Stochastic Oscillator (EP.2)
อยู่กันต่อกับซีรี่การใช้งาน Stochastic Oscillator สำหรับการเทรด Forex Crypto ทองคำ น้ำมัน ในแบบฉบับการใช้งานจริงที่ไม่เหมือนใคร คราวก่อนเราคุยกันไปแล้วว่า Sto คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และใช้วัดความแกว่งได้ยังไง …
คราวนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการจำ Sto ไปใช้งาน และการนำไปประยุกต์ เพื่อนำไปสร้างเป็น Trading Setup ในแบบฉบับของตัวคุณเองด้วย อ่านจบแล้ว ก็สามารถนำไปใช้เทรดและทำกำไรได้ทันทีเลย
คำเตือน
เนื้อหาในเว็บไซท์นี้ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุนหรือชักชวนลงทุน เป็นเพียงการแชร์ประสบการณ์ที่เคยอยู่ในตลาดทุนมาก่อนที่มีทั้งถูกและผิด การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
หากคุณยังไม่รู้ที่มาของ Stochastic Oscillator สามารถย้อนกลับไปอ่านใน EP.1 ได้ที่ลิงค์นี้นะครับ
เอาล่ะ .. ในบทความนี้ผมจะอธิบายโดยการอ้างอิงข้อมูลบางส่วนมาจากตำรา Technical ในตำนานของประเทศไทยด้วย นั่นคือ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical)” (หน้า 84-87 และ 177) โดย คุณ สุรชัย ไชยรังสินันท์ และบางส่วนมาจากคอร์สออนไลน์ที่อยู่ใน Skilllane ที่ชื่อว่า “ทำเงินในตลาด Forex มันต้องแบบนี้สิ“
ขอขอบพระคุณตระกูล ไชยรังสินันท์ ที่มอบหนังสือทรงคุณเพื่อเบิกเนตรให้แด่เทรดเดอร์ทั่วประเทศไทย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.skilllane.com/courses/forex-by-thailandfxwarrior
การนำ Stochastic Oscillator มาใช้งาน
การใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีลักษณะแบบเดิม โดยเราจะนำ Sto มาใช้เพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลักอันได้แก่ การหา OBOS, การหาจุดตัด และการหา Divergence
ดังนั้นเรามาค่อยๆ ทำความรู้จักการใช้งานแต่ละแบบอย่างละเอียดไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า
ดูการซื้อมาก / ขายมาก : Over bought / Over sold (OBOS)
เนื่องจาก Stochastic Oscillator จัดเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สำหรับการวัดการแกว่งของราคาเมื่อเทียบกับกรอบราคาสูงสุดและต่ำสุดเพื่อให้ออกมาอยู่ในแกน 0% ถึง 100% เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ และเหมาะกับการวัดรอบวัฏจักรเล็กๆ
1
ดังนั้นเมื่อเรานำค่าของ Sto มาพล๊อตกราฟ (%K) จะทำให้เราได้เส้นสีเขียวแกว่งตัวขึ้นลงดังรูป
ในรูปคุณจะเห็นว่ามันมีอยู่ 2 คำที่ควรต้องพิจารณา คือ OB และ OS
OB ย่อมาจาก Over bought แปลว่าการ “ซื้อมาก” .. ส่วน OS ย่อมาจาก Over sold แปลว่าการ “ขายมาก”
อ่านดีๆ นะครับ Over bought แปลว่าการ “ซื้อมาก” แต่เกือบทุกแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคือการ “ซื้อมากเกินไป” และคำว่า “เกินไป” คำนี้แหละทำให้เราหลงประเด็น (และผมจะค่อยๆ ขยายความคำๆ นี้ในภายหลัง)
ปกติค่า %K จะมีค่าที่วิ่งไปมาอยู่ในช่วง 0% จนถึง 100% โดยการที่ค่า %K มีค่ามากกว่า 80% ขึ้นไป ตามตำราหลายๆ ที่จะเรียกช่วงนี้ว่า Over bought เพราะมีการซื้อมาก ส่งผลให้ราคามีการแกว่งตัวขึ้นไปใกล้เคียงกับกรอบราคาบนสุดในช่วง 14 วัน
ทำนองเดียวกัน เมื่อ %K มีค่าต่ำกว่า 20% แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ราคาปิดไปอยู่ใกล้กับบริเวณราคาต่ำที่สุดในรอบ 14 วันเช่นกัน เราจะเรียกช่วงนี้ว่า Over sold
อ้างอิงจาก “การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical)” (หน้า 85) ซึ่งจะกล่าวถึงรูปแบบการใช้งาน OBOS ซึ่งจะตรงกับตำรา Technical ต่างประเทศ รวมถึงเว็บไซท์ต่างๆ ที่ให้ความรู้ทางด้านการใช้งาน STO ด้วยเช่นกัน แต่ละที่จะให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ณ บริเวณที่ STO เกิดสัญญาณ OB จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ทางเทคนิคให้เรารู้ว่า สินทรัพย์ตัวนั้นมีการ “ซื้อมาก” ในวัฏจักรรอบสั้นขึ้นแล้ว
ลิงค์งานวิจัยอ้างอิง https://so02.tci-thaijo.org/index.php/BECJournal/article/view/92594/106115
ทำนองเดียวกัน เมื่อ STO เกิดสัญญาณทางเทคนิค OS ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าสินทรัพย์ตัวนั้นมีการ “ขายมาก” ในวัฏจักรรอบสั้นนั่นเอง
เราจะนำสัญญาณ OS และ OS ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ผมขออ้างอิงจากคำกล่าวที่อยู่ในงานวิจัย “การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิค : กรณีศึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”, Journal of Business, Economics and Communications, Vol.13, Issue 2 (หน้าที่ 49-50) ถึงการใช้งานสัญญาณ OB และ OS ตามหลักสากลนะครับ
ในรอบวัฏจักรระยะสั้น เมื่อเกิดสัญญาณ OS และค่า %K กำลังตัดแกน 20 ขึ้นไป แบบนี้จะถือเป็นสัญญาณ “การซื้อ” และทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดสัญญาณ OB ประกอบกับค่า %K กำลังตัดแกน 80 กลับลงมา แบบนี้จะถือเป็นสัญญาณ “การขาย”
แล้วมันจะทำให้เราได้กำไรไหม?
นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้คุณทนอ่านบทความของผมมาจนถึงบรรทัดนี้ เพราะคุณเองก็อยากรู้แล้ว ว่า “ตกลงทำแบบนี้แล้วมันได้กำไรป่ะ?” ใช่มั้ยล่ะ
ต้องบอกว่า Sto มันเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับการเก็บทำกำไรระยะสั้นในช่วงตลาด Sideway ที่มีลักษณะที่เป็นวัฏจักรรอบสั้น ถ้านำสัญญาซื้อขายมาใช้ช่วงนี้ ประกอบกับการเคลื่อนตัวของราคาตามปกติ ยังไงก็ได้กำไร .. แต่เทรดเดอร์มักจะมาตกม้าตายเมื่อเจอตลาดเปลี่ยนสภาวะเป็น Trend เพราะความเคยชินกับระบบเทรดเดิมและไม่ได้ตั้ง SL เอาไว้
เพราะเราต่างก็รู้ดีว่า ระบบเทรดที่ทำกำไรช่วง Sideway จะทำกำไรช่วง Trend ไม่ได้ ตลาดจึงคัดสรรเฉพาะเทรดเดอร์ที่ปรับตัวแล้วเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้
ปล. ซึ่งจริงๆ การเทรดในตลาดแบบ Sideway ผมก็ทำเป็นประจำ เพราะผมพัฒนาระบบเทรดเพื่อใช้ในการทำกำไรในสภาวะตลาดช่วงนี้อยู่แล้ว หากคุณอยากรู้ว่าช่วงตลาด Sideway ผมเทรดยังไง และตอนที่ตลาดเคลื่อนตัวเป็น Trend ผมแก้ทางเพื่อทำเงินช่วงนั้นยังไง? เข้ามาอ่านต่อได้ที่บทความนี้นะ
ดังนั้นเทรดเดอร์ที่นำ Indicator มาใช้งานเพื่อบอกจุดซื้อขาย พึงระลึกอยู่เสมอว่า Indy มันเป็นเพียงจุดบอกสัญญาณเฉยๆ “ไม่ได้เป็นพันธะสัญญา” เมื่อมันแจ้งเตือนมาว่าเกิดสัญญาณ OB ที่บอกว่ามีการ “ซื้อมาก” ส่วนใหญ่ก็จะไปตีความว่ามันมีการ “ซื้อมากเกินไป” ทำให้เราเข้าใจว่าราคามันต้องลงมาได้แล้ว โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ที่มีต่อคำว่า “ซื้อมากเกินไป” ก็จะยิงออเดอร์ Sell ทันที
ผมยกตัวอย่างเป็น “ทองคำ” ก็ได้ ซึ่งคุณก็น่าจะรู้ดีว่าราคาทองคำมันขึ้นลงตาม Demand และ Supply ตาม Fundamental ของมัน .. การที่ราคามันค่อยๆ ปรับฐานขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปได้อีก หากมีคนต้องการมัน ณ ช่วงเวลานั้น แม้ว่าสัญญาณทางเทคนิคจะบอกว่ามันเกิดสัญญาณ OB ไปแล้ว … แต่หากผู้คน ณ เวลานั้นยังคงต้องการถือทองคำเพื่อเป็นการรักษามูลค่าของพอร์ตลงทุน ย่อมทำให้ราคาสามารถขึ้นไปต่อได้อีก
นึกภาพออกไหม! สัญญาณทางเทคนิคเกิด OB แต่ราคายังคงปรับตัวสูงขึ้นไปอีก และขึ้นไปอีก .. แม้ว่าราคาจะมีการปรับฐานย่อลงมาบ้าง แต่เดี๋ยวก็จะเกิดสัญญาณ OB ขึ้นไปอีก
หากคุณยังคงทำตามสัญญาว่า เมื่อเกิดสัญญาณ OB ก็จะ Sell ไปเรื่อยๆ .. ทั้งๆ ที่ปัจจัยทาง Fundamental ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นไปอีก .. แบบนี้ย่อมทำให้ออเดอร์ของคุณโดน SL(Stop Loss) ไปเรื่อยๆ จนเงินทุนหมดเกลี้ยงแน่นอน
ความง่าย = สัญญาณอันตราย!
ความน่ากลัวของตลาดทุนต่างๆ ทั้ง หุ้น คริปโตฯ ทองคำ น้ำมัน Forex ก็คือทุกคนคิดว่า “มันง่าย” ทั้งที่มัน “โคตรยาก” ดังนั้นไม่ว่าคุณจะไปเรียนรู้เทคนิคการเทรดและทำเงินจากที่ไหนมา อย่าพึ่งปักใจเชื่อว่าถ้าทำตามแนวทางนั้นๆ แล้วจะรวย ควรเอะใจ และพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตัวคุณเองก่อน (ตามหลักกาลามสูตร) เพราะเงินเป็นของคุณ คุณต้องรักษามันไว้ให้ดี อย่าให้ใครมาบอกว่าคุณควรทำยังไงกับเงินของคุณเด็ดขาด!
งั้นควรใช้งานสัญญาณเทรดยังไงดี?
พึงระลึกเสมอว่า Indicator ถูกพัฒนาขึ้นมาจากข้อมูลแค่ ราคาเปิด ปิด สูง ต่ำ และปริมาณซื้อขายเท่านั้น ไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการใช้งานเมื่อเกิดสัญญาณ จึงควรเน้นใช้เพื่อเป็น “จุดสังเกต” ร่วมกับระบบซื้อขายของเราจะดีกว่า
เช่น เราต้องการเทรดช่วงตลาด Sideway เมื่อเกิดสัญญาณ OB/OS ขึ้นมาแล้ว อย่าพึ่งเข้าซื้อ/ขายทันทีนะ! แต่ลองกลับไปดูปัจจัยพื้นฐานมันก่อน ว่ายังคงเหมือนเดิมไหม ดูแนวโน้ม ดูพฤติกรรมย้อนหลังเพิ่มเติม และดูสัญญาณเทรดจากระบบซื้อขายหลักของเราด้วย หากทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผนเดิมที่วางเอาไว้ ถึงค่อยเริ่มวางออเดอร์นั่นเอง
แลดูยุ่งยากหน่อย แต่นี่แหละคืองานของอาชีพเทรดเดอร์ ถ้าทำบ่อยๆ เดี๋ยวก็ชินไปเองครับ
ดูการตัดกันของ %K และ %D : Cross Over
เมื่อคุณรู้แล้วว่า Sto เราเอามาดูสัญญาณ OBOS อย่างเดียวไม่พอ และรู้ว่าควรนำมันมาใช้เพื่อเป็น “จุดสังเกต” พฤติกรรมของราคา เพื่อมองหาโอกาสในการทำเงินระยะสั้นจากตลาด ดังนั้นหากเราใช้เพียงแค่จุดสังเกตเดียวคงจะไม่พอ ดังนั้น George C. Lane จึงเพิ่มตัว %D(เส้นสีแดง) ขึ้นมาอีกหนึ่งค่า เพื่อนำมาเป็นค่าเฉลี่ยค่า %K นั่นเอง
แน่นอนว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถูกเพิ่มขึ้นมาเพื่อการ “ยืนยัน” การกลับตัวของ %K(เส้นสีเขียว) เราจะได้มีจุดสังเกตได้ง่าย ว่าตอนนี้มีสัญญาณการกลับตัวของ STO ขึ้นจริงๆ แล้วหรือยัง
ลำพังแค่ค่า %K อย่างเดียว เทรดเดอร์จะสังเกตการกลับตัวได้ยาก เพราะลำพังแค่สัญญาณ OB/OS ก็บอกการกลับตัวได้ไม่ 100% อยู่แล้ว ดังนั้นการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เข้ามาช่วย จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสังเกตที่ดีได้ในระดับนึงเลย
และการใช้งานก็ยังคง Concept เดียวกันกับการใช้งาน MA เลยครับ เพราะจะดูการกลับตัวจากการเกิด Golden Cross และ Death Cross
สัญญาณซื้อ จะมีขึ้นเมื่อเกิด Golden Cross(%K ตัด %D ขึ้น) ณ บริเวณ Over Sold (จุดที่ %K น้อยกว่า 20%)
สัญญาณขาย จะมีขึ้นเมื่อเกิด Death Cross(%K ตัด %D ลง) ณ บริเวณ Over Bought (จุดที่ %K มากกว่า 80%)
*เพื่อให้คุณเข้าใจเรื่อง Golden Cross และ Death Cross ผมเลยไปยืมรูปมาจากบทความเรื่อง Moving Average ที่ลงไว้เมื่อเดือนก่อนให้คุณดูดังนี้นะ
เอาล่ะ .. ทีนี้ทุกอย่างก็เริ่มดูดี ตอนนี้เราก็สามารถสังเกตรอบการแกว่งตัวของราคาโดยใช้ STO ได้สมบูรณ์แบบ เพียงแค่สังเกตการตัดกัน บริเวณ OB/OS ก็เพียงพอแล้ว ควบคู่กับติดตามพฤติกรรมของราคาไปพร้อมกัน ก็จะทำให้เราสร้างระบบเทรดเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นได้แล้ว
ผมจะพาคุณย้อนเวลากลัยไปยังคาบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ตอนมัธยมปลายที่เราได้เริ่มเรียนกฏของการเคลื่อนที่ แต่หากคุณไม่เคยเรียนมันมาก่อนก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะเราแค่จะทบทวนความทรงจำกันแค่เล็กน้อย เพื่อนำทักษะนี้ไปประยุกต์ใช้ในการเทรดด้วยกัน
มีอยู่บทเรียนนึงที่ชื่อว่า “การเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย(Simple Harmonic Motion: SHM)” (อ้างอิงจาก Wikipedia) ได้อธิบายเอาไว้ว่า มันคือการเคลื่อนที่เป็นคาบรูปแบบหนึ่ง(Periodic Motion) ที่มีเงื่อนไขดังนี้
🔹แรงคืนตัว แปรผันตรงกับการกระจัดจากจุดสมดุล
🔹แรงมีทิศทางเข้าหาจุดสมดุลเสมอ
🔹แรง มีเครื่องหมายตรงข้ามกับการกระจัดเสมอ
ประเด็นคือมันเป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์สำคัญที่ใช้เพื่ออธิบายการเคลื่อนที่ได้หลายอย่าง ตั้งแต่การสั่นของลูกตุ้ม ไปจนการสั่นของโมเลกุลเลยทีเดียว ดังนั้นมันจะมีตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่หลักๆ อยู่ 3 ตัว ได้แก่ แอมพลิจูด(Amplitude: A) คาบ(Period:T) และ ความถี่(Frequency:F)
ผมจะหยุดทฤษฏีเกี่ยวกับ SHM เอาไว้แค่ตรงนี้ แล้วเรามาดูหน้าตาของการเคลื่อนที่แบบ SHM ไปพร้อมกันดังรูปนี้
รูปที่แสดงเป็นภาพเคลื่อนไหวนะ ถ้าคุณเห็นบทความนี้ใน Blockdit ของมองไม่เห็นการเคลื่อนที่แบบ Gif ให้ลองเข้ามาดูบทความฉบับเต็มๆ ได้ที่เว็บของผมตามลิงค์ด้านล่างสุดของบทความได้เลย
จากรูป แสดงให้เห็นถึงการแกว่งตัวขึ้นลงของลูกตุ้มที่ผูกติดอยู่กับสปริง และกำลังร่วงลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก และถูกดึงกลับด้วยแรงดึงจากสปริง คุณจะสังเกตเห็นว่าการขึ้นลงของลูกตุ้มในระบบปิดแบบนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ลูกตุ้มจะขึ้นไปจนถึงระยะสูงสุดที่ +A และระยะต่ำสุดที่ -A โดยช่วงเวลาจากจุดสูงสุดไปยังจุดต่ำสุดคือ T(Period) นั่นเอง
เริ่มเอะใจหรือยัง ว่ามันเกี่ยวกับการเทรดยังไง?
ต้องบอกก่อนว่า SHM เป็นการเคลื่อนที่ในระบบปิดนะ ซึ่งชีวิตจริงมันอาจจะมีแรงอื่นๆ มากระทำกับมันได้มากมาย เช่นเดียวกับแรงซื้อแรงขายในตลาดที่มีปัจจัยมากระทำกับมันได้เยอะแยะเต็มไปหมด และด้วยการแกว่งตัวไปในกรอบเวลาสั้นๆ (14 วัน) จึงอนุมานให้มันคล้ายกับการแกว่งตัวของลูกตุ้มได้เช่นกัน
แสดงว่าในกรอบเวลาสั้นๆ หากไม่มีปัจจัยภายนอกใดๆ มากระทบกับพื้นฐานของราคาอีก STO ก็เปรียบเสมือนการแกว่งตัวไปมาของลูกตุ้มเหล็กติดสปริง เราสามารถหาจุดแอมพลิจูด(A) ได้จากจุดที่การเกิด Crossing ที่บริเวณ OBOS ได้
นั่นหมายความว่า ณ จุดที่เกิด Death Cross บริเวณ Over Bought เราจะนับจุดนั้นเป็นจุดที่มีแอมพลิจูดสูงที่สุด (+A) และทำนองเดียวกัน ณ จุดที่เกิด Golden Cross บริเวณ Over Sold จะนับจุดนั้นเป็นจุดที่มีแอมพลิจูดต่ำที่สุด (-A)
และ ณ บริเวณที่เกิดจุด +A ตำแหน่งที่ 1 จนถึง +A ตำแหน่งที่ 2 เมื่อวัดระยะดูแล้ว จะทำให้เราได้ค่า T ที่แสดง Period นั่นเอง เพียงแค่นี้ก็ทำให้เราได้ใช้คุณสมบัติที่เรียกว่า Periodic Motion ได้แล้วนั่นเอง
เราจะสามารถใช้ความสามารถนี้ในการอนุมานจุดพักตัวต่อไปของราคาได้ และสามารถมองหาราคาสูงสุด/ต่ำสุด ณ รอบของการแกว่งของราคาได้ด้วยเช่นกัน สามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบกับการเทรดแบบ Trend Follower ได้ด้วย ส่วนนี้หากมีโอกาสดีๆ ผมจะนำมาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของกลยุทธ์การเทรดอีกทีนะครับ
Divergence
แน่นอนว่า Oscillator ที่ถูกนำมาใช้กับการวิเคราะห์ทางเทคนิคโดยทั่วไปแล้วจะถูกนำมาหา “ความผิดปกติ” ที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างราคากับ Indy แบบแกว่ง ซึ่ง Sto ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดนี้ซะด้วย แสดงว่าเราก็สามารถหา “จุดกลับตัว” ได้ด้วยสิ กระบวนการแบบนี้ทางเทคนิคจะเรียกว่า “Divergence”
เนื่องจากเรากำลังทำการวิเคราะห์ข้อมูลของราคา ควบคู่กับตัวบ่งชี้แบบแกว่งอยู่ โดยทั่วไปแล้ว หากราคามีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการพักตัวเป็นระลอก เราก็จะมองเห็นราคาเกิด HH (Higher High) และ HL (Higher Low) เป็นระยะๆ ใช่มั้ยล่ะ
เช่นเดียวกันกับ Sto หากราคามีการปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเกิด HH และ HL ตามกันไปด้วยเช่นกัน … ลักษณะที่พฤติกรรมของราคาสอดคล้องกันกับ Sto แบบนี้เราเรียกมันว่า “พฤติกรรมแบบปกติ”
แบบนี้หากวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว จะหมายความว่าสินทรัพย์ตัวนี้ก็ยังคงมีอนาคตสดใส และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แล้วความไม่ปกติเป็นยังไง?
หากราคาของสินทรัพย์เกิด HH และ HL ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ค่า STO เกิด LH (Lower High) และราคามีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์แบบนี้แหละที่เรียกว่า Divergence เพราะเกิดการขัดแย้งกันระหว่างราคาและ Indicator ดังตัวอย่างในรูปนี้
นี่แหละคือข้อดีของ Oscillator เพราะมันมีจุดสังเกตให้เราได้ดูง่ายๆ ณ จุดที่เป็น OB/OS เพียงแค่เราต้องสังเกตจากการเดินทางของเส้น STO ให้ครบรอบ Period ก่อนนะ จึงจะสามารถนับรอบมันได้ เพราะถ้าคุณนับมันผิด นั่นเท่ากับว่าคุณอ่านค่ามันไม่เหมือนกันเทรดเดอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้เครื่องมือตัวนี้ และถ้าคุณอ่านค่ามันไม่เหมือนคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันจะทำให้คุณตีความหมายและวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาด ส่งผลให้การวางแผนกลยุทธ์การเทรดผิดไปหมดด้วยเช่นกัน
ดังนั้น … สิ่งที่ควรทำในการหา Divergence คือการหาตำแหน่งของจุด High และ Low ของเส้น Sto ให้เรียบร้อยก่อน นับจุด High เฉพาะจุดที่เกิด Death Cross บริเวณ OB และนับจุด Low ที่จุดเกิด Golder Cross จากนั้นหาจุด High ของ Sto อีกรอบ เพียงแค่นี้เราก็ได้ค่า Period แล้วล่ะ
เมื่อได้เส้น Period เราจึงจะสามารถลากเส้น High ของ Sto จุดหนึ่ง ไปยัง High ของ Sto จุดที่ 2 ได้นั่นเอง
สรุป
ถือเป็นอีกหนึ่ง EP ที่มีความยาวพอสมควร เพราะผมค่อนข้างตั้งใจอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้กับเพื่อนๆ เทรดเดอร์ได้เข้าใจการใช้งาน Oscillator อย่างถ่องแท้ และเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาข้อมูลอย่างถูกต้อง จะได้นำไปใช้ต่อยอดในการสร้างระบบเทรดที่เหมาะกับพอร์ตการลงทุนของคุณเอง และทิ้งท้ายเอาไว้ว่า คุณอาจจะต้องอ่านบทความนี้อีกหลายๆ รอบตั้งแต่ EP.1 และลองกลับไปฝึกตีเส้น Sto เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากหน้างานบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ ดังลิงค์นี้
และความชำนาญนี้แหละ จะทำให้คุณเข้าในพฤติกรรมของสินทรัพย์นั้นๆ แล้วคุณจะมองเห็นเองว่าควรจะวางแผนในการเข้าซื้อสินทรัพย์ตัวนั้นๆ อย่างไร จึงจะมีประสิทธิ์ภาพที่สุด และเหมาะกับพอร์ตการลงทุนของคุณมากที่สุด … หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับคุณนะครับ หากมีโอกาสดีๆ เดี๋ยวผมจะสานต่อ Indicator ตัวอื่นๆ ให้ครบถ้วน คุณจะได้นำมันไปใช้ในการทำเงินจากตลาดด้วยความเข้าใจจริงๆ … แล้วเจอกันบทความหน้านะครับ
อ้างอิง
บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.thailandfxwarrior.com/forex/stochastic-oscillator-ep-2/
บทความที่คุณอาจสนใจ
โบรกเกอร์ forex เลือกยังไงดี ? https://www.thailandfxwarrior.com/forex/how-to-select-broker-in-forex-market/
ตั้ง ค่า Moving Average(MA) ใน Forex (EP.1) https://www.thailandfxwarrior.com/forex/the-story-of-moving-average-ma-ep-1/
#Forex #stochastic #เปิดบัญชีเทรด forex
ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
6 ถูกใจ
10 แชร์
7.4K รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 6
    โฆษณา