#รู้จากข่าว...ไทยเตรียมโชว์ผลสำเร็จการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชีย ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 4 ณ ประเทศมาเลเซีย
20 มกราคม 2565 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชีย ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 4 (The 4th Asia Ministerial Conference on Tiger Conservation) ระหว่างวันที่ 19 - 21 มกราคม 2565 ณ ประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ร่วมกับประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งรวม 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่ง เนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติได้เป็นผลสำเร็จ
โดยในวันที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของแต่ละประเทศจะเข้าร่วมการประชุม โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม และการกล่าวถ้อยแถลงโดยรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศภูฏาน ในฐานะประธาน Global Tiger Forum (GTF) ในส่วนของประเทศไทย จะมีการกล่าวถ้อยแถลงโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมกำหนดให้รัฐมนตรีของประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง กล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 3 นาที จากนั้น นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียจะกล่าวถ้อยแถลง (Officiating Speech) และเปิดตัวดำเนินการเรื่อง Kuala Lumpur joint Statement on Tiger Conservation / Resource Mobilization Assessment/ STRAP และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
ประเทศไทย เป็น 1 ใน 13 ประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง การเข้าร่วมประชุมการอนุรักษ์เสือโคร่ง จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการร่วมดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง และได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในเอเชีย ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับนักอนุรักษ์ระดับโลก ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายการอนุรักษ์ระดับโลก ในการป้องกันการลักลอบล่าและการค้าเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ผิดกฎหมาย มีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่มีมาตรฐานระดับสากล ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่สำคัญชนิดอื่น จากกองทุนและองค์กรอนุรักษ์ระดับโลก และเป็นศูนย์กลางในการวิจัยการสร้างระบบติดตามประเมินประชากรเสือโคร่ง และการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และวิจัยเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอีกด้วย
โฆษณา