24 ม.ค. 2022 เวลา 08:15 • ข่าว
ส่งออกอาหารพุ่งเป็นประวัติการณ์
มูลค่า 1.1 ล้าน จีนยังครองอันดับ 1 ขยายตัว 50%
จับตาราคาอาหารในประเทศพุ่ง เงินเฟ้อสูง
1
องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2564 ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดเริ่มคลายตัวลง ประเทศคู่ค้าผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารไทยในมีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.8% แต่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมา 2.30% อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก
ปัจจุบันประเทศจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 24.5% มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกคือ ผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก
รองลงมาได้แก่ประเทศในกลุ่ม CLMV และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 มีสัดส่วนส่งออก 12.4% และ 11.5% ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึง 219.7% จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และแอฟริกาลดลงจากสินค้าทูน่ากระป๋องและข้าวเป็นสำคัญ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.4% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของการส่งออกอาหาร แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเข้ามากระทบทั้ง ค่าเงินบาท เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผอ.สถาบันอาหาร กล่าว แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร
สำหรับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1. ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากประชากรโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากขึ้น
2. ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัว
3. เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารเป็นสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลักจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ทั่วโลกดูเหมือนเศรษฐกิจดีขึ้นมา แต่ยังคงแฝงด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ต้นทุนเพิ่ม ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคหลังโควิดคลี่คลาย ส่งผลให้ปีนี้ประเทศไทยอาจจะต้องเจอกับสถานการณ์ราคาอาหารที่ปรับขึ้นแบบยกแผง เหมือนกับที่ทั่วโลกพบเจอ
หากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดจะทำให้ต้นทุนอาหารและราคาตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมอาหารทั้งหมดเพิ่มมาถึง 32% น้ำตาลเพิ่มมา 39% เนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 8% ขณะที่น้ำมันพืชเพิ่มสูงขึ้นถึง 98%
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่
1) ราคาวัตถุดิบภาคเกษตร บรรจุภัณฑ์ น้ำมัน เพิ่มสูงขึ้นมาก กระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง
2) การขาดแคลนแรงงาน กระทบต่อการเพิ่มผลผลิตและรับคำสั่งซื้อ
3) กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางและระดับล่าง อ่อนตัวลงจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น
ซึ่งปัจจัยด้านเงินเฟ้อน่าจะมีบทบาทมากที่สุดในการกดดันภาคอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากจะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง
ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสริมว่า ประเทศไทยมีโอกาสเป็นผู้ส่งออกอาหารที่ขยับจากอันดับ 13 ไปอยู่เลขตัวเดียวได้ แต่รัฐบาลต้องไม่อยู่ใน Comfort Zone เดินหน้ามาตรการที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บริหารจัดการต้นทุนราคาพลังงาน และที่สำคัญ คือ การลดขั้นตอนเอกสารต่างๆ แล้วใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทดแทน
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา