22 ก.พ. 2022 เวลา 07:03 • ข่าวรอบโลก
50 ปี ภูมิรัฐศาสตร์โลก กลับตาลปัตร
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
1
21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 หรือเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงเรื่องความแหวกแนวไม่แพ้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เดินทางถึงกรุงปักกิ่ง และจับมือกับประธานเหมาเจ๋อตงของจีน ก่อนหน้าเหตุการณ์ในวันนั้น จีนได้ปิดประเทศไม่คบค้ากับใคร โดยสหรัฐฯ กับจีนไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างกัน เป็นเวลายาวนานถึง 23 ปี นับตั้งแต่ที่พรรคคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1949
7
ทริปจีนรอบนั้นถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนไป “เหยียบดวงจันทร์” นิกสันเรียกการเยือนจีนว่าเป็น “สัปดาห์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก” เพราะนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็น เมื่อจีนหันมาคบกับสหรัฐฯ ร่วมกันโดดเดี่ยวสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นให้พญามังกรเปิดประเทศ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ ในอีก 7 ปีต่อมา จนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกและระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ มาหลายทศวรรษ
4
สำหรับนักยุทธศาสตร์อย่างนิกสันแล้ว หมากก้าวนั้นพลิกกระดานการเมืองโลก การคบกับจีนช่วยกดดันสหภาพโซเวียตที่เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเวลานั้น แม้ว่าจีนกับสหภาพโซเวียตจะเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่ก็มีเรื่องบาดหมางกันอย่างหนัก ทั้งความขัดแย้งที่ชายแดน และการแข่งกันแสดงบทบาทนำในโลกคอมมิวนิสต์ การแยกยักษ์คอมมิวนิสต์สองตัวออกจากกัน ส่งผลลดความแข็งแกร่งของสหภาพโซเวียตในเกมการเมืองโลกลงอย่างชัดเจน
2
นิกสันยังต้องการให้จีนช่วยยุติสงครามเวียดนามในเวลานั้น โดยมองว่าหากสหรัฐฯ เริ่มมีความสัมพันธ์กับจีน ก็จะช่วยกดดันให้ความขัดแย้งในเวียดนามผ่อนคลาย เพราะจีนเป็นพี่ใหญ่สนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม
7
50 ปี ผ่านไป วันนี้โลกภูมิรัฐศาสตร์กลับตาลปัตรในทุกมิติ เริ่มจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเดินทางเยือนจีน จับมืออย่างสนิทสนมกับสีจิ้นผิง และออกแถลงการณ์ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน เข้าทำนอง “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ไม่ใช่ว่ารัสเซียกับจีนรักกันมาแต่ปางไหน แต่เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายต่างถูกสหรัฐฯ และตะวันตกหมายหัวและกดดันอย่างหนักทั้งคู่
16
ส่วนเวียดนามวันนี้ก็กลับตาลปัตรหันเข้าหาสหรัฐฯ มากขึ้น เพราะเวียดนามไม่พอใจจีนเรื่องทะเลจีนใต้และอิทธิพลจีนที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค ใครจะคิดว่าสหรัฐฯ ที่เคยทำสงครามเวียดนาม วันนี้จะมาเป็นมหามิตรช่วยเวียดนามรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ ไม่ให้เวียดนามต้องพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจจนเกินพอดี
7
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้น ก็ถึงจุดตกต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ทั้งสองฝ่ายต่างชี้หน้าว่า อีกฝ่ายทรยศต่อคำมั่นสัญญาระหว่างกันเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว
1
จากมุมมองของจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มต้นได้เพราะคำมั่นเรื่องนโยบายจีนเดียว มีบันทึกชัดเจนว่านายกฯ โจวเอินไหลพูดทำนองว่า จีนปิดประเทศมา 20 กว่าปี ถึงไม่เปิดจีนก็อยู่ได้ ถ้าสหรัฐฯ ไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน นิกสันก็ไม่มีวันได้เหยียบแผ่นดินจีน
5
ในการตกลงกับจีนคราวนั้น นิกสันได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนนโยบายจีนเดียว และไม่สนับสนุนนโยบายสองจีน หรือนโยบายหนึ่งจีน หนึ่งไต้หวัน แต่การยอมรับนี้แท้จริงแล้วเป็นศิลปะภาษาทางการทูตชั้นยอด
1
เพราะนิกสันเพียงแต่บอกว่าเมื่อทั้งจีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวันในขณะนั้นต่างอ้างว่าตนเป็นตัวแทนจีนในเวทีโลก สุดท้ายสหรัฐฯ จะยอมรับไม่จีนใดก็จีนหนึ่ง (ซึ่งในปี ค.ศ. 1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการกับจีนแผ่นดินใหญ่ และตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนไต้หวัน) แต่นิกสันเองไม่เคยรับปากว่า จะสนับสนุนให้จีนแผ่นดินใหญ่ยึดเกาะไต้หวันคืน
4
จุดยืนของสหรัฐฯ ตลอด 50 ปี ที่ผ่านมา ก็คือ สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนให้ไต้หวันประกาศเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่จีนแผ่นดินใหญ่ก็จะบังคับข่มขู่ให้ไต้หวันกลับไปอยู่ใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้เช่นเดียวกัน สหรัฐฯ มีพันธกรณีตามกฎหมายภายในของสหรัฐฯ ว่าจะขายอาวุธให้ไต้หวันเพื่อปกป้องตนเองต่อไป
9
จากเดิมที่หลายคนเคยมองว่า “ความไม่ชัดเจน” เกี่ยวกับไต้หวันที่นิกสันตกลงไว้กับจีน คือสุดยอดแห่งศิลปะทางการทูตที่ทำให้ไต้หวันเจริญรุ่งเรืองและหลีกเลี่ยงสงครามมาจนถึงปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่า มาถึงวันนี้ ขั้วการเมืองบางส่วนในสหรัฐฯ และขั้วหัวก้าวหน้าในไต้หวันกลับมองว่า “ความไม่ชัดเจน” นี้เองคือระเบิดเวลาลูกใหญ่ และยังทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถสนับสนุนไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันมีคุณค่าประชาธิปไตยและเสรีภาพตามแบบตะวันตกครบถ้วน ให้มีอิสระและที่ทางในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างสมภาคภูมิ
2
สำหรับฝ่ายสหรัฐฯ แล้ว ปัญหาไม่ใช่จีนผิดคำมั่นในกาลก่อน เท่ากับที่จีนได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคนกับในอดีต จีนวันนั้นยังคงยากจนข้นแค้นและอ่อนด้อยทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร เมื่อครั้งนิกสันเยือนจีน สหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของสหรัฐฯ
1
แต่ในวันนี้สำหรับไบเดนแล้ว จีนคือภัยคุกคามอันดับ 1 แถมยังเป็นภัยคุกคามที่หนักหนากว่าสหภาพโซเวียตในอดีตเสียอีก เพราะในขณะที่สหภาพโซเวียตเป็นเพียงมหาอำนาจด้านการทหาร แต่ไม่เคยเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ บัดนี้อีกไม่เกิน 10 ปี เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แถมเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนก็มีความเชี่อมโยงระหว่างกันสูงมาก
จากเดิมที่เคยปลอบใจกันภายในสหรัฐฯ มาหลายสิบปีว่า การต้อนรับจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และผนวกจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลก จะค่อยๆ เปลี่ยนจีนให้เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยและเป็นทีมสหรัฐฯ โดยสมบูรณ์ แต่ปัจจุบัน ผลกลับตาลปัตรเป็นว่าจีนกำลังเปลี่ยนเกมระเบียบโลกของสหรัฐฯ และจีนไม่มีที่ท่าว่าจะเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยเลย
3
ความไม่พอใจและความคับแค้นใจภายในหมู่ชนชั้นนำสหรัฐฯ ผลักให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายกลับตาลปัตรจาก 50 ปี ก่อน วันนี้ทั้งคู่ดุดันเข้าหากัน พยายามถอดรื้อความเชื่อมโยงแม้จะดูเป็นไปได้ยาก สหรัฐฯเองยังผลักรัสเซียให้เข้าสู่อ้อมอกของจีน ซึ่งนักวิเคราะห์ไม่น้อยมองว่าเป็นความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวันก็ถึงขีดสุดในรอบหลายปี ภูมิรัฐศาสตร์โลกดูจะเข้าจุดอันตรายสูงสุดอีกครั้งหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น
4
วิกฤตยูเครนในขณะนี้ กลายเป็นหมากเดิมพันเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญต่อทุกฝ่าย เพราะเป็นการผลักรัสเซียให้เป็นแนวร่วมกับจีน และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์เองก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเสียยูเครนไป โดยที่สหรัฐฯ ทำอะไรไม่ได้นอกจากโวยวาย หมากต่อไปของมิตรใหม่จีนรัสเซียอาจเป็นเกมรุกคืบเกาะไต้หวัน ซึ่งด้วยความสำคัญของที่ตั้งของไต้หวันในเชิงยุทธศาสตร์และการเป็นตัวแทนคุณค่าเสรีนิยมประชาธิปไตย นั่นจะเป็นเกมวัดใจทุกฝ่ายครั้งใหญ่และเสี่ยงต่อสงครามโลกยิ่งกว่าวิกฤตยูเครนหลายเท่าตัวครับ
6
โฆษณา