24 มี.ค. 2022 เวลา 04:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคโนโลยีเอไอกับการป้องกันภัยไซเบอร์
การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจและการใช้ชีวิตของเราในหลากหลายแง่มุม ในขณะเดียวกันโลกดิจิทัลที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนี้ ตามมาด้วยความเสี่ยงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความง่ายดายในการเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นเหมือนส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตและการทำงาน ในบทความนี้ ผมจึงอยากพูดถึงความสามารถของเอไอที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เพื่อให้ทุกภาคธุรกิจพร้อมรับมือและป้องกันการถูกโจมตีของข้อมูลที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอย่างรัดกุมมากที่สุด
การใช้งานเครื่องมือและการบริการทางดิจิทัล รวมถึงการใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งรูปแบบการโจมตีในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีอัตราการเกิดสูงขึ้น องค์กรต้องเจอกับความเสี่ยงจากการถูกลักลอบโจมตีข้อมูลที่ละเอียดอ่อน (Sensitive information) จนนำไปสู่การสูญเสียทางการเงิน เกิดความเสียหายให้กับองค์กรในท้ายที่สุด
อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันมีการนำเอไอไปใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมากมาย ซึ่งเอไอก็มีความสามารถในการใช้เป็นเครื่องมือเสริมระบบความปลอดภัยด้านไอทีให้กับองค์กรเช่นกัน หากได้รับการป้อนข้อมูลอย่างถูกต้อง เอไอสามารถช่วยเรื่อง 1) การตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้งานในระบบ โดยเอไอจะเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น การใช้งานที่เข้าข่ายต้องสงสัยจากภายนอกที่ต้องการโจมตีระบบ หรือกรณีที่พนักงานในองค์กรเองมีพฤติกรรมการใช้งานระบบที่ไม่น่าไว้ใจหรือผิดปกติจากเดิม เอไอจะทำการบล็อกบัญชีชั่วคราวและแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลระบบเพื่อจัดการได้ทันท่วงที 2) การวิเคราะห์เครือข่ายผ่านระบบอัตโนมัติ โดยเอไอจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติเพื่อประเมินความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโต้ตอบการบุกรุกเครือข่ายนั้น ๆ
หรือการที่เอไอสามารถ 3) จำแนกและป้องกันไวรัสและมัลแวร์ (AI Antivirus & Malware) ซึ่งเป็นการทำงานที่แตกต่างจากโปรแกรม Antivirus ทั่วไปที่ใช้วิธีการตรวจสอบหาความผิดปกติที่ยึดจากฐานข้อมูลการเก็บรูปแบบของโปรแกรมแปลกปลอมไว้ ซึ่งหากฐานข้อมูลไม่มีการอัปเดต ก็อาจทำให้ไวรัสหรือมัลแวร์หลุดรอดเข้าสู่ระบบได้ในที่สุด และ 4) การตรวจจับมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ที่หลายองค์กรตกเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตี จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเอไอ (Self-Learning AI) เอไอจึงสามารถตรวจจับการโจมตีของ ransomware และทำการหยุดการคุกคามด้วยการบล็อกอีเมลผู้ส่ง บล็อกลิงค์ให้ไม่สามารถเปิดได้ หรือการเปลี่ยนไฟล์แนบที่เป็นอันตรายให้เป็นไฟล์ที่ปลอดภัยในทันที
เหล่านี้คือความสามารถของเอไอที่จะช่วยประเมินภัยที่อาจเกิดขึ้น และวิเคราะห์ระบบในเชิงลึกเพื่อช่วยองค์กรอุดช่องโหว่ที่จะเป็นอันตรายต่อการถูกโจรกรรม ทั้งนี้ เอไอยังมีข้อได้เปรียบจากมนุษย์ในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อแบบไม่รู้จบ มีความสามารถในการรับมือกับข้อมูลมหาศาลได้เป็นอย่างดี ทำงานได้รวดเร็วแบบไม่มีวันหยุดพัก ไม่เหน็ดเหนื่อยกับงานที่ซ้ำซาก และไม่มีอคติ
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยทางไซเบอร์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อองค์กรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ให้พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักและเกิดความระแวดระวังในการใช้งาน การใช้อุปกรณ์ในการทำงานไปจนถึงการจัดการและเก็บรักษาข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนและสำคัญขององค์กร หากองค์กรละเลยสิ่งเหล่านี้ จะเปิดโอกาสให้ข้อมูลถูกโจมตีได้อย่างงายดายจากผู้ไม่หวังดี สร้างความสูญเสียให้กับองค์กรเป็นวงกว้าง
บทความโดย
คุณธัชกรณ์ วชิรมน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง
บริษัท เซอร์ทิส จำกัด
โฆษณา