21 ม.ค. 2022 เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์
‘เอลิชา โอทิส’ ผู้ที่เสี่ยงตายเพื่อลิฟต์
พิสูจน์ว่าปลอดภัย กล้าตัดสลิงให้ขาดขณะอยู่บนลิฟต์
พลิกโฉมวงการก่อสร้างให้โลกเกิดตึกสูงร้อยชั้น
สิ่งอำนวยความสะดวกเวลาที่พาผู้คนเดินทางขึ้นบนชั้นสูงๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร 4-5 ชั้น หรือแม้แต่ในตึกระฟ้าความสูงหลายร้อยเมตร นั่นคือ “ลิฟต์โดยสาร”
ปัจจุบันผู้ผลิตลิฟต์ก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายแบรนด์ ถูกใช้งานกันเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของผู้คนมานับร้อยปี ทุกคนคุ้นเคยกับการใช้ลิฟต์ แต่รู้ไหมว่าเมื่อเกือบ 200 ปีก่อนมันถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากในยุคนั้น ยุคที่ผู้คนยังเดินขึ้นบันไดหลายๆ ชั้น และระบบไฟฟ้ายังเป็นของใหม่ไม่ต่างกัน
กว่าที่เราจะมีลิฟต์ใช้แบบทุกวันนี้ เคยมีเจ้าของบริษัทลิฟต์คนหนึ่งยอมเสี่ยงอันตรายด้วยการเอาชีวิตของตัวเองเข้าแลก เพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่าลิฟต์ของตัวเองนั้นปลอดภัย ซึ่งชายผู้นั้นมีชื่อว่า ‘เอลิชา เกรซ โอทิส’
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1830-1831 ‘เอลิชา เกรฟ โอทิส’ เด็กหนุ่มชาวอเมริกันวัย 20 ปี ที่ย้ายถิ่นฐานจากรัฐเวอร์มอนต์ มาอยู่ในเมืองทรอย รัฐนิวยอร์ก
โอทิสเริ่มทำงานเป็นคนขับรถม้า ก่อนที่จะพบกับสาวสวยที่มีชื่อว่า ‘ซูซาน’ ทั้งคู่ทำความรู้จักกัน และพัฒนาความสัมพันธ์จนแต่งงานเป็นสามีภรรยาในที่สุด และมีพยานรักด้วยกันสองคน แต่หลังจากนั้นซูซานก็เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร ทำให้โอทิสต้องดูแลลูกทั้งสองคนเพียงลำพัง
ปี 1845 โอทิสย้ายไปอยู่ที่อัลบานี เขาได้รู้จักและพบรักครั้งใหม่ใหม่กับ Elizabeth A. Boyd
โอทิสเริ่มต้นครอบครัวใหม่และได้งานใหม่เป็นช่างในบริษัทผลิตเตียง ระหว่างที่เขาทำงานอยู่ในบริษัทแห่งนี้ เขาก็เริ่มฉายแววการเป็นนักประดิษฐ์ออกมาทีละน้อย โดยเริ่มจากการคิดค้นเครื่องจักรช่วยทุ่นแรงในการทำงาน
ปี 1852 บริษัทส่งตัวโอทิสไปยังเมืองยองเกอร์เพื่อดูแลโรงงานแห่งใหม่ แล้วก็มอบหมายงานให้เขาติดตั้งเครื่องจักรในโรงงาน
ทว่างานที่ได้รับมอบกลับเป็นความท้าทายสูง นั่นคือการคิดหาวิธีนำเครื่องจักรที่หนักมากๆ ขึ้นไปติดตั้งยังชั้นบนของโรงงาน ซึ่งต้องใช้รอกที่แข็งแรงดึงขึ้นไปเพื่อทุ่นแรง และเป็นสิ่งที่อันตรายมากในสมัยนั้น เพราะยังไม่มีเชือกที่แข็งแรงมากพอที่จะยกสิ่งของที่มีน้ำหนักเป็นสิบตัน อีกทั้งในยุคนั้นลวดสลิงที่มีความแข็งแรงก็ยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมาก
หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดไม่ว่าจะเชือกขาดหรือว่าหลุด มันก็คงจะเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงที่ไม่อยากจะนึกถึง
สมัยนั้นลิฟต์โดยสารเริ่มมีใช้งานบ้างในบางสถานที่ เช่น แหล่งท่องเที่ยว แต่ยังไม่นิยิมใช้ในตึกรามบ้านช่อง หรือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ยกตัวอย่าง บริษัท เอสเซนดิง รูม ที่สร้างสิ่งที่คล้ายกับลิฟต์ขึ้นในปี 1823 ที่เรียกว่าคล้ายลิฟต์เพราะว่ามันดูไม่ใช่ลิฟต์อย่างที่คุ้นเคย แต่มีฟังชั่นคล้ายลิฟต์เท่านั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการพานักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวบนดาดฟ้าตึกสูงในกรุงลอนดอนเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อโดยสารระหว่างชั้นแต่อย่างใด
สมัยก่อนห้องพักบนตึกสูงมีราคาถูกกว่าชั้นล่างหลายเท่าตัว ซึ่งตรงข้ามกับยุคปัจจุบันที่ห้องพักบนชั้นสูงๆ มักมีราคาแพงระยับจากวิวเมืองอันน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะการที่ผู้เข้าพักจะขึ้นไปชั้นสูงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกนัก เพราะอาคารหลายแห่งไม่ได้มีลิฟต์ไว้ให้บริการ ผู้พักอาศัยต้องเดินขึ้นลงบันไดหลายชั้น เล่นเอาแต่ละวันก็เหนื่อยเหมือนกันทีเดียว
1
โอทิสมองเห็นความเป็นไปได้ที่เขาจะเปลี่ยนปัญหาเหล่านี้ให้กลายเป็นโอกาส เขาเริ่มผุดไอเดียว่าจะประดิษฐ์รอกและลิฟต์ที่ปลอดภัยมากขึ้น เขาจึงสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนเบรคแบบนิรภัยอัตโนมัติให้กับลิฟต์เพื่อไม่ให้ลิฟต์ร่วงลงมากระแทกพื้นหากเชือกขาด
หลังจากทดลองอยู่หลายปี ในที่สุดเขาก็ประดิษฐ์ลิฟต์ได้สำเร็จ และตัดสินใจก่อตั้งบริษัทลิฟต์อย่างเป็นทางการในปี 1853 โดยใช้ชื่อว่า ‘Union Elevator Works’
แม้จะเขามั่นใจว่าได้สร้างลิฟต์ที่มีคุณภาพในเวลานั้น แต่กว่าที่จะทำตลาดได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าลำบากยากเข็ญเลยก็คงจะไม่ผิด เพราะสิ่งที่ยากที่สุดก็คือ การต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในการนำลิฟต์ของบริษัทไปติดตั้ง และให้ผู้คนยอมที่จะใช้ลิฟต์ เพราะในเวลานั้นก็คงไม่มีใครอยากจะเสี่ยงชีวิตมาใช้ลิฟต์ที่อยู่ดีๆ อ้างว่าปลอดภัยโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย
ความน่าสนใจก็คือ โอทิสไม่ได้โฆษณาว่าลิฟต์ของตัวเองประดิษฐ์ด้วยวัสดุอะไร แต่เขาเสี่ยงชีวิตเพื่อให้คนเชื่อว่าลิฟต์ของเขาปลอดภัยจริงๆ
ในยุคปัจจุบันหากจะป่าวประกาศให้กับคนทั่วโลกรู้ว่าเรามีเทคโนโลยีชิ้นใหม่ และพร้อมจะเข้าสู่ท้องตลาด เจ้าของบริษัทหรือนักประดิษฐ์หลายคนก็คงจะเลือกงานแฟร์หรือว่างานเอ็กซ์โปทางเทคโนโลยีใหญ่ๆ เรียกสายตาดึงดูดให้สื่อมวลชนจับจ้องมองมาที่นวัตกรรมของตัวเอง เพื่อเผยแพร่ความน่าสนใจของเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นให้กับสาธารณชนรับรู้
แต่เมื่อศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน งานโชว์เทคโนโลยีที่ทั้งโลกให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือ ‘เวิลด์แฟร์’
ปี 1854 เวิลด์แฟร์จัดอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก โอทิสคว้าโอกาสนี้ในการเรียกความสนใจจากสื่อและสาธารณชนโดยการเอาตัวเองไปยืนอยู่บนลิฟต์ที่มีสายเคเบิลผูกไว้กับรอกไว้ด้านบน แล้วตัดสินใจใช้ขวานจามเข้าไปที่สายเคเบิลต่อหน้าต่อตาผู้คน ทั้งๆ ที่เขายังยืนอยู่บนลิฟต์ด้วยความสูงจากพื้นหลายเมตร
วินาทีนั้นคนทั้งงานนิ่งเงียบ แล้วจ้องไปที่โอทิสด้วยสายตาตกใจว่าเขาจะรอดหรือเปล่า แต่โอทิสก็ตอบกลับสายตาของผู้คนเหล่านั้น ด้วยการประกาศออกไปว่า “ผมปลอดภัยดี” และเขาก็ไม่ตกลงสู่พื้นแต่อย่างใด
นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยน และจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมลิฟต์โดยสารเกิดขึ้น และได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก ‘ยูเนี่ยนเอลิเวเตอร์เวิร์ค’ เป็น ‘โอทิสเอลิเวเตอร์ คอมพานี’ ในภายหลัง
ปี 1857 มีลูกค้าให้ความสนใจลิฟต์ของโอทิสจากงานเวิลด์แฟร์ในปี 1854 เลยว่าจ้างให้โอทิสไปสร้างลิฟต์โดยสารตัวแรกขึ้นในห้างสรรพสินค้าขนาดห้าชั้นของ E.V. Haughwout & Co. ในนครนิวยอร์ก
จุดเริ่มต้นครั้งนั้นนำไปสู่การปฏิวัติมาตรฐานของลิฟต์สมัยใหม่ ที่มีการติดตั้งระบบเบรกเพื่อป้องกันลิฟต์ร่วงลงสู่พื้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ลิฟต์ขาด รวมถึงทำให้เริ่มมีการสร้างตึกสูงที่มีจำนวนชั้นได้มากขึ้น สูงขึ้น ในเวลาต่อมา เนื่องจากผู้คนสามารถโดยสารโดยใช้ลิฟต์ขึ้นลงในอาคารได้อย่างปลอดภัยและเชื่อมั่นในการใช้งานมากขึ้น
แม้จะผ่านมามากกว่าศตวรรษ บริษัท โอทิสเอลิเวเตอร์คอมพานี ได้ติดตั้งลิฟต์และบันไดเลื่อนให้กับอาคารที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น หอไอเฟล ตึกเอมไพร์สเตท หรือตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์
แม้เขาจะไม่ใช่ผู้คิดค้นลิฟต์ แต่เขาคือหนึ่งในบุคคลประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนให้โฉมให้ลิฟต์พัฒนามาตรฐานความปลอดภัย และมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่จำกัดแค่การบริการนักท่องเที่ยวหรือวีไอพีบนตึกสูง
นอกจากว่าจะสามารถทำให้ขีดความสามารถในการสร้างอาคารสูง สามารถสร้างได้สูงยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งปัจจุบันโลกมีอาคารสูงเกิน 100 ชั้นแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงกลไกการตลาดของอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมทีที่ห้องชั้นบนของตึกจะมีถูกกว่าชั้นล่าง ให้กลายเป็นชั้นล่างถูกกว่าชั้นบน ที่ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งแพงมากนั่นเอง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา