24 ม.ค. 2022 เวลา 04:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
ดีลยักษ์ GULF x Binance เปิด 5 ความเห็น คีย์แมนวงการคริปโทฯ ไทย
เพียงแค่ประกาศจับมือกัน ก็สั่นสะเทือนไปทั้งวงการคริปโทเคอร์เรนซีในบ้านเราแล้ว เมื่อ “GULF” แจ้งข่าวผนึกกำลัง “Binance” ศึกษาแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน หากแผนชัดเจน พร้อมเริ่มขอใบอนุญาตตามกระบวนการทันที
“กรุงเทพธุรกิจ” ขอชวนไปดูความเห็นจากคีย์แมนคนสำคัญๆ ในแวดวงคริปโทฯ เมืองไทย ว่า คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับดีลนี้กันบ้าง..
ดีลยักษ์ GULF x Binance เปิด 5 ความเห็น คีย์แมนวงการคริปโทฯ ไทย
เปรียบมวย! GULF-Binance และ bitkub-SCBx
1
ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด สะท้อนมุมมองโดยเปรียบเทียบคู่ชก ระหว่าง GULF-Binance และ bitkub-SCBx ว่า เมื่อยักษ์ใหญ่เปิดหน้าสู้กันในตลาดเทรดคริปโทฯ ไทย เขามองว่า ทั้งสองขั้วต่างก็มีจุดแข็งที่สร้างความได้เปรียบกันคนละด้าน
เปรียบมวย! GULF-Binance และ bitkub-SCBx
สำหรับ GULF มีฐานลูกค้าของกลุ่ม AIS มากกว่า 40 ล้านคนทั่วประเทศ มากกว่า SCBx แต่ SCBx มีความได้เปรียบในความสามารถการดำเนินธุรกิจไฟแนนซ์
ขณะเดียวกัน มองว่า การเข้ามาทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ระหว่าง GULF กับ Binance ยังต้องติดตามว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด เพราะดีลนี้ยังเป็นเพียงความร่วมมือกันศึกษา และที่ผ่านมา Binance ยังไม่เคยเป็น Exclusive Partner กับใคร หากไม่มีความจำเป็น เชื่อว่า Binance จะไม่เป็น Exclusive Partner กับรายใดแน่นอน
เช่นเดียวกับที่ Binance ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัท สตางค์ สัดส่วน 3% ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้เป็น Exclusive Partner กัน และผลิตภัณฑ์ของ Binance ที่มีอยู่ เช่น สินเชื่อหรือการเทรดฟิวเจอร์ ยังไม่ได้ถูกกับตามกฎหมายของไทย
ดังนั้น มองว่า มีโอกาสที่ใครก็ได้จะเข้าไปเจรจาเป็นพันธมิตรกับ Binance โดยใช้โมเดลของ GULF เป็นมาตรฐานในการเข้ามาทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย โดยที่ไม่ต้องเสียเงินลงทุนมูลค่าสูง เหมือนกับ SCBx หรือการที่บล.ไทยพาณิชย์ ที่มีใบอนุญาตทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ก็อาจหาพันธมิตรในต่างประเทศเข้ามาขยายธุรกิจในและนอกประเทศไทยก็ได้ อีกทั้งก็ต้องรอความชัดเจนความร่วมมือกับทางบิทคับ จะปรับกลยุทธ์อย่างไร
ในส่วนของ “สตางค์” เดินหน้าหาพันธมิตรรายใหม่ทั้งนอนแบงก์และแบงก์ ที่มาช่วยขยายฐานลูกค้าในไทยที่ยังมีโอกาสอีกมาก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากับหลายราย ในขณะที่เรายังสามารถใช้เทคโนโลยีจาก Binance ได้ ก็ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบแต่อย่างใด
“เมื่อยักษ์ใหญ่เปิดหน้าสู้และเป็นรุ่นเฮฟวี่เวท ตอนนี้มองว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้เล่นรายเดิม โดยเฉพาะรายเล็ก ต้องปรับตัว อยู่นิ่งไม่ได้ เราต้องรอดูบิซิเนสโมเดลยักษ์ใหญ่คู่นี้ก่อน เราก็ต้องหาวิธีสู่กันต่อไป เราอาจจะไปเจาะตลาดนิชมาร์เก็ตได้หรือขยายตลาดต่างประเทศ”
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และ ซีอีโอ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ กล่าวถึงกรณีความร่วมมือระหว่างทาง GULF และ Binance ว่า ขณะนี้เห็นว่ายังเป็นเพียงร่วมมือเพื่อศึกษาก่อน ต้องรอดูแผนการจัดตั้งให้ชัดเจนว่าจะทำศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร หากมีความชัดเจนแล้วถึงจะสามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลอย่างไรบ้าง
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และ CEO บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดคริปโทฯ ในไทย เชื่อว่าปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากทั้งจากตลาด NFT, Defi Gamefi ที่จะเห็นตลาดขยายตัวมากขึ้นจากธุรกิจเรียลเซ็กเตอร์ที่เข้ามาเชื่อมโยงในธุรกิจใหม่นี้
อีกทั้งการเข้ามาปี 2565 เป็นจุดเริ่มต้นยุคไฟแนนซ์ 3.0 เป็นการมาถึงของบล็อกเชน, อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT), AI , VR , AR และ Metaverse เป็นต้น เข้ามาปฏิวัติทำให้เศรษฐกิจโลกพัฒนาสู่ ดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งผู้คนไม่จำเป็นต้องจับต้องสินทรัพย์เหล่านั้น
ขณะเดียวกัน มองว่าสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต้องการเติบโตในอนาคต คือการกำกับดูแลซึ่งต้องพิจารณาให้รอบด้านสอดรับกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นการเก็บภาษีคริปโทฯ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายที่ใช้นั้นยังมีความไม่ชัดเจน ส่วนตัวเสนอให้มีการเลื่อนการจัดเก็บภาษีคริปโทฯไปก่อน 2 ปีเพื่อที่จะดำเนินการข้อกฎหมายต่างๆให้เป็นปัจจุบันมากขึ้นก่อน
1
เอกลาภ ยิ้มวิไล ซีอีโอ บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นถึงดีลความร่วมมือระหว่าง GULF กับ Binance ว่า แม้ยังเป็นเพียงการศึกษา แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดคริปโทฯ ในไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดคริปโทฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอกลาภ ยิ้มวิไล ซีอีโอ บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย)
ทั้งนี้ เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากขึ้น การแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้นแน่นอน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ ผู้ลงทุนไทย และประเทศไทยที่สามารถดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้ด้วย
"การเข้ามาทำธุรกิจเทรดคริปโทฯ ในไทยยังต้องใช้เวลาในการขอใบอนุญาต และการเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยยังมีหลากหลายมิติที่สามารถทำได้ เช่น หากดีลนี้ในปัจจุบันยังไม่มีพัฒนาการความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม เราก็คงต้องติดตามก่อน ขณะที่บริษัทนับว่า มีมาร์เก็ตแชร์และเป็นบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจมากที่สุดในภูมิภาคเอเซียน ทำให้ยังมีความสามารถในการแข่งขันและเราก็มีการปรับตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายตลาดในไทยและภูมิภาคด้วย”
พีรเดช ตันเรืองพร ซีอีโอ บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit Thailand) ​และ ในฐานะประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) กล่าวว่า ตลาดคริปโทฯ ในไทยมีการกำกับดูแลโดย ก.ล.ต. ทำให้แม้มีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาทำธุรกิจนี้ในไทยครั้งแรก ก็ต้องเข้ามาเริ่มต้นในฐานะผู้เล่นรายใหม่
พีรเดช ตันเรืองพร ซีอีโอ บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย)
แต่รู้กันว่า Binance ครองตลาดที่ไม่ถูกกำกับดูแล และคนไทยเปิดบัญชีเทรดกับ Binance เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้เล่นเดิมในตลาด ต้องจับตาว่า GULF กับ Binance จะเข้ามาในลักษณะใดก่อน เพื่อปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจรับการแข่งขันที่จะดุเดือดมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ผู้เล่นรายเดิมในตลาดเทรดคริปโทฯในไทย ยังสามารถแข่งขันได้ เพราะตลาดคริปโทฯ ยังเป็นไฟแนนเชียลโปรดักต์ที่ไม่ได้มีรอยัลตี คือ คนๆ หนึ่งสามารถเปิดบัญชีเทรดคริปโทฯ ได้หลายๆ กระดาน เช่นเดียวกับตลาดบัตรเครดิต ดังนั้นการมีผลิตภัณฑ์หลากหลายและค่าธรรมเนียมที่ดีกว่า จะทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นแน่นอน
ในส่วนของอัพบิตยังคงวางกลยุทธ์ในปี 2565 เพิ่มมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 20% จากปัจจุบันที่ไม่เกิน 3% ด้วยการเพิ่มบริการให้กับลูกค้าสามารถไปลงทุน Non-Fungible Token (NFT) ในตลาดต่างประเทศได้ และยังคงค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ถูกที่สุด 0.15%
1
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายราย ซึ่งมีทั้งสถาบันการเงิน ที่เข้ามาเจรจา เพื่อที่จะเข้ามาร่วมทุนในบริษัท เพื่อช่วยพัฒนาสินค้า และแพลตฟอร์มฯลฯ ซึ่งบริษัทต้องการพันธมิตรด้านดังกล่าวมากกว่าพันธมิตรที่ใส่แต่เงินเข้ามา เพราะบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เล่นในตลาดเทรดคริปโทเคอร์เรนซีของไทย มีมากรายแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ตื่นเต้นและน่าจับตามากกว่า นั่นคือ GULF กับ Binance จะเข้ามาทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ หรือไม่ อย่างเช่น การขุดคริปโทฯ ด้วยพลังงานหมุนเวียนของ GULF ซึ่งมีความได้เปรียบต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ซึ่งน่าติดตามความชัดเจนในประเด็นนี้ด้วย
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
อย่างไรก็ตาม หาก GULF พา Binance เข้ามาทำธุรกิจเทรดคริปโทฯในไทยได้จริง แน่นอนว่าจะสร้างความหวือหวาในตลาดในแง่ที่ผู้ใช้งานคนไทยที่คุ้นชินกับการเทรดคริปโทฯ บน Binance ต่างประเทศ สามารถใช้งานได้ง่ายบน Binance ไทย และการเทรดคริปโทฯ น่าจะมีความสะดวกมากขึ้นมากกว่าเทรดบนกระดานบิทคับ
ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดนี้ยังไม่น่ากลัว เพราะ Regulator ในไทยยังกำกับอยู่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีบน Binance ต่างประเทศไม่สามารถนำมาให้บริการในไทยได้ ทุกรายก็ยังมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ใครจะเข้าถึงฐานลูกค้าได้มากกว่ากัน ซึ่งการแข่งขันด้านราคาเรื่องค่าธรรมเนียมน่าจะกลับมาแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยปัจจุบันค่าธรรมเนียมเทรดคริปโทฯ Binance คิดเริ่มต้นที่ 0.1% ขณะที่บิทคับอยู่ที่ 0.25%
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ คือผู้ลงทุน และยังมีข้อดีคือการเปิดโอกาสดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้าในเทรดคริปโทฯในไทย ผลักดันในอุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ในอนาคตด้วย
โฆษณา