25 ม.ค. 2022 เวลา 15:50 • ปรัชญา
สมัยผมเด็กๆแม่จะพาไปทําบุญเข้าวัดบ่อยๆ ถวายอาหารพระ สวดมนต์ฟังธรรม ตอนนั้นผมไม่มีความสนใจอะไรทั้งสิ้นในตัวศาสนา แต่ก็ไม่ต่อต้าน ได้แต่ทําตามผู้ใหญ่ไป แม้กระทั่งมีโอกาสได้ไปบวชเณร แต่กระนั้นความศรัทธาก็ไม่เข้าไปอยู่ในหัวแต่อย่างใด เมื่อได้เข้าเรียนหนังสือตั้งแต่ อนุบาลจนถึง ม.ปลาย ก็ได้เรียนพุทธศาสนา เกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า วันสําคัญทางศาสนา ประเพณีทางศาสนา หลักคําสอน ซึ่งผมก็ท่องไปสอบอย่างงั้นเอง โดยไม่เข้าใจความหมายซักกะนิด ไม่ว่าจะเป็น อริยสัจ4 โอวาท3 ไตรลักษณ์ มงคล38 เท่าที่เรียนมา ผมคิดเอาเองว่าเป็นหลักธรรมพื้นๆ ไม่เห็นจะมีอะไร ? แม้แต่คําแปลภาษาบาลี ที่แปลออกมาจากหลักคําสอน ก็ฟังและอ่านไม่เข้าใจอยู่ดี
จนกระทั่งผมเริ่มเข้าสู่วัยทํางาน เริ่มจะรู้จักความทุกข์ ที่ระดมเข้ามาเยือน และปัญหาต่างๆเริ่มรุมเร้า เมื่อทํางานไปเรื่อยๆส่วนตัวก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี ได้รับการโปรโมท ได้รับการยอมรับ แต่ไงรู้สึกไม่มีความสุขเลย ไม่รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ถึงจะขึ้นระดับสูงสุดขององค์กร เป็น CEOไปก็งั้นๆ ไม่ได้จะมีความตื่นเต้นแต่ประการใด ( แต่ตอนเรียนใฝ่ฝันมาก ว่าจะขึ้นในระดับสูงสุดให้ได้ )
จึงเริ่มสนใจในเรื่องปรัชญาแนวหาความหมายของชีวิต ก็จะเหมือนหลายๆคนที่ชอบเข้ามาถามว่าชีวิตคืออะไร มีความหมายหรือไม่? เป้าหมายชีวิตคืออะไร? จึงเริ่มศึกษาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เซ็น, เต๋า, หลักปรัชญาต่างๆ ตอนนั้นหนังสือชื่อว่า เต๋าแห่งฟิสิกส์ ดังมาก เขียนโดยคุณฟริตจอป คราปา ในนั้นอธิบายความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์กับหลักการของศาสนาที่อธิบายความจริงต่างๆของธรรมชาติ ผมสนใจมาก เพราะนึกว่าจะมีวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้อย่างเดียว แต่หนังสือเล่มนี้ทําให้ความคิดผมเปลี่ยนไป จึงเริ่มมาศึกษาหลักปรัชญาต่างๆ อ่านงานของท่านกฤษณะ มูรติ, ศึกษาปรัชญาเต๋า, เซ็น และย้อนกลับมาทางพุทธอีกครั้ง ตอนนั้นได้อ่านหนังสือท่านพุทธทาสและได้รู้ประวัติท่านพอสมควร เริ่มจะเข้าใจสิ่งที่ท่านเขียน เพราะท่านใช้ภาษาง่ายๆ ( หนังสือคู่มือมนุษย์ )
และเริ่มเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ก็เลยตามอ่านงานท่านพุทธทาส อ่านหนังสือของคุณดังตฤณ หนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน กําลังดังมาก งานของคุณดังตฤณเปิดโลกทัศน์และเปลี่ยนมุมมองผมอีกแบบ ใช้ภาษาง่ายสื่อความหมายอธิบายธรรมะ เมื่อผมเริ่มเข้าใจมากขึ้น ผมก็ตลุยอ่านประวัติและหนังสือของเกจิอาจารย์ต่างๆ ตั้งแต่ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, หลวงพ่อชา, หลวงพ่อพุทธ, หลวงพ่อจรัญ, หลวงพ่อเทียน, หลวงพ่อปราโมทย์, ท่านอ
ไพศาล วิสาโล เป็นต้น อ่านไปมากๆก็พบว่า หลักธรรมจริงๆเหมือนใบไม้ในกํามือ คือมีไม่กี่อันที่ใช้งานจริงๆ ไม่จําเป็นต้องเด็จทั้งป่า และเมื่อเข้าใจก็จะยิ่งเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ผมกลับมานั่งนึกว่าตัวเองมัวไปอยู่ไหน ทําไมไม่เข้าใจตั้งแต่เด็กๆ มาเข้าใจเอาตอนแก่ มาถึงตอนนี้ กิเลส ตัณหา อุปาทานพอกหนามากและแข็งโป๊กยากแก่การทําลาย ความเข้าใจอย่างเดียวทําลายสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าย้อนเวลาไปได้ก็คงจะดีมาก
มาถึงปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ยิ่งห่างไกลศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาไม่เข้าใจในหลักการของศาสนา เขาไม่มีแรงจูงใจพอที่จะทําความเข้าใจและทําการศึกษา เขาไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ เขาเชื่อในวิทยาการสมัยใหม่ว่าจะเป็นคําตอบ ก็เหมือนกับผมตอนเด็กนั่นแหละ สุดท้ายเขาก็จะเป็นอย่างผม คือเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้นในตอนแก่และจะเริ่มค้นหาความหมายของชีวิตที่แท้จริงแต่จะใช้เวลานานไปหน่อยเพราะมัวแต่ไปหลงทางอยู่ โดยไม่รู้ว่าศาสนาจะเป็นคําตอบ เป็นตัวนําทางที่แท้จริง
โฆษณา