18 ก.พ. 2022 เวลา 13:35 • ปรัชญา
ตรรกะวิบัติน่ารู้ ตอนที่ 5 (ตอนจบ)
บทความนี้นำเสนอตรรกะวิบัติน่ารู้ต่อจาก 4 บทความก่อนหน้า:
I. พ่อไม่มีสิทธิ์มาตีหรือลงโทษผม เพราะพ่อเองตอนอายุเท่าผมก็เคยหนีเรียนเหมือนกัน!
เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งถูกพ่อจับได้ว่าหนีเรียน. เขาพูดกับพ่อด้วยประโยคข้างต้น. นี่เป็นตรรกะวิบัติแบบหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาละตินว่า tu quoque (อ่านว่า ตู โควเคว) มีความหมายว่า you too – คุณก็ด้วย. ตรรกะวิบัตินี้เป็นรูปแบบหนึ่งของ ad hominem (การโจมตีตัวบุคคล), ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ A โจมตีข้ออ้างของ B ด้วยการชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างของ B ขัดแย้งกับพฤติกรรมของ B หรือสิ่งที่ B เคยทำมาในอดีต. เด็กวัยรุ่นต้องการให้ตัวเองพ้นผิดด้วยการอ้างความผิดที่พ่อของตนเองเคยทำไว้ในอดีต :"พ่อก็ด้วย!", ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เกี่ยวกัน. ต่อให้พ่อเคยหนีเรียนหรือไม่หนีเรียน, การหนีเรียนก็ยังเป็นความผิด. เด็กวัยรุ่นจะอ้างแบบนี้เพื่อให้ตนเองพ้นผิดไม่ได้.
II. ทำไม่คุณไม่ศรัทธาในพระเจ้าบ้างหละ?
ตรรกะวิบัติยังสามารถเกิดขึ้นจากการใช้ภาษาที่กำกวม (equivocation), ซี่งเป็นการเล่นสลับพลิกแพลงความหมายของคำที่ถูกใช้ในการอ้างเหตุผล. คำคำนั้นมักมีความหมายสองความหมายที่ฟังดูเผินๆ แล้วคล้ายกัน; แต่หากพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจะพบว่า ความหมายทั้งสองนั้นแตกต่างกัน. มันจึงเกิดความกำกวมเพราะความหมายที่แตกต่างกันนั้นเปิดโอกาสให้เข้าใจคลาดเคลื่อนหรือตีความผิดได้.
1
ตัวอย่างหนึ่งของความกำกวมทางภาษาคือการใช้คำว่า “ศรัทธา”. ลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้: “ทำไมคุณไม่ศรัทธาในพระเจ้าบ้างหละ. ในเมื่อชีวิตคุณเต็มไปด้วยการใช้ศรัทธาอยู่ตลอดเวลา, ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์, หน้าที่การงาน?” เราจะเห็นว่า ในข้อความนี้, มีการใช้คำว่า “ศรัทธา” อยู่สองครั้ง. และเมื่อเราพิจารณาโดยละเอียดถึงความหมายของมันแล้ว, เราจะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางความหมายเกิดขึ้น; กล่าวคือ, ในครั้งแรกเป็นการพูดถึงศรัทธาในศาสนา, ส่วนครั้งที่สองเป็นศรัทธาในชีวิตประจำวัน.
ความหมายหนึ่งคือความเชื่อมั่นหรือความไว้วางใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไร้ข้อกังขา. ศรัทธาในความหมายนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา. แต่อีกความหมายหนึ่งบ่งถึงความเชื่อทางศาสนา, ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นทางจิตวิญญาณในสิ่งที่สูงส่งและครอบครองความสมบูรณ์แบบ เช่น พระเจ้าและมักเป็นการเชื่อโดยไม่มีหลักฐานหรือต้องการข้อพิสูจน์.
1
ลองเก็บประโยคไปคิดต่อ: คุณยังไม่เคยเห็นหรือสัมผัสถึงพระเจ้าเพราะคุณยังมีศรัทธาไม่มากพอ!
1
III. วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ว่าผีไม่มีอยู่จริง ดังนั้น ผีมีอยู่จริง.
1
ตรรกะวิบัติแบบนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาละตินว่า Argumentum ad Ignorantiam หรือในภาษาไทยว่า อ้างความไม่รู้ (appeal to ignorance). ตรรกะวิบัติแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการพยายามสรุปเพื่อยืนยันความจริงของข้อความเพียงเพราะไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ. การที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผีไม่มีอยู่จริงไม่ได้หมายความว่าผีจะต้องมีอยู่จริง; แต่หมายความว่ายังพิสูจน์ไม่ได้หรือยังหาข้อสรุปไม่ได้. ตรรกะวิบัติแบบนี้ถือว่า การไม่มีหลักฐานเป็นหลักฐานของการไม่มีอยู่, ซึ่งไม่สมเหตุสมผล.
แนวการใช้เหตุผล (วิบัติ) แบบนี้มีให้พบเห็นในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง. บางครั้งการที่เราไม่สามารถนึกภาพตามหรือจินตนาการถึงอะไรบางอย่างได้ก็อาจทำให้เราไม่เชื่อหรือคิดว่าสิ่งนั้นไม่เป็นความจริง. เช่น เราได้ยินมาว่าคนในที่ทำงานเดียวกันกับเราคนหนึ่งพูดได้เจ็ดภาษา, ซึ่งเรานึกภาพไม่ออกหรือไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนว่า ผู้ชายที่ทำงานออฟฟิศธรรมดาๆ คนหนึ่งแบบเดียวกับเราจะสามารถพูดภาษาต่างประเทศตั้งมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร. เราก็เลยตัดสินไปเลยว่าไม่จริง.
ขอสิ้นสุดอนุกรมบทความตรรกะวิบัติน่ารู้แต่เพียงเท่านี้. ขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามครับ.
โฆษณา