22 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มะเร็งร้ายและนโยบายของภาครัฐ : สำรวจนโยบายเกี่ยวกับมะเร็งของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน
1
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโรคมะเร็งก็ได้กลายเป็นโรคหลักที่คร่าชีวิตคนไทยได้มากที่สุด โดยมีอัตราการตายในปี 2553 อยู่ที่ 91.1 ราย ต่อประชากร 100,000 คน จากข้อมูลพบว่า
4
ชนิดของมะเร็งที่มักพบได้บ่อยในชายไทยคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
2
ส่วนมะเร็งที่มักพบในหญิงไทย คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด
5
ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Control Program : NCCP) โดยมุ่งหวังที่จะป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาให้ได้มากที่สุด
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงนโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ที่อาจจะป่วยด้วยโรคมะเร็ง ที่มีการดำเนินงานมาตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมา
📌 สถานการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งในอดีต
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เริ่มทำการสำรวจข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้ขึ้นทะเบียนมะเร็งตั้งแต่ช่วงปี 2514 โดยการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ (Hospital-based cancer registry : HBCR) และต่อมาจึงเริ่มทำการสำรวจในระดับประชากรแต่ละจังหวัด (Population-Based Cancer Registry : PBCR) เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางแผน และประเมินผลการควบคุมป้องกันรักษาโรคมะเร็ง
จากการประมาณการจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย พบว่า ในปี 2557 คาดว่ามีผู้ป่วยมะเร็งชาย 59,662 คน และผู้ป่วยมะเร็งหญิง 63,095 คน แต่เนื่องจากว่ามะเร็งแต่ละชนิดมีอัตราการเกิดกับคนในแต่ละช่วงอายุไม่เท่ากัน จึงต้องใช้วิธีปรับอายุให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือเรียกว่า Age Standardized Incidence Rate (ASR) เพื่อให้สามารถนำค่าที่ปรับแล้วมาใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
2
เมื่อคิดด้วยวิธี ASR แล้วพบว่า
อัตราการเกิดมะเร็งในชายไทยอยู่ที่ 143.8 ต่อประชากร 100,000 คน
และอัตราการเกิดมะเร็งในหญิงไทยอยู่ที่ 134.2 ต่อประชากร 100,000 คน
📌 หลักประกันสุขภาพของรัฐครอบคลุมการรักษามะเร็งหรือไม่?
เนื่องจากประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว ซึ่งจะแบ่งเป็นประกันสุขภาพ 3 กลุ่มหลักๆ คือ
  • 1.
    หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากรราวๆ 48 ล้านคน
  • 2.
    ประกันสังคม ครอบคลุมประชากรราวๆ 10.6 ล้านคน
  • 3.
    ประกันสุขภาพของข้าราชการและครอบครัว ครอบคลุมประชากรราวๆ 4.4 ล้านคน
2
ประกันทั้ง 3 ประเภทนี้ครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจคัดกรอง, การรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายแสงร่วมกับการดูแลแบบประคับประคอง
2
📌 ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและรักษามะเร็งอย่างไรบ้าง?
1
ปัญหาผู้ป่วยโรคมะเร็งถือเป็นการป่วยเรื้อรังที่อาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มสูงขั้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นการจะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพที่สุดจึงต้องเริ่มตั้งแต่ตรวจคัดกรองมะเร็งให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง มีการยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิดและมาตรการป้องกันมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ประกอบด้วย
1. การฉีดวัคซีน
มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ HBV ในเด็กแรกเกิด เพื่อป้องกันโรคมะเร็งตับ มาตั้งแต่ปี 2535 และตั้งแต่ปี 2561 จึงได้เริ่มฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กผู้หญิงที่อายุ 9 - 11 ปี เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต เนื่องจากมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนได้
2
2. แคมเปญต่อต้านการสูบบุหรี่
กฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะถูกตั้งขึ้นมา ในปี 2535 และในปี 2540 ก็ได้ผ่านเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการจัดหาพื้นที่ปลอดบุหรี่ มีการห้ามสูบบุหรี่ในห้องแอร์ รวมถึงการห้ามโฆษณาบุหรี่ และบังคับให้ผู้ผลิตต้องแจ้งองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่อนุญาตให้ติดตั้งตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติ ห้ามขายบุหรี่ให้กับผู้เยาว์ อีกทั้งยังมีการเปิดคลินิกเลิกบุหรี่ในศูนย์สาธารณสุขทั่วประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดของคนไทย
3
3. การควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบ้ไม้ตับ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยรณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงกว่าภาคอื่นๆ
2
4. โปรโมทไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ
หลายคนน่าจะเคยได้ยินสโลแกน “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง” ที่เคยโปรโมทเมื่อหลายสิบปีก่อน นั่นคือ ความพยายามจากทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมากินอาหารอย่างถูกหลัก ลดพุง ลดโรค ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้
1
5. การตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ
ทั้ง 4 ข้อที่ผ่านมา เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งตั้งแต่แรก แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นการตรวจหาสัญญาณของอาการที่บ่งบอกถึงโรคมะเร็ง เพื่อให้สามารถรักษาได้ทัน ซึ่งปัจจุบันมีการคัดกรองมะเร็ง 3 ชนิดที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าหากตรวจพบเร็วสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งและอัตราการตายได้ คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ โดยผู้ที่อยู่ในช่วงอายุและเกณฑ์ที่กำหนด สามารถรับสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งได้ฟรี
4
6. นโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม
โดยเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเลือกเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีความต่อเนื่อง
3
📌 แนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ และ ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ใช้ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่ปี 2004 - 2015 เพื่อประมาณการจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในปี 2025
จากข้อมูลการประมาณการ คาดว่าในปี 2025 จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 158,785 คน เป็นชาย 75,974 คน และเป็นหญิง 82,811 คน โดยคาดว่าจะมีผู้ถูกวินิจจัยว่าเป็นมะเร็งภายในปี 2025 ราวๆ 24,616 คน
สำหรับแนวโน้มของมะเร็งแต่ละชนิด คาดว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจเนื่องมาจากปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนไป ส่วนโรคมะเร็งของผู้หญิงอย่างมะเร็งเต้านม ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 55% ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมเป็นผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตามมีข่าวดี คือจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลงอย่างมากในทุกจังหวัด
1
การคาดการณ์อย่างคร่าวๆ นี้จึงเป็นแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้วางแผนป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้รัฐยังควรเพิ่มการสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง ในด้านการลดอัตราการเกิดโรค อัตราการตาย และช่วยให้ระบบสาธารณสุขสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะในอนาคตอันใกล้ที่ประเทศเราเต็มไปด้วยผู้สูงวัย ยิ่งมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นและกลายเป็นปัญหางบประมาณสาธารณสุขอย่างเรื้อรัง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
Pittayapan P. Health Insurance for Cancer Care in Asia: Thailand. Asia Pac J Oncol Nurs 2016;3:54-7.
โฆษณา