26 ม.ค. 2022 เวลา 03:02 • ธุรกิจ
"บริษัทซอมบี้" (Zombie firm) เป็นฉายาของบริษัทไม่สามารถทำกำไร แต่ก็ยังอยู่รอดในธุรกิจได้ แม้ว่าจะอยู่ในแบบครึ่งผีครึ่งคน เป็น Living dead ไปเรื่อยๆ ก็ตาม
งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของ IMF นิยาม "บริษัทซอมบี้" ไว้ว่า เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการมากกว่า 10 ปี แต่กำไรของบริษัทไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ได้ต่อเนื่องกัน 3 ปี
ที่ยังอยู่ได้ มีหลายสาเหตุ บ้างเป็นเพราะการเลี้ยงไข้จากภาครัฐ เพื่อให้ไม่กระทบอัตราการว่างงานของประเทศ บ้างก็เลี้ยงตัวเองจากการนำเงินกู้ใหม่มาโปะ ขายสินทรัพย์ หรือ แม้แต่เพิ่มทุนของกิจการ
ในวงการ Startup ที่ผมเคยอยู่เอง ก็มี zombie Startup เช่นเดียวกัน ซึ่งจะใช้วิธีอยู่รอด ด้วยสร้างภาพลักษณ์ เพื่อล่อหลอกเงินทุนจากนักลงทุน หรือเดินสายแบบนางงามเพื่อประกวดล่ารางวัล และยืดอายุขัยตัวเองต่อไป
ไม่ว่าวงการไหน บริษัทซอมบี้เหล่านี้ เหมือนกันตรงที่ไม่มีความสามารถทางการแข่งขันในตลาด ไม่สร้างผลกำไรทางธุรกิจ หนี้สินก็สูง แต่ก็แค่ "#สลบ #ไม่ตาย #แถมยังอยู่รอดได้"
สุดท้ายก็สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจเหมือนๆ กัน เช่น การแย่งชิงทรัพยากร ไล่ตั้งแต่แหล่งเงินทุน แรงงาน ฯลฯ จนส่งผลให้ ต้นทุนประกอบการบางอย่างของบริษัททั่วไปต้องสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น และสกัดกั้นโอกาสเติบโตของบริษัทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงกว่า
ในที่ทำงานเองก็มี พนักงานซอมบี้ (Zombie employee) ที่ลักษณะไม่ต่างกัน นั่นคือ ไม่สามารถสร้างผลการทำงานที่องค์กรต้องการ แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยกลยุทธ์เฉพาะตัวบางอย่าง
บางที่ก็เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Deadwood ซึ่งความหมายไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ไม่มีชีวิต ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาเติบโต แถมเบียดบังทรัพยากรและโอกาสในการเติบโตของพนักงานที่มีศักยภาพสูงกว่าด้วย
ภาระอันหนักอึ้ง จึงมักตกกับหัวหน้างาน ที่ต้องหาวิธีการบริหารจัดการพนักงานซอมบี้เหล่านี้
หัวหน้าบางคนจิตใจดีเลี้ยงไว้ ก็ต้องอุ้มไปเรื่อยๆ เหมือนเอาความเสี่ยงและอันตรายมาไว้กับตัวเองแทน และบากหน้าไปรับบาปยามที่ผลการทำงานของทีมไม่ถึงเป้า
หัวหน้าบางคน เลือกวิธีการเด็ดขาดกว่านั้น เพื่อประโยชน์สุขขององค์กรและสมาชิกทีมโดยรวม แต่ก็ไม่วายตกเป็นข้อครหา และเสียศรัทธาจากสมาชิกที่ไม่เข้าใจสถานการณ์
อ้าว โน่นก็เสี่ยง นี่ก็แย่ แล้วจะให้ทำยังไงดี?
จริงๆ แล้ว คำตอบแบบไหนก็ไม่ผิด เพราะอยู่ที่สถานการณ์
หากอาการไม่หนักนัก การเยียวยาให้วัคซีน และปรับแก้พฤติกรรมก็ทำได้ แต่หัวหน้าต้องชำนาญพอที่จะวิเคราะห์ว่า ผลการทำงานที่ย่ำแย่นั้นเกิดจากปัจจัยใด เช่น ความรู้ความสามารถ หรือ ทัศนคติในการทำงานบางอย่างไม่เหมาะสม จะได้เลือกวัคซีนรักษาได้ถูกต้อง
หากเป็นที่ความสามารถ ก็ส่งเสริมการพัฒนาทักษะเสีย แต่ถ้าเป็นเรื่องทัศนคติ วิธีแก้ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการโค้ช การสร้าง Engagement หรือ การบริหารจัดการที่เพิ่มไฟในการทำงาน เช่น การโอนย้าย หมุนเวียนการทำงาน
แต่ถ้าอาการหนักมาก หนทางในการรับมือ ซึ่งก็ไม่ต่างจากในหนังเท่าไร คือ ส่งซอมบี้ไปสู่ที่ชอบๆ ซึ่งเป็นหนทางเดียว และเป็นสิ่งที่หัวหน้าพึงกระทำด้วย เพราะที่องค์กรจ้างมาก็เพื่อให้บริหารจัดการผลงานของลูกทีม
การจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ คือ สิ่งที่วัดฝีมือของหัวหน้า ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องวิเคราะห์เสียก่อนว่าเป็นเคสไหน และจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์เท่านั้นเองครับ
อ้อ แล้วอย่าลืมหมั่นเช็คตัวเองเป็นระยะๆ ด้วยว่า เผลอติดเชื้อซอมบี้ไปหรือยังนะครับ!
เรียนรู้เรื่องการใช้ความคิดให้ถูกสถานการณ์ ดูหลักสูตรพัฒนาหัวหน้า ผู้นำ และ mindset เพื่อการทำงานที่ดีขึ้นทุกๆวัน
ติดตาม Coach For Goal ได้ ที่ช่องทางเหล่านี้
.
โฆษณา