเปิด (open pyometra) พบในสุนัขหรือแมวที่ปากมดลูกยังคลายตัว หนองภายในมดลูกสามารถไหลออกมาทางปากมดลูกสู่ช่องคลอดและออกไหลออกทางอวัยวะเพศ ทำให้เจ้าของสามารถสังเกตเห็นหนองที่อวัยวะเพศได้ชัดเจน
มดลูกอักเสบแบบปิด (closedpyometra) พบในสุนัขหรือแมวที่ปากมดลูกปิด หนองภายในมดลูกไม่สามารถระบายออกทางปากมดลูกจะเกิดการสะสมของหนองภายในมดลูก หากหนองจำนวนมากจะสังเกตได้ชัดเจนว่าสัตว์ท้องขยายมากขึ้น เนื่องจากปากมดลูกปิดจึงไม่พบสิ่งคัดหลั่งใด ๆ ไหลออกมาทางอวัยวะเพศ ดังนั้นมดลูกแบบปิดมักจะมีเป็นความผิดปกติที่รุนแรงมากกว่าแบบเปิด และเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องเร่งรักษาและผ่าตัดนำมดลูกออก
สิ่งที่เจ้าของจะสังเกตได้เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วย ได้แก่ อาการป่วยทั่วไป เช่น ซึม เบื่ออาหาร เก็บตัว ตัวรัอนมีไข้ และอาการเด่นชัดของโรคมดลูกอักเสบ มีสิ่งคัดหลั่งไหลออกจากอวัยวะเพศ ท้องกาง ปวดท้อง ร่วมกับสุนัขหรือแมวเพิ่งหมดสัดไปหรือมีประวัติการฉีดยาคุมกำเนิด หากพบอาการเหล่านี้ควรพาน้อง ๆ ไปพบสัตวแพทย์กันนะคะ
เมื่อสัตว์ป่วยได้พบกับสัตวแพทย์ สัตวแพทย์จะมีหลักในการตรวจวินิจฉัยต่าง ๆ เพิ่มเติม เริ่มจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของสัตว์ ได้แก่ ข้อมูลสัตว์ อายุ ประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด ทำหมันแล้วหรือไม่ ? ลักษณะและระยะเวลาที่เจ้าของเห็นความผิดปกติ การวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจเลือด เพื่อประเมินสุขภาพ ความรุนแรงของการอักเสบ ความพร้อมของร่างกายหากสัตว์จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
การตรวจยืนยันคำวินิจฉัย ได้แก่ ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ และ/หรือการทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง นอกจากช่วยยืนยันว่าปัญหาท้องกางเป็นการโตขึ้นจากภาวะหนองสะสมภายในมดลูก โดยไม่ได้เกิดจากปัญหาอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้องที่อาจแสดงอาการท้องกางได้เช่นกัน การทำอัลตร้าซาวด์จะให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องของขนาดมดลูก ความหนาของผนังมดลูก และลักษณะสิ่งคัดหลั่งหรือของเหลวภายในมดลูกด้วย
การรักษาโรคมดลูกอักเสบแบบมีหนอง
หากสุนัขและแมวที่ไม่ต้องการเจริญพันธุ์แล้วไม่ว่าจะเป็นมดลูกอักเสบแบบเปิดหรือแบบปิด แนะนำเป็นการผ่าตัดมดลูกออกหรือการทำหมันในเพศเมียนั้นเอง วิธีนี้ลดการเกิดปัญหาซ้ำในวงรอบถัดไป ถือว่าเป็นการรักษาที่ดีและถาวรของโรคมดลูกอักเสบ
ในกรณีที่สุนัขหรือแมวที่ยังอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์และเจ้าของยังอยากให้มีลูก มีทางเลือกการรักษาทางยาโดยไม่ต้องผ่าตัด ปัจจุบันรักษาทางยาใช้เฉพาะมดลูกอักเสบแบบเปิด ส่วนมดลูกอักเสบแบบปิดซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังแนะนำเป็นการผ่าตัดมดลูกออกอนาคตยากลุ่มต้านตัวรับโปรเจนเตอโรน (antiprogesterone receptor) อาจจะเพิ่มทางเลือกในการรักษาทางยาของมดลูกอักเสบแบบปิดได้ โดยยาตัวนี้ยังไม่มีการใช้ในประเทศไทย รอกันอีกระยะนะคะ
หากจะตัดสินใจเลือกการรักษาทางยาในรายของมดลูกอักเสบแบบเปิด ขอฝากหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการรักษา ได้แก่
1. ความสำเร็จการรักษาทางยาในสัตว์แต่ละตัวแต่ละครั้งต่างกัน หลายตัวรักษาแล้วตอบสนองได้ดีและสามารถตั้งท้องได้ หลายตัวรักษาตอบสนองได้ดีแต่ยังคงมีปัญหาการผสมไม่ติดและกลับมาเป็นมดลูกอักเสบอีกครั้งในรอบสัดถัดไป หลายตัวไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาและปรับการรักษาโดยการผ่าตัดทำหมัน
2.หลังการรักษามดลูกอักเสบแล้วควรจัดเตรียมการผสมในรอบสัดต่อไปโดยปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อให้สัตว์สามารถผสมติดและตั้งท้อง นอกจากการตั้งท้องที่สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของที่ยังไม่อยากให้ผ่าตัดมดลูกออกแล้ว ทางจุลกายวิภาคผนังมดลูกและต่อมมดลูกจะปรับเปลี่ยนไปเพื่อเตรียมพร้อมในการฝังตัวของถุงตัวอ่อน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผนังมดลูกหนาตัวแบบมีถุงน้ำ (CEH) และมดลูกอักเสบตลอดช่วงเวลาที่สัตว์ตั้งท้อง
3. ค่าใช้จ่ายในการรักษาทางยา เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรักษาและการติดตามผลการรักษาต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด ในส่วนนี้เจ้าของที่เลือกวิธีนี้ควรเข้าใจและให้ความร่วมมือต่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง หมายความว่างบประมาณค่ารักษาในแต่ละรายอาจไม่เท่ากันขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจนกว่าหนองภายในมดลูกจะหายสัตว์ป่วยส่วนหนึ่งค่ารักษาทางยาอาจจะสูงกว่าการเลือกรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษามดลูกอักเสบแบบเปิดประกอบด้วยหลักการดังต่อไปนี้
1.การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมและยาวนานจนกว่าการติดเชื้อจะหายไป นิยมเลือกตามผลการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากหนองที่ไหลออกมาทางอวัยวะเพศ
2. การใช้ยาเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อช่วยการขับหนองออกจากมดลูก จึงไม่สามารถใช้ในรายที่เป็นมดลูกอักเสบแบบปิด เนื่องจากมีผลทำให้มดลูกบีบตัวจนมดลูกแตกได้
3. การให้สารน้ำเพียงพอ เนื่องจากระหว่างการรักษามดลูกอักเสบยังคงมีการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้และมีผลต่อการอักเสบของกรวยไตร่วมได้ การให้น้ำเกลือร่วมระหว่างนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน แม้สภาพสัตว์จะกินข้าวและน้ำได้เป็นปกติก็ตาม
การรักษาจะเป็นการรักษาแบบให้สัตว์พักค้างหรือนำสัตว์ตรวจติดตามกับสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดพิจารณาตามสภาพสัตว์แต่ละราย
จากที่กล่าวมาแล้วมดลูกอักเสบถือเป็นปัญหาใกล้ ๆ ตัวสำหรับผู้ที่มีสุนัขและแมวเพศเมียนะคะ การป้องกันที่ดี คือ การทำหมันในช่วงวัยที่เหมาะสม
การทำหมันในสุนัขและแมวเพศเมียจะเป็นการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก (ovariohystectomy: OVH) หลังการทำหมันแล้ว
สุนัขและแมวก็จะไม่มีฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนที่สร้างจากรังไข่ ไม่มีอวัยวะของมดลูกเหลือให้เกิดโรค ที่ใช้คำว่า “ทำหมันในช่วงวัยที่เหมาะสม” เนื่องจากความเหมาะสมของแต่ละท่านอาจต่างกัน ขอยกตัวอย่าง กลุ่มสุนัขและแมวที่ไม่ต้องการให้มีลูกเลยสามารถทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หลังสัตว์ทำวัคซีนครบและสุขภาพสมบูรณ์อยู่ในเกณฑ์ดี แข็งแรง ข้อดีส่วนนี้นอกจากป้องกันโรคของมดลูกแล้ว ยังป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านมที่ก็มักพบในช่วงที่สัตว์อายุมาก กลุ่มของเจ้าของที่อยากให้น้อง ๆ มีการให้ลูกก่อน ควรเตรียมความพร้อม ในการจัดการการผสม จนถึงวัยก่อน 5 ปีค่ะ
ไม่ทำหมันได้ไหม ? ไม่อยากให้สัตว์เจ็บจากการผ่าตัด !
การเกิดมดลูกอักเสบในสุนัขและแมวพบได้มาก และมักพบเมื่อสัตว์มีอายุมาก หากเราสามารถป้องกันหรือทำการผ่าตัดในช่วงเวลาที่สัตว์แข็งแรง สุขภาพดี ก่อนที่จะเกิดโรคก็เป็นอีกมุมมองทางเลือกที่อยากให้พิจารณานะคะ
โฆษณา