23 ม.ค. 2022 เวลา 08:00 • อสังหาริมทรัพย์
ศบศ.แตะเบรกสิทธิ์ต่างชาติรายได้สูงซื้อ - ถือครองที่ดินอยู่อาศัยในไทย
1
ศบศ.แตะเบรกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมชาวต่างชาติรายได้สูงพำนักระยะยาวในไทยไม่เกิน 1 ไร่ ไม่ขยายสิทธิ์ถือครองห้องชุดเกิน 49% ไม่ขยายระยะเวลาในการเช่าบ้าน หลังมหาดไทยเบรกข้อเสนอ สุพัฒนพงษ์ เผยเคาะเป้า 2 แสนคนเข้าไทยปีนี้ นายกฯสั่งตามงานทุกไตรมาส
ศบศ.แตะเบรกสิทธิ์ต่างชาติรายได้สูงซื้อ - ถือครองที่ดินอยู่อาศัยในไทย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 21 ม.ค. ว่าที่ประชุม ศบศ.ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินการ การตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) เพื่อดึงดูผู้มีรายได้สูงจากต่างประเทศเข้าประเทศไทย โดยในปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะมีกลุ่ม LTR เข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 2 แสนคน
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้ติดตามการทำงานเรื่องการดึงผู้มีรายได้สูงเข้ามายังประเทศไทยเป็นรายไตรมาส โดยในระยะแรกให้เน้นเรื่องการสื่อสารการตลาด การสำรวจตลาดเพื่อให้ต่างชาติทราบนโยบายของในเรื่องนี้ของไทย โดยจะต้องดูว่าตลาดตอบรับนโยบายนี้ของไทยหรือไม่มีความต้องการอะไรเพิ่มเติม โดยจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
ส่วนประเด็นการถือครองที่ดินที่เคยอยู่ในข้อเสนอที่จะให้สิทธิพิเศษกับผู้ถือวีซ่า LTR สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ทีดินในไทยได้นั้น ที่ประชุมให้ดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้เนื่องจากต้องไปออกกฎหมายเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งใช้ระยะเวลานาน
1
ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดจะให้ในอัตรา 17% นั้นจะไม่ได้ให้กับทุกกลุ่มแต่จะให้เฉพาะกลุ่มที่เป็นแรงงานที่มีความสามารถพิเศษตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดไว้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย ว่าประเด็นการให้สิทธิประโยชน์แก่การถือครองวีซ่า LTR ในส่วนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปซึ่งคณะทำงานดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเสนอให้ที่ประชุม ศบศ.พิจารณาคือสิทธิ์ประโยชน์ในด้านอสังหาริมทรัพย์ 3 ข้อได้แก่
1.การถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอัตราส่วนที่มากกว่า 49% ของเนื้อที่ห้องชุดทั้งหมด
2.การขยายระยะเวลาในการให้สิทธิ์ชาวต่างชาติเช่าบ้านจัดสรรจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปี
และ 3.การให้สิทธิ์ชาวต่างชาติในการถือครองที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่
โดยใน 2 ข้อแรก นายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โต้แย้งโดยระบุว่าเงื่อนไขเดิมเหมาะสมอยู่แล้ว และหากเสนอเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองได้
1
ที่ประชุม ศบศ.จึงผ่านเฉพาะในส่วนของการให้สิทธิ์ชาวต่างชาติในการถือครองที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมที่ดินเสนอเงื่อนไข หลักเกณฑ์ให้นำเสนอมาให้ ศบศ.พิจารณาอีกครั้ง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบศ.ว่าในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ ประเทศไทย สศช. ได้รายงานความคืบหน้า ในการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่
1.การตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) ครม.ได้เห็นชอบร่าง ประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยให้สิทธิแก่คนต่างด้าวใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงาน จากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติและแนวทางการยื่นคำขอรับรองขอรับ การตรวจลงตราวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) ที่สำคัญ ได้แก่
- วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี และยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติ เพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร โดยรวมถึงคนต่างด้าวและ ผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จำนวนไม่เกิน 4 คน
2
- กำหนดให้ แจ้งที่พำนักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพำนักครบ 1 ปี จากเดิมที่ต้องดำเนินการทุกรอบ 90 วัน
1
- หากมี ความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทำได้
- การเพิกถอนวีซ่า LTR คนต่างด้าวจะถูกเพิกถอนวีซ่า LTR เมื่อไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ และคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าววีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยกำหนดให้คนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR สามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหาร จัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้คนต่างด้าวสามารถทำงานไปพลางก่อนได้โดย ไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน โดยมีการกำหนดอายุของใบอนุญาตทำงาน ดังนี้
2
- กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยมี นายจ้าง ให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุเท่าสัญญาจ้าง แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทำงาน และคนต่าง ด้าวสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ โดยให้ต่ออายุตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง แต่ไม่เกินครั้งละ 5 ปี
- กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีนายจ้าง ให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุเท่าที่คนต่างด้าวร้องขอ แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทำงาน และคนต่างด้าวสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ โดยให้ต่ออายุตาม ระยะเวลาที่คนต่างด้าวร้องขอ แต่ไม่เกินครั้งละห้าปี
- บีโอไออยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่าง ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว และร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุนเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับ การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) (ฉบับแก้ไข) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนมกราคม 2565
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเริ่มดำเนินการเตรียมร่างประกาศในการยกเว้นคนต่าง ด้าวผู้ถือวีซ่า LTR ให้ไม่อยู่ในบังคับของข้อกำหนดอัตราส่วนการจ้างงานชาวไทยและต่างชาติ 1 ต่อ 4 ภายหลัง จากที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ได้รับสิทธิวีซ่า LTR
- กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความประมวล รัษฎากรเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับชาวต่างด้าวผู้ได้รับวีซ่า LTR โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่าง การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
- กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศกรมศุลกากรเพื่อเป็นแนวทาง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR เป็นการเฉพาะ โดยคาดว่าจะสามารถออก ประกาศได้ภายในเดือนมกราคม 2565 อีกทั้งยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำช่องทางพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR อีกด้วย
การจัดตั้งศูนย์บริการ LTR Service Center ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการดังนี้
- บีโอไอและทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ เร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งศึกษาแนวทางและ กำหนด แผนงาน/ระยะเวลาในการจัดตั้งศูนย์บริการฯ โดยเร็ว
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบ ข้าราชการ (กพร.) และ สกท. เร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการกำหนดวิธีการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) และกำหนดระดับการให้บริการ (Service Level Agreement: SLA) และ มอบหมายให้บีโอไอ เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ LTR service center เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการปฏิบัติงานและระดับการให้บริการที่กำหนด
โฆษณา