6 ก.พ. 2022 เวลา 08:26 • ข่าวรอบโลก
เรือยอทช์ลำใหม่ของ​ Jeff Bezos​ และ​ สะพานประวัติศาสตร์​ของเมือง​ Rotterdam
ข่าวใหญ่ในโลกอาทิตย์​ที่ผ่านมาอีกหนึ่งข่าว​ คือ​ Jeff Bezos เจ้าของ​ Amazon.com ขอรื้อสะพานโบราณอายุร้อยปีของเมืองร็อตเทอร์ดาม​ชั่วคราว​ เพื่อให้เรือยอทช์ลำใหม่ของเค้าที่กำลังต่ออยู่ที่อู่ต่อเรือ​บริษัท​ Oceanco เมือง​ Alblasserdam สามารถ​แล่นออกทะเลได้
ตำแหน่งอู่ต่อเรือบริษัท Oceanco ที่อยู่ลึกเข้าไปในประเทศ ทำให้ต้องล่องแม่น้ำออกมาผ่านสะพานก่อนออกทะเล
เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อสักสองวันที่ผ่านมา​ เนื่องจากเพิ่งมีข่าวรั่วออกมาว่าจะมีการรื้อสะพาน​ Koningshavenbrug (ชาวเมืองจะเรียกชื่อเล่นว่า​ De​ Hef) ทำให้เกิดกระแส​ต่อต้านมากๆ
สะพาน​ De​ Hef นั้นถือว่าเป็นสัญญลักษณ์​ของเมืองร็อตเทอร์ดาม​ ประเทศ​เนเธอแลนด์​ สะพานหนึ่ง​ คู่กับ​สะพาน Erasmus แต่​ De​ Hef​ เก่าแก่กว่ามาก
De Hef นั้นมีประวัติ​ย้อนหลังไปถึงปี​ 1878 หรือ​ 144 ปีมาแล้ว​ ซึ่งเป็นสะพานสำหรับรถไฟที่ยกไม่ได้​ แต่กีดขวางการสัญจร​ทางน้ำ​ จึงรื้อสร้างใหม่เป็นสะพานยกเปิดได้ที่มีสองหอคอยคู่ดังรูปในปี​ 1927 และคงหน้าตาแบบนี้มาเป็นเวลา​ 95​ ปีแล้ว​ โดยผ่านความเสียหายจากระเบิดในช่วงสงครามโลก​ และซ่อมแซม​มาหลายครั้ง​ ช่วงต้นทศวรรษ​ 90 มีการพยายามจะรื้อสะพานแล้วสร้างใหม่​ แต่ได้รับการต่อต้านมากจนเปลี่ยนมาซ่อมแซม​แล้วเปิดให้ใช้เป็นสะพานสำหรับรถยนต์​แทน
เรือยอทช์ลำใหม่ของ Jeff Bezos ราคา 18000 ล้านบาท
เรือยอทช์ลำใหม่ของ​ Bezos นั้นมีมูล​ค่าสูงถึง​ 400​ ล้านปอนด์​ (ประมาณ​ 18000​ ล้านบาท)​ มี​ 3 ชั้น​ มี​ 3 Mast towers ลงทะเลเมื่อไรจะกลายเป็นเรือยอทช์ที่ใหญ่ที่สุด​ในโลก
เนื่องจากเรือลำนี้มันใหญ่มาก​ แล้วยังมี​ Mast Towers อีกสามต้น​ มันจึงผ่านสะพาน​ De​ Hef​ ไปไม่ได้​ โดยความสูงจากผิวน้ำเมื่อน้ำลงจนถึงใต้ท้องสะพานเมื่อยกขึ้นสูงสุดมีเพียง​ 39​ เมตร​ ซึ่งไม่เพียงพอให้เรือผ่านไปได้​ จึงนำมาซึ่งแผนการขอรื้อสะพานชั่วคราว​
สะพาน Koningshavenbrug หรือ De Hef ที่เมือง Rotterdam
โดยทาง Bezos​ ล้อบบี้สภาเมืองแบบเงียบๆ​ เสนอจะจ่ายค่ารื้อและติดตั้ง​คืนให้​ แต่ข่าวรั่วออกมาทำให้ชาวเมืองร็อ​ตเทอร์ดามและทั้งประเทศ​ไม่พอใจอย่างมาก​ เนื่องจากเหมือนเป็นการดูถูกศักดิ์​ศรีของคนในประเทศ​จากความต้องการ​ส่วนตัวของคนรวยคนเดียว​
ตอนนี้หลังจากเป็นข่าวดังไปทั่วโลก​ ผมคิดว่าทางออกมีทางเดียวคือรื้อสะพานไม่ได้​ และ​ Bezos​ ต้องเปลี่ยนแผนเป็นสร้างส่วนบนคาไว้ก่อน​ แล้วปล่อยเรือลงน้ำ​ ลอด​ใต้ De​ Hef​ ออกมาให้ได้ก่อน​ จากนั้น​ ค่อยไปหาอู่ต่อเรือที่อื่นต่อส่วนบนให้เสร็จ​
สองสะพานสัญญลักษณ์ของเมือง Rotterdam ด้านหน้าคือสะพาน De Hef ด้านหลังคือ สะพาน Erasmus
ปัญหาความสูงสะพานในประเทศ​เนเธอแลนด์​นั้นเป็นปัญหา​โลกแตกมาก​ เพราะประเทศเค้ามีแต่คลองจึงมีสะพานเต็มไปหมด​ แต่เกือบทั้งหมดสามารถยกเปิดได้​ สะพานเก่ามักจะเป็นแบบหอคอยคู่​ ยกขึ้นแนวดิ่ง​ (Vertical Lift Bridge) ซึ่งจะยกได้ถึงความสูงหนึ่งเท่านั้น​ ระยะเปิดจากผิวน้ำถึงใต้สะพานมักจะไม่เกิน​ 45​ เมตร​ เต็มที่​ ในขณะที่สะพานใหม่จะเป็นแบบยกเปิดได้ทั้งตัวที่ไม่จำกัดความสูงอีกต่อไป
ด้วยความโบราณของเมืองและอุตสาหกรรม​เกี่ยวกับน้ำของประเทศ​ การสร้างสะพานยกเปิดได้ทั่วประเทศ​ตั้งแต่ร้อยปีก่อน​ ก็ถือเป็นความก้าวหน้าทางวิศวกรรม​เป็นอย่างมาก​ ซึ่งเค้าคิดว่ายกสูงระดับนี้ก็​เพียงพอแล้ว​
อู่ต่อเรือและยาร์ดก่อสร้าง​โครงสร้าง​ในทะเลทั้งหลายของประเทศ​ที่ก่อตั้งมานาน จึงตั้งอยู่ลึกเข้าไปในประเทศ​ ไม่ใกล้ทะเล เพราะไม่คิดว่าจะมีปัญหา​กับสะพาน​ แล้วอาศัยการขนลงเรือล่องผ่านแม่น้ำเพื่อมาออกทะเล แทนที่จะอยู่ติดทะเล​ เหมือนยาร์ดเปิดใหม่ๆ
งานเก่าผมงานหนึ่งต้องแก้ไขโครงสร้างหลายรอบเพื่อให้สามารถลอดใต้สะพานBotlek เมืองร็อตเทอร์ดามได้ โดยเหลือระยะปลอดภัยเพียง 1 เมตร
ในขณะที่​เทคโนโลยี​มันพัฒนา​ไปเรื่อยๆ​ จนโครงสร้าง​ที่ขนโดยเรือหรือตัวเรือเอง​ มันใหญ่โตจนเลยความสูงสะพานไป​ ทำให้อู่ต่อเรือและยาร์ดก่อสร้าง​โครงสร้าง​ในทะเลไม่สามารถมีส่วนร่วมกับงานใหม่ๆ​ ที่ใหญ่โตมากได้​ ทำให้เสียโอกาสและยาร์ดก็โตขึ้นไม่ได้ (งานใหญ่ๆ​ มักมีความสูงไม่น้อยกว่า​ 40 เมตร​ อาจจะถึง 50​ เมตร​ รวม​ freeboard ของเรือด้วย​ ก็มักลอดใต้สะพานเก่าๆ​ ไม่ได้)
การจะรื้อสะพานออกแล้วสร้างใหม่​ ถึงแม้จะยอมลงทุนรื้อแล้วสร้างให้ใหม่ทั้งหมด​ ก็มักจะเจอกับแรงต่อต้านเหมือนที่เป็นข่าวอยู่​ ยิ่งเป็นสะพานเก่ายิ่งไม่สามารถทำอะไรได้​ ย้ายที่ก่อสร้างยังเป็นไปได้กว่า
โดยปกติ​ถ้าเป็นงาน​ Professional ต้องมีแบบเรือและรู้ล่วงหน้าตั้งแต่รับก่อนงานแล้วว่าจะติดสะพานหรือไม่​ถึงมีการเปลี่ยนแปลง​แบบช่วงก่อสร้าง​แต่จะต้องคำนึงถึงทางออกทะเลเสมอ​ จะไม่มีใครเปลี่ยน​แบบจนขนออกไม่ได้​ เพราะค่าเสียหาย​สูงมาก
แต่อันนี้งานของมหาเศรษฐี​​ แบบเรือเริ่มต้น​คิดว่าน่าจะลอดใต้สะพานได้ถึงไปสร้างตรงนั้น​ คงมีการเปลี่ยนแบบภายหลัง​ และ​ Bezos คงไม่สนว่าจะลอดสะพาน​ได้หรือไม่ ให้บริษัท​ที่สร้างไปหาทางแก้ปัญหา​กันเอง
ที่มา
โฆษณา