17 ก.พ. 2022 เวลา 17:18 • การศึกษา
คนไทยเราใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องหรือไม่?
ที่จริงผมกะจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้เขียนซักทีจนเมื่อวานทางราชบัณฑิตได้บัญญัติให้ใช้ Krung Thep Mahanakorn แทน Bangkok ทำให้เกิดดราม่า ข้อคิดเห็นต่างๆนานาว่าสุดท้ายแล้ว "ภาษาไทย" ควรใช้อย่างไรถึงจะถูก
ใครขี้เกียจอ่าน ผมสรุปไว้ที่ย่อหน้าสุดท้ายแล้วครับ
เราเคยได้ยินนักวิชาการหรือคนบางคนพยายามให้เราใช้ภาษาให้ถูกต้องหรือไม่ครับ เช่น ห้ามเรียกพระสงฆ์ว่า องค์ แต่ให้เรียกว่ารูป ห้ามเขียน "แครอท" ต้องเขียน "แคร์รอต" หรือบอกว่านักข่าวชอบเขียนข่าวโดยใช้คำผิดๆ เช่นประโยคที่ว่า "ตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว" ก็มีผู้เชี่ยวชาญ(ในรายการชีพจรโลกของคุณสุทธิชัย) มาบอกว่าต้องใช้ "ตายเพราะพิษบาดแผล" ห้ามใส่คำว่า "ทน..ไม่ไหว" เพราะถ้าเค้าทนไหวเค้าคงไม่ตาย????? และมีอีกเยอะในข้อสอบภาษาไทยระดับมัธยม ลองไปหาดูได้
คุณเคยได้ยินอะไรแบบนี้หรือไม่ บางคนอาจหงุดหงิดแต่บางคนก็ยอมรับว่าควรใช้ให้ถูกต้อง
ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าหน้าที่ของภาษาคืออะไร
 
คำตอบคือหน้าที่ของภาษาคือเพื่อ "สื่อสาร" ถ้าเราสื่อสารอะไรออกไปเราต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจตรงกันกับเราใช่หรือไม่
คำถามต่อมาคือใครเป็นคนบัญญัติภาษาไทยไม่ใช่ราชบัณฑิต ลองคิดดีๆ
คำตอบคือไม่มีคนบัญญัติหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือคนไทยทุกคนเป็นผู้ร่วมบัญญัติแล้วยอมรับใช้กัน
แบบนี้การที่คนไทยใช้ภาษาไทย "สื่อสาร" ให้คนไทย "รู้เรื่อง" ก็เท่ากับว่า "ภาษาไทย" ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว แบบนี้เราควรสนใจสิ่งที่คนที่เคลมตนเองว่ามีความรู้ภาษาไทยเตือนมาหรือไม่
ปัญหาข้อนี้ตอบง่ายมากคือ มันเกิดจากคนบัญญัติภาษาไม่เข้าใจธรรมชาติของภาษา ว่าภาษามันเกิดจากคนที่ร่วมกันใช้ภาษา ภาษาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาโดยไม่ถือว่าผิด เพราะฉะนั้นคุณควรบัญญัติภาษาโดยคำนึงถึงว่าเจ้าของภาษาเค้าใช้ภาษาแบบไหน ไม่ใช่คิดจะบัญญัติอะไรก็บัญญัติออกมา แล้วค่อยมาตามให้คนใช้ภาษามาก่อน แก้ตามที่ตนบัญญัติ
แล้วการที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ภาษาไม่ตรงกับที่อยู่ในพจนานุกรมหรือไวยากรณ์ มันไม่ถือว่าภาษาที่คนไทบใช้นั้นผิดเลย แต่พจนานุกรมและไวยากรณ์ควรอัพเดตตามที่คนไทยใช้จริงต่างหาก และครูบาอาจารย์ที่สอนภาษาไทยควรทำความเข้าใจประเด็นนี้ด้วย ไม่ใช่บังคับเด็กจำ จำ จำ อย่างเดียว ทั้งที่การเรียนภาษาไม่ควรต้องจำเลย แต่ควรเซ้นส์ออกมาตามประสบการณ์
กล่าวโดยสรุปคือ ภาษาที่ถูกต้องคือ
1. ภาษานั้นคนส่วนใหญ่ใช้กันจริงๆ
2. ภาษานั้นสื่อสารกันเข้าใจตรงกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนส่วนใหญ่เรียกพระภิกษุว่า "องค์" ก็ต้องถือว่าถูกแล้ว ไม่ควรดื้อด้านบัญญัติคำว่า "รูป" ออกมา ถึงแม้มันจะถูกในแง่รากศัพท์เก่า
บางคนอาจบอกว่าผมคิดเอาตามใจหรือไม่ หากคุณคิดดีๆ ราชบัญฑิตเคยบัญญัติศัพท์ตลกๆออกมาเยอะมาก สาเหตุคือที่ผมกล่าวไปนี่แหละ หากเค้ายึดภาษาตามที่คนส่วนใหญ่ใช้จริง มันจะไม่มีปัญหาเลย
อย่าว่าแต่ราชบัญฑิตเลยแม้แต่หนังสือ สสวท. เคยทับศัพท์คำว่า "parenchyma" ว่า "พาเรงคิมา" ทั้งที่คุณไปถามใครก็ได้เค้าอ่านกันว่า "พาเรงไคม่า" แล้วไม่คิดจะแก้ด้วย!!!!
ยังมีอีกเยอะ เช่น อำพล amplitude, คณิตกรณ์ computer, มหานวดารา supernova ล่าสุดมี จักรวาลนฤมิตร, เมตาเวอร์ส(อันหลังยอมรับได้) metaverse
ไม่ใช่แต่คำทับศัพท์ แต่คำลักษณะนามนี่ตัวดีเลย
นามบัตร - ใบx, แผ่น√
กล้อง - ตัวx, กล้อง√
ถ้วย - ลูกหรือใบ√
ถามจริง คนไทยคนไหนเรียกถ้วยว่าลูกบ้าง?
ถ้าไม่มีก็ควรตัดคำว่า "ลูก" ออกแล้วให้เรียกว่า "ใบ" ได้อย่างเดียว
ใครจะไปซื้อกล้อง บอกพ่อค้า ขอซื้อกล้องกล้องนึง? คุณในฐานะเจ้าของภาษารู้สึกอย่างไร
ถ้าผมเป็นราชบัญฑิตนะ ถ้าคำไหนมีปัญหามากๆผมจะสำรวจเลยว่าในสื่อออนไลน์คนไทยใช้คำๆนั้นกันแบบไหน เขียนกันอย่างไร แล้วให้แบบนั้นถูก โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงรากศัพท์เก่าเลย เพราะถือว่าภาษาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว
สรุปคือ ภาษาที่ถูกต้องคือภาษาที่คนไทย "ส่วนใหญ่" ใช้จริงแล้วเข้าใจตรงกัน ไม่ใช่ภาษาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งบัญญัติขึ้นมาฆ่าภาษาที่มีมาอยู่เก่า หรือภาษาใหม่ที่คนเค้ายอมรับกันก่อนที่จะมีการบัญญัติ
หน้าที่ของเขาเหล่านั้นคือแก้ภาษาตามที่คนใช้จริงถ้าภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พยายามบังคับให้คนไทยใช้ภาษาตามที่ตนบัญญัติ
แล้วมันน่าแปลกไหมที่เรายอมรับกันว่าภาษาอังกฤษที่เรียนกันในห้องมันเอาไปใช้จริงไม่ได้ ต้องดูหนัง ดูซีรี่ย์เอาเพื่อดูภาษาที่เค้าใช้กันจริงๆ แต่พอภาษาไทยเรากลับยอมรับเวลามีคนมาเตือนให้ใช้ภาษาอย่างที่ถูกบัญญัติมา แล้วไม่ยอมรับภาษาที่ตนใช้พูดใช้สื่อสารกันทุกวัน?????
คุณลองคิดดูเล่นๆว่าคำเหล่านี้ควรแล้วหรือไม่ที่จะทำความเข้าใจใหม่ว่าภาษาเราเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว
1. "ฉัน" คำๆนี้ลองคิดดูดีๆ ว่าคนไทยเลิกใช้แล้ว เพราะจะเปลี่ยนเสียงเป็น "ชั้น" แทน ถ้าไม่เห็นภาพลองไปฟังชาวต่างชาติที่เรียนภาษาไทยใหม่ๆ แล้วเค้าใช้คำว่า "ฉัน" แทนตัวเองดู
2. คำนับเลข "ร้อยเอ็ด" "สองร้อยเอ็ด" "สามร้อยเอ็ด" คำพวกนี้ คนไทยก็ไม่ใช้แล้วเช่นกัน หันไปใช้ "ร้อยหนึ่ง" "สองร้อยหนึ่ง" ...แทน จึงสมควรแล้วที่จะเลิกสอนวิธีอ่านแบบเดิม
3
เรื่องนี้ไว้ผมจะมาอธิบายต่อว่างั้นสุดท้ายแล้วก็ไม่ควรบัญญัติภาษาเลยหรือ? จริงๆควรบัญญัติแต่คงต้องคุยอีกยาว
แต่ให้รู้ไว้ว่าถ้าคุณใช้ภาษาไทยอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้กันจริงๆ ย้ำว่า "ส่วนใหญ่ใช้กันจริงๆ" นั่นแหละคุณใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องที่สุดแล้ว
โฆษณา