23 ม.ค. 2022 เวลา 06:00 • การศึกษา
จากดราม่าสอบ "TCAS65" แอดมินเพจ Mytcas.com ตอบคำถามจนโดนทัวร์ลง และแฮชแท็ก #แบนทปอ ซึ่งเป็นชื่อย่อของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ติดเทรนด์ในโลกทวิตเตอร์วันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา
1
ส่องโมเดล 'จีน-เกาหลีใต้' สอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ตัดโอกาส 'เด็กติดโควิด'
ต้นสายปลายเหตุของกระแส #แบนทปอ ที่ถูกวิจารณ์กันอย่างดุเดือดในทวิตเตอร์กว่า 3.7 แสนข้อความนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่นักเรียนหลายคนได้แชร์ข้อความสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเพจ Mytcas ว่า ถ้ากรณีติดเชื้อโควิด-19 ก่อนสอบแล้วหายไม่ทันวันสอบ ต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า แอดมินได้ตอบกลับว่า "สอบปีหน้า หรือไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบครับ"
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดูโมเดลการจัดการการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้และจีน ซึ่งเป็น 2 ประเทศเอเชียที่มีการแข่งขันด้านวิชาการสูงมาก
เริ่มจากในจีน การสอบ “เกาเข่า” ซึ่งปกติแล้วจะจัดขึ้นในวันที่ 7-8 มิ.ย. ของทุกปี หรือในบางมณฑลอาจใช้เวลานานกว่านั้น เรียกได้ว่าเป็นสงครามชีวิตมหาโหดของเด็กจีน เพราะมีความสำคัญในชีวิตระดับที่ว่าเป็นสิ่งชี้ขาดงานอาชีพในอนาคต และเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิต นั่นทำให้เด็ก ๆ ไม่ต้องการพลาดสนามสอบนี้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด แม้กระทั่งป่วยโควิดก็ตาม และผู้จัดสอบท้องถิ่นก็เลือกที่จะ "ไม่ตัดโอกาส" ของนักเรียน
1
- จีนจัดห้องสอบในรพ.ให้นร.ป่วยโควิด
เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วซึ่งมีนักเรียนจีนสมัครสอบราว 10.8 ล้านคนทั่วประเทศ มีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ในนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก จำนวน 2 ราย ร่วมสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยประจำปีนี้ด้วยวิธีการพิเศษที่แตกต่างออกไป
นครกว่างโจวจัดการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยภายใต้มาตรการป้องกันสุดเข้มงวด โดยผู้เข้าสอบมากกว่า 50,000 คน และผู้เกี่ยวข้องราว 7,000 คน เข้ารับการทดสอบกรดนิวคลีอิกสองครั้ง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบทั้งหมดได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว
ด้านโรงพยาบาลประชาชนกว่างโจวหมายเลข 8 ซึ่งมีนักเรียนมัธยมปีที่ 6 ติดเชื้อโควิดเข้ารักษาตัว จำนวน 2 ราย ดำเนินการจัดตั้งห้องพิเศษในหอผู้ป่วยแยก พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดความละเอียดสูงสำหรับบันทึกเสียงและวิดีโอแบบเรียลไทม์ โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมคอยดูแลการสอบจากพื้นที่ที่กำหนด
นอกจากนี้ กระดาษข้อสอบและกระดาษคำตอบของนักเรียนทั้ง 2 รายยังผ่านการฆ่าเชื้อ โดยผู้เข้าสอบต่างมีสุขภาพและอุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ สุดท้ายการสอบของทั้งคู่ก็ราบรื่นไปด้วยดี
- เกาหลีแยกสอบในพื้นที่เฉพาะ
ในเกาหลีใต้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบ “ซูนึง” ยาวนาน 9 ชั่วโมงไม่ได้มีความหมายแค่การได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเป็นการยกระดับสถานะทางสังคม มีโอกาสทำงานรายได้สูง และมีชีวิตแต่งงานที่ดีด้วย ซึ่งแรงกดดันอันมหาศาลในระบบการศึกษาแข่งขันสูงของเกาหลีใต้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุทำให้วัยรุ่นซึมเศร้าและอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดประเทศหนึ่งในโลก
ปกติแล้ว การสอบซูนึงจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่สามของเดือน พ.ย. ในทุกปี แต่ในปี 2563 ถูกเลื่อนไปเป็นวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ธ.ค. เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนมัธยมภาษาต่างประเทศอีวาเกิร์ลสในกรุงโซล ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จัดการสอบซูนึง นักเรียนที่เข้าสอบต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน
เมื่อนักเรียนทุกคนมาถึงต้องถูกตรวจโควิดก่อน คนที่มีอาการต้องสอบในสถานที่ที่จัดให้ต่างหาก ปรากฏว่า ครั้งนั้นมีนักเรียนราว 70 คนที่เพิ่งติดโควิด เจ้าหน้าที่ก็ให้นั่งสอบในศูนย์การแพทย์ที่เตรียมโต๊ะเก้าอี้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ทางการเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการสอบทั่วประเทศครั้งนี้มาก ขนาดต้องออกมาตรการพิเศษขจัดการรวบกวนผู้สอบทุกชนิด สำนักงานตำรวจ ธนาคาร ตลาดหุ้นเปิดช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาการจราจร สร้างหลักประกันว่านักเรียนเข้าสอบทันเวลา
ในช่วงสอบฟังภาษาอังกฤษ ทางการห้ามเครื่องบินขึ้นลงเป็นเวลา 35 นาที เครื่องบินทุกลำต้องคงเพดานบินไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 เมตร และครั้งนั้นมี 16 เที่ยวบินต้องปรับตารางใหม่เพื่อเลี่ยงบินในช่วงเวลาที่มีสอบซูนึง
โฆษณา