➡️➡️สัมมนา Forex (ในรอบ 2 ปี)
รู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก เมื่อได้ขึ้นเวทีเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เทรดให้กับเพื่อนๆ เทรดเดอร์ที่ กทม. ในงาน สัมมนา Forex พร้อมหอบเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกที่จะทำให้เพื่อนๆ กทม. ได้นำไปใช้ในการเทรดให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ดูโครงสร้างของแนวโน้มกันง่ายขึ้น และวางกลยุทธ์เทรดกันได้อย่างมืออาชีพกันยิ่งขึ้น
เลยนำภาพบรรยากาศพร้อมกับเนื้อหาบางส่วนมาอวดเพื่อนๆ ที่วันนั้นอาจจะติดธุระและไม่ได้มางาน ให้ได้ดูไปพร้อมกัน
⚠️คำเตือน⚠️
เนื้อหาในเว็บไซท์นี้ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุนหรือชักชวนลงทุน เป็นเพียงการแชร์ประสบการณ์ที่เคยอยู่ในตลาดทุนมาก่อนที่มีทั้งถูกและผิดการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
➡️➡️ปรับแนวคิดกันก่อน (Mindset)
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันไปซะแล้ว เมื่อต้องขึ้นบรรยายโดยมีผู้ฟังหลากหลายทั้งมือใหม่ที่กำลังพึ่งเคยเจอคำว่า ฟอเร็กซ์ เป็นครั้งแรก ไปจนถึงมือเก่าคร่ำหวอดจับเงิน 7-8 หลักนั่งอยู่แถวกลางค่อนไปด้านหลัง จึงจำเป็นต้องปูพื้นฐานทางความคิดให้ตรงกันก่อน
ผมจึงหยิบเอา “แนวคิด” และ “ความเชื่อ” ผิดๆ เกี่ยวกับ ตลาด ฟอเร็กซ์ ให้เพื่อนๆ เข้าใจ และเห็นภาพตรงกันว่า หากเรามี Mindset แบบนี้ มันจะนำพาเราไปพบกับปลายทางแบบใดได้บ้าง
➡️➡️ถึงแนวรับให้ Buy ? ถึงแนวต้านให้ Sell ?
“มันเป็นใครกัน! ที่เผยแพร่ความเชื่อแบบนี้ให้กับมือใหม่มาตลาดกันนะ?”
คุณก็รู้ดีนี่ว่า “เทรดเดอร์” คือผู้แสวงหากำไรจากการซื้อสินทรัพย์ในราคาถูก เพื่อนำไปขายให้ได้ราคาแพง และกินกำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น .. เราเลยมักเรียกผู้คนเหล่านี้ว่า “ผู้ล่า” ที่เป็นผู้ฝึกตนและมีจิตวิญญาณอันแรงกล้าในการสังหารเหยื่อเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์
แต่เอ๊ะ ~! แล้วในตลาดทุนแห่งนี้จะมีแต่ผู้ล่าอย่างเดียวหรือ?
แล้วจะไปหาเหยื่อมาจากไหนล่ะ ?
นี่แหละคือช็อตเด็ดที่กระตุกจิตกระชากใจได้ดีเลยทีเดียว ถ้าตอนนี้คุณกำลังวางตัวเองเป็นเทรดเดอร์ แต่ยังไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังล่าอะไรอยู่ และไม่รู้ว่าเหยื่อหน้าตาเป็นยังไง … แสดงว่าตอนนี้ เรากลายเป็น “เหยื่อ” ที่กำลังถูกล่าอยู่นั่นเอง
💡ชวนคิด💡
ผู้ล่า อาจไม่ได้มาในรูปแบบของเทรดเดอร์อย่างเดียว แต่สามารถปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของ “โค้ช” หรือ “อาจารย์” ก็ได้นะ
เค้าจะพาคุณให้รู้จักแต่ด้านดีๆ ชี้ช่องให้คุณเห็นว่าการทำกำไรในฟอเร็กซ์มันง่ายขนาดไหน ให้คุณได้เพ่งสมาธิไปกับการเรียนรู้ในหลักการที่เค้าคิดค้นขึ้น (และไม่ได้เป็นหลักสากล) เพื่อให้คุณเชื่อถือเขามากขึ้น
เมื่อคุณเชื่อ คุณก็จะทำตามสิ่งที่เค้าบอกทุกอย่าง เขาบอกให้คุณซื้อ คุณก็จะซื้อ เขาบอกให้คุณขาย คุณก็จะทำตามด้วยความยินดีโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ในตัวเขาเลย
คนที่ตกอยู่ในภวังค์แบบนี้ จะมีลักษณะพิเศษ .. ใครเตือนอะไรก็จะไม่ฟัง ใครมาชี้สิ่งผิดปกติของโค้ชคนนั้นก็โกรธเค้าเป็นฟืนเป็นไฟ แสดงว่าคนๆ นี้กลายเป็นเหยื่อโดยสมบูรณ์แบบแล้วนั่นเอง
ไม่ว่าคุณจะไปแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการเทรดจากสำนักไหน ก็ต้องรู้จัก “แนวรับ” และ “แนวต้าน” เป็นแนวราคาสำคัญที่เคยเกิดการซื้อ/ขายด้วยปริมาณมหาศาลในอดีต
แต่มันเป็นเพียงแค่ “ข้อมูลย้อนหลังในอดีต” เท่านั้น ไม่ใช่พันธะสัญญาว่าพอถึงแนวสำคัญในอดีต ราคาจะต้องมีพฤติกรรมแบบนั้น แบบนี้ … ใช่มั้ยล่ะ
สิ่งที่ทำให้ราคาขึ้นหรือลงได้ มันเกิดจากปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ต่างหาก
ยกตัวอย่างนะ .. หากช่วงเวลานั้นผู้คนต้องการทองคำมากเป็นพิเศษ เพราะรู้สึกถึงความไม่มั่นคง และรู้สึกว่าสินทรัพย์เดิมที่ตนถืออยู่กำลังเสื่อมมูลค่าลง เค้าก็พร้อมจะย้ายเงินไปหาทองคำ เพื่อปกป้องมูลค่าความมั่งคั่งของตนเองให้ยังอยู่ดังเดิม
คิดดูสิ หากผู้คนทั้งโลกคิดแบบนี้จริงๆ มันจะเกิดอะไรขึ้น?
แบบนี้ ราคาทองคำที่ว่าสูงแล้ว ก็อาจปรับสูงขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าแนวต้านไหนก็หยุดราคาทองคำไม่ได้ จริงไหม?
แบบนี้ คุณยังจะอยาก Sell เมื่อราคาไปชนแนวต้านอีกไหม?
จริงอยู่ว่า ในสภาวะปกติ หากราคาทองคำไปชนแนวต้าน มันก็อาจจะมีการปรับตัวลงมาได้ เพราะก็ยังมี “ผู้ล่า” อีกหลายคนที่ยังซื้อทองคำไม่ทัน และอยากได้ในราคาที่ถูก .. แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันจะย่อตัวลงมาเสมอเมื่อเจอแนวต้านไงล่ะ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ถูกปลูกฝังมาว่า “เมื่อถึงแนวต้านให้ Sell” แบบนี้มันจะเปลี่ยนชีวิตคุณให้กลายเป็นนักพนัน ที่จะเล็งเปิด Short Position เสมอตอนราคาไปโดนแนวต้านน่ะสิ
คุณจะคิดว่า ต้านนี้ผิดไม่เป็นไร ไปยิงออเดอร์ใหม่ที่ต้านต่อไปดีกว่า
ยิ่งผิดทาง ออเดอร์ต่อไปที่จะเปิด ก็จะเล็งให้มันกลับมาคืนทุนที่หายไป
ยิ่งยิงออเดอร์ ราคายิ่งลาก ยิ่งโดนลาก คุณก็ยิ่งหมดกำลังใจ และเริ่มท้อแท้
จากเป็น “เทรดเดอร์” อยู่ดีๆ มันจะกลายเป็น “ประสาท” เอาน่ะสิ
ดังนั้น ก่อนจะยิง Position อะไร ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ว่าตอนนี้คุณกำลังจะยิง “เหยื่อ” ตัวไหน หากคุณหาเหยื่อที่จะยิงไม่เจอ … ก็แนะนำว่ายังไม่ต้องยิงครับ ไม่งั้นคุณจะกลายเป้านิ่งของ “นักล่า” อื่น ที่กำลังส่องปืนรอคุณย่องออกไปจากพุ่มไม้อยู่ก็เป็นได้
➡️➡️เทรด Forex แล้วมีอารมณ์ ?
ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด
เทรดเดอร์ Forex ต้องเผชิญกับสภาวะอารมณ์หลากหลายรูปแบบ รัก โลภ โกรธ หลง … เพราะเราเป็นมนุษย์ เลยมีความโลภ ความกลัว เป็นเรื่องธรรมดา
ที่แย่หน่อยคือ ผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นเทรดเดอร์ส่วนใหญ่ จัดการกับอารมณ์เหล่านี้ได้ไม่ดีพอ และมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อพอร์ตลงทุนของพวกเขาเหล่านั้นซะด้วยสิ
ลองนึกภาพตามผมนะ
คุณพึ่งรู้จักฟอเร็กซ์ได้เมื่อเดือนก่อน และกำลังเล็งๆ อยู่ว่าจะซื้อขายคู่ไหนดี คุณเลือกที่จะเทรดเฉพาะสินค้าที่คุณสนใจ จึงเลือกเทรดทองคำเป็นหลัก
คุณทำงานประจำด้วย จึงไม่ค่อยมีเวลาว่าง เลยอาศัยช่วงพักเที่ยงเพื่อเปิดกราฟทองคำ และเห็นว่าราคามันย่อตัวมาสวยดี จึงตัดสินใจช้อนซื้อราคาทองคำไปไม้นึง แล้วก็ปิด App ไป เพราะต้องรีบทานข้าวก่อนเข้างานในช่วงบ่าย
วันนี้คุณเลิกงานดึก หลังจากฝ่ารถติดกลับบ้าน ทิ้งสัมภาระทุกอย่างลงมือ กระโจนตัวลงไปบนเตียงด้วยความเหนื่อยล้า ในขณะที่ตาคุณกำลังจะปิด ดันนึกขึ้นได้ว่าช้อนทองคำเอาไว้
คุณรีบคว้ามือถือมาเปิดแอ๊พ MT4 ด้วยความหวังว่าออเดอร์ Buy ไม้นี้ จะช่วยให้ชีวิตของคุณพ้นทุกข์ และกลายเป็นอิสระทางการเงินได้ดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อที่คุณเห็นในโซเชียล
แต่คุณต้องตกใจ เมื่อเห็นหน้าจอแอ๊พเป็นสีแดง มุมบนซ้ายบนของจอแสดงให้เห็นว่าเงินที่คุณลงไปกำลังมูลค่าลดลง 15% … ใช่แล้ว นี่คือใช่แล้ว นี่คือวินาทีแรก ที่คุณได้สัมผัสกับ “ความกลัว” จากการถือครองออเดอร์ติดลบ และเกิดความกังวลในจิตใจ เพราะถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้ คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดที่ลงทุนไปได้
ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากคุณรู้ว่า จุดที่กำลังจะยิงออเดอร์ เป็นจุดที่คุณได้เปรียบ และจำกัดความเสี่ยงโดยกำหนดจุด Stop Loss ให้ชัดเจน
และขออนุญาตบิณฑบาตเลยว่า “อย่าไปขยับ SL เด็ดขาด“
คุณรู้ไหมทำไมผมเรียก “เทรดเดอร์” ว่าเป็น “นักล่า”
นักล่า คือผู้ที่อยู่รอดด้วยการออกล่าเหยื่อ เพื่อนำเหยื่อมาดำรงค์เผ่าพันธุ์ ทุกครั้งที่ออกล่า คือการออกไป “เสี่ยงชีวิต” และมีเพียงผู้ล่าที่เก่งอาจเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์สืบเผ่าพันธุ์ไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้
ทันทีที่คุณก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดทุน และเริ่มเปิดออเดอร์เพื่อซื้อหรือขาย นั่นเท่ากับว่าคุณกำลังเอาเงินของคุณมา “เสี่ยง” แล้วล่ะ
แต่ถ้าคุณเลือกที่จะไม่เสี่ยงเลย(ไม่ออกไปล่า) ครอบครัวคุณก็จะไม่มีกิน ใช่มั้ยล่ะ
งั้นจะทำอย่างไร เราถึงจะออกไปล่าได้ โดยที่เราจะไม่ต้องเจ็บตัวถึงขั้นเสียชีวิตล่ะ? งั้นเราก็ต้องมีเกราะป้องกันสิ เวลาที่เหนื่อยล้าเป็นไข้ ก็อย่าพึ่งออกไปล่าสิ เวลาล่าทีนึง ก็หาวิธีถนอมอาหารสิ จะได้มีกินตลาดทั้งฤดูหนาว
หากเป็นการลงทุน คุณก็ต้องจำกัดความเสี่ยงสิ การเอาเงินทั้งหมดไปเปิดออเดอร์ โดยไม่ตั้งจุดขาดทุน ไม่ต่างอะไรกับ “การพนัน” เลยนะ
เวลาอารมณ์ไม่ปกติ ก็ไม่ต้องเปิดออเดอร์ เสาะแสวงหาความรู้ให้เข้าใจพฤติกรรมของสินทรัพย์ตัวนั้นๆ ก่อน แล้วค่อยไปออกล่ามันสิ
เวลาได้กำไร ก็อย่าพึ่งรีบใช้สิ ไม่กะจะเผื่อเงินเอาไว้ชดเชยตอนที่ขาดทุนเลยหรือ? คุณคิดว่าจะกดออเดอร์ได้ถูกต้อง ไม่มีติดลบเลยซักครั้งแบบนั้นหรือ?
หากวันนี้ คุณรู้สึกตัวได้ว่า คุณเองก็เป็นมนุษย์ ผมเองก็เป็นมนุษย์ และมนุษย์มีทั้งถูกและผิด ปะปนกันไป ไม่มีมนุษย์คนไหนจะทำอะไรได้ถูกต้องได้ตลอด การทำผิดพลาดเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนอยู่แล้ว หากปฏิเสธความผิดพลาด นั่นเท่ากับปฏิเสธการเป็นมนุษย์เลยนะ
เมื่อเข้าใจดังนี้ พึงระลึกก่อนจะกดออเดอร์ทุกครั้ง ว่าจุดที่เราจะเข้าไป มันทำให้เราได้เปรียบตลาดใช่ไหม และพลาดท่าเสียที คุณจะจำกัดความเสี่ยงเอาไว้เท่าไหร่ หากครั้งนี้ผิดพลาดไป ก็อย่าได้เสียใจ เพราะความผิดพลาดมันเกิดได้กับทุกคนเป็นเรื่อง “ปกติ” อยู่แล้ว
➡️➡️มีระบบเทรดแล้ว ไหงยังเทรดไม่ได้กำไร ?
ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงตามหาระบบเทรด หรือจะเป็นมือเก่าที่มีระบบเทรดให้ลองผิดลองถูกมากมาย กลับต้องมาประสบปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกัน เพราะเมื่อพวกเขาได้เจอ “ระบบเทรด” ที่ต้องการได้แล้ว แต่ดันไม่กดออเดอร์ตามระบบซะอย่างงั้น
ปัญหาของคนที่ไม่ทำตามระบบเทรด คือพวกเขาคาดหวังว่าผลลัพธ์ของระบบมันควรจะต้องทำให้เค้ารวยได้เร็วๆ สิ แต่ระบบมันดันมีโอกาสแพ้ มากกว่าชนะ แถมบางครั้งยังต้องรอเป็นเวลานาน กว่าจะได้กดแต่ละออเดอร์
เมื่อเริ่มไม่พอใจ และคิดว่าระบบที่ใช้อยู่ไม่ตอบโจทย์ แพ้ก็บ่อย รอก็นาน จึงนำเราไปสู่จุดเริ่มต้นของการเดินทางอันไม่มีสิ้นสุด เพื่อออกตามหา “ระบบศักดิ์สิทธิ์” ที่จะทำให้เราชนะทุกครั้งที่ยิงออเดอร์ และยิงออเดอร์ได้ทุกวัน ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่าจะรวยได้ด้วยการยิงออเดอร์ภายใน 2-3 วัน
ครอยากเป็นเศรษฐี … ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ
เทรเดอร์ผู้เสาะแสวงหาจอกศักดิ์สิทธิ์ท่านหนึ่ง
ในขณะที่คุณฮัมเพลงนี้ระหว่างออกเดินทางแสวงจาริกเพื่อตามหาระบบเทพ ก็เกิดเรื่องให้คุณต้องผงะ เมื่อคุณได้ยินเสียงผู้คนจำนวนมากที่ออกเดินทางมาก่อนก็ฮัมเพลงนี้เช่นเดียวกัน
ใช่แล้ว พวกเขาคือกลุ่มคนที่ออกเดินทางเพื่อตามหา “จอกศักดิ์สิทธิ์” เช่นเดียวกับคุณ หลายคนอยู่บนถนนสายนี้มานานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังตามหาระบบเทพที่คืนทุนได้ภายใน 10-30 วันยังไม่เจอเลย
หรือว่าแท้จริงแล้ว วิธีคิดแบบนี้มันผิดกันนะ?
ไม่มีใครที่จะให้คำตอบคุณได้ แม้ว่าผมเองก็เคยออกแสวงจาริกเหมือนผู้คนเหล่านั้นเช่นกัน แต่เมื่อได้สติกลับคืนมาสู่โลกความเป็นจริงและยอมรับกับตัวเองว่า “จอกศักดิ์สิทธิ์” นั้นไม่มีอยู่จริง มีแต่เพียงระบบเทรดที่ไม่สมประกอบ ที่เราจะต้องนำมันมาประสานให้เข้ากับลักษณะการลงทุนให้เหมาะกับช่วงชีวิตของเราต่างหาก
เมื่อผมยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ จึงค่อยๆ รื้อฟื้นพื้นฐานการลงทุนของตัวเองใหม่ทั้งหมด นับหนึ่งใหม่ตั้งแต่การบริหารเงินส่วนบุคคล การทำงบการเงินต่างๆ ไปจนถึงการเริ่มต้นธุรกิจที่ถูกต้อง แล้วจึงมาปิดท้ายที่เรื่องของการลงทุน
ทำให้ผมทราบดี ว่าตลาดทุน มันก็มีอยู่แค่ 2 อย่าง คือตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน(Trend) และตลาดที่มีแนวโน้มไม่ชัดเจน(Non-trend/Sideway) และมันก็มีแค่นี้จริงๆ
เมื่อตลาดมี 2 อย่าง … งั้นท่าเทรดพื้นฐานมันก็ควรจะมีอยู่แค่ 2 เท่านั้นนั้นสิ จริงไหมล่ะ?
อย่าลืมว่าเทรดเดอร์ คือผู้แสวงกำไรส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ การซื้อถูกแล้วไปขายแพง จึงเป็นทักษะพื้นฐานที่เทรดเดอร์พึงกระทำ หากเราวิเคราะห์ได้ว่าตลาดกำลังเคลื่อนตัวเป็น Trend และเราไม่อยากซื้อของแพง … จึงควรรอให้ราคามันย่อตัวลงมาก่อน แล้วค่อยเข้าไปทยอยสะสมในภายหลัง
หากราคาเคลื่อนตัวแบบ Sideway ก็ไม่ควรผลีผลาม ศึกษาพฤติกรรมว่าราคาจะแกว่งตัวสูงสุดช่วงไหน ค่อยถือโอกาสซื้อขาย ณ บริเวณนั้น และต้องแน่ใจว่ามันต้องเป็นจุดที่เราได้เปรียบที่สุดด้วย
นี่แหละคือระบบเทรดพื้นฐานที่สุด พยายามอย่าไปซื้อของแพง ศึกษาพฤติกรรมของสินค้าที่คุณกำลังจะเข้าไปเก็งกำไร ยอมตัดขาดทุนบ้าง แล้วค่อยหาโอกาสไปเริ่มต้นใหม่เมื่อสภาพแวดล้อมพร้อม
คุณจะไม่มีวันมองเห็นและเข้าใจเรื่องง่ายๆ เหล่านี้เลย หากไม่เริ่มต้นที่จุดเริ่มต้นเดียวกัน นั่นคือ
“การเข้าออกออเดอร์ตามระบบ”
ดังนั้น หากวันนี้คุณมีระบบเทรดที่ใช้กับ Trend และ Sideway ได้แล้ว … ลองกดออเดอร์ตามนั้นดูครับ ระบบมันบอกให้ทำอะไร ก็ทำตามนั้นดู
ลองไม่ต้องไปสนใจที่ตัวเงิน ให้สนใจว่า เวลามันทำกำไรได้ มันมีโอกาสได้กำไรสูงสุดที่เท่าไหร่ และเวลาไหน
เวลามันขาดทุน มันขาดทุนสูงสุดเท่าไหร่ และเมื่อใด
เมื่อคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้เมื่อไหร่ … นั่นเท่ากับว่าคุณได้ค้นพบในสิ่งที่คุณตามหามาเป็นเวลานานแล้วแหละครับ
➡️➡️รู้จักศัตรู(ที่แท้จริง)ของเรา
เอาล่ะ!
เรื่องที่สำคัญๆ ผมก็เล่าให้คุณฟังจนหมดแล้ว ทีนี้เรามาทำความรู้จัก “ศัตรู” ในโลกของฟอเร็กซ์กันดีกว่า (ไม่นับพวกศัตรูที่อยู่นอกตลาดนะ ได้แก่พวก SCAM พวกต้มตุ๋นหลอกลวง ทางที่ดีก็พยายามมองหาโบรกเกอร์ที่ไม่มีข่าวฉาวโฉ่ คนใช้งานกันเยอะเป็นเวลาหลายปี หรือมี License รับรองจะดีกว่า)
ศัตรูในที่นี่ คือสิ่งที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องเผชิญ นั่นก็คือ “กราฟราคาของสินทรัพย์” นั่นเอง ซึ่งราคาก็เกิดจากปริมาณการซื้อขาย จากสถาบันทางการเงิน หรือจากกองทุนต่างๆ รวมถึงกลุ่ม Smart Money ที่จัดได้ว่าเป็นนักล่ามือฉกาจ ที่พร้อมจะออกล่าเหยื่ออย่างเยือกเย็น เพื่อนำทรัพยากรที่ได้ไปแจกจ่ายให้กับครอบครัวของเขาเอง
และพวกเราในฐานะที่เป็นเทรดเดอร์ “รายย่อย” จึงควรทำความรู้จักกับพฤติกรรมของพวกเขาเหล่านั้น ข่าวดีก็คือมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนแต่อย่างใด เพราะนักล่าทุกคนที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่อยู่ในสนามรบแห่งเดียวกัน และที่แห่งนี้เรียกว่า “ตลาดทุน” นั่นเอง
การที่รายย่อยอย่างเราจะสามารถอยู่รอดได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมของรายใหญ่เหล่านี้ก่อน และพฤติกรรมทุกอย่างมันสะท้อนออกมาอยู่ในรูปแบบของ “ราคา” จนเกือบหมดแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ผมจะแชร์ให้ในงาน สัมมนา Forex ครั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่หลายๆ สำนักก็สอนกัน แต่เชื่อว่าสิ่งที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังที่ผมแชร์ให้ในงาน ไม่มีใครเคยบอกคุณมาก่อนแน่ๆ และเราจะค่อยๆ มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันนะครับ
➡️➡️โครงสร้างของ Trend
เรื่อง Basic พื้นฐานสำคัญในการเป็นนักเก็งกำไรที่ดี คือคุณต้องรู้จักโครงสร้างของ “แนวโน้ม” กันก่อน เพราะถ้าคุณเข้าใจมันได้จริง คุณจะไม่ยิงออเดอร์มั่วซั่วเหมือนที่เทรดเดอร์หน้าใหม่ทำอย่างแน่นอน โครงสร้างของมันมีลักษณะเป็นแบบนี้
ผมแสดงให้คุณได้มองเห็นภาพของราคาสินทรัพย์(เส้นสีดำ) ที่ค่อยๆ มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิธีการสังเกตง่ายๆ จากการขยับตัวขึ้นของราคาสูง(High) และการขยับตัวขึ้นของราคาต่ำ(Low) ดังคำเรียกติดปากว่า “Highยก Lowยก”
ในฐานะที่คุณกำลังจะกลายเป็น “เทรดเดอร์” ผมต้องถามคุณก่อนว่า จากรูปที่เห็นข้างต้นนี้ หากเป็นคุณเอง จะ “แสวงหากำไร” จากมันได้อย่างไร?
เอาแบบง่ายๆ จากรูปด้านบนนี้เลยนะ วิธีการทำกำไรมันเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน หากคุณมองเห็นโครงสร้างแบบนี้ได้ มองเห็น “HighยกLowยก” แบบนี้ คุณก็แค่รอให้ราคามันย่อตัวลงมาก่อน แล้วค่อยทำการหาจังหวะเข้าซื้อ เมื่อราคามีการเตรียมตัวยกในรอบถัดไป (หลายๆ สำนักเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า “จังหวะเก็บของ”)
แต่เรากำลังอยู่ในโลกแห่งการ “เก็งกำไร” ใช่มั้ยล่ะ จู่ๆ จะไปเข้าซื้อมั่วๆ ก็ไม่ได้ ในฐานะเทรดเดอร์มืออาชีพ จะต้องทำการกำหนดจุดทำกำไร และจุดขาดทุนให้เรียบร้อยด้วย
จากโครงสร้างแบบนี้ การกำหนดจุดขาดทุน โดยปกติจะกำหนดไว้ที่ Low ปัจจุบัน หรือ Low ก่อนหน้าก็ได้
สำหรับจุดทำกำไร มีค่อนข้างหลายแบบ แต่ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 แบบคือ 1. กำหนดจุดทำกำไร โดยเอาระยะการขาดทุนมาคูณสามเท่า (เพื่อให้ได้ RRR = 1:3) และ 2. กำหนดจุดทำกำไรจากการใช้เครื่องมือชื่อว่า Fibonacci Expansion โดยไปออกที่จุด 161.8%
เอาล่ะ ทีนี้ถ้าเราอยากมองเห็นแนวโน้มขาขึ้นให้ชัดเจน ให้คุณทำการลากเส้นเพื่อเชื่อมจุด Low ต่างๆ เข้าด้วยกัน (ในแนวโน้มขาขึ้น ให้เชื่อมจุด Low อย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป) แล้วเส้นที่เราลากนี้จะถูกเรียกว่า Trend Line
การใช้งาน Trend Line ก็ไม่ยาก เราจะใช้มันเป็นจุดสังเกต หากราคาของสินทรัพย์มีการไต่ระดับอยู่เหนือเส้นนี้ไปเรื่อยๆ ก็ยังคงยืนยันได้ว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้นอยู่ (โครงสร้างขาขึ้นยังไม่เสีย)
แต่หากราคาเริ่มมีการปรับตัวลงทะลุเส้น Trend Line นี้ลงมา เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Breakout ซึ่งต้องสังเกตร่วมกับจุด High และ Low ด้วย หากมันมีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องร่วมด้วย แสดงว่าเป็นจุดสิ้นสุดโครงสร้างของขาขึ้นแล้วนั่นเอง
ทีนี้มาต่อกันอีกนิด ในช่วงแนวโน้มขาขึ้น หากเราลากเส้นเพื่อเชื่อมจุด High ต่อกันบ้าง จะทำให้เราได้ Trend Line จำนวน 2 เส้น และเห็นราคาอยู่ในกรอบที่เป็นช่องทางของราคา ลักษณะนี้เราจะเรียกว่า Channel
ประโยชน์ของ Channel ก็สามารถใช้เพื่อเป็นจุดสังเกตพฤติกรรมการพักตัวของราคาได้ด้วยเช่นกัน หากราคาไม่สามารถโผล่พ้น Trend Line ด้านบน แต่มุดกลับลงมาอยู่ใน Channel อีกที ก็สามารถอนุมานได้ว่าราคาน่าจะเคลื่อนตัวอยู่ลักษณะนี้อีกซักระยะ ดังนั้นผู้นำไปใช้งานก็สามารถนำมาหาจุดพักตัว และจุดเตรียมเข้าสะสมสินทรัพย์นั้นได้เช่นกัน
สำหรับแนวโน้มขาลง ก็จะตรงกันข้ามกับขาขึ้น ข้อสังเกตสำคัญก็คือ พยายามสังเกตจุดที่ “Highย่อ และ Lowย่อ” และลองเชื่อมต่อจุดกัน ก็สามารถยืนยันได้แล้วว่าสินทรัพย์นั้นๆ มีการเคลื่อนตัวเป็นแนวโน้มขาลงแล้วนั่นเอง
นี่แหละ คือสิ่งที่ผมบอกว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐาน(สุดๆ) ที่เราควรใช้เป็นเกณฑ์แรกในการสังเกตพฤติกรรมของสินทรัยพ์ที่เราจะเข้าไปเก็งกำไร และถ้าราคามันมาแบบนี้เลย เราก็ควรที่จะทำกำไรได้สิ
แต่ต้องบอกว่าหากเป็นในตัว Forex เอง เราจะเห็นโครงสร้างแบบ Trend ได้ค่อนข้างน้อย (ในอัตราส่วน 20% ของพฤติกรรมทั้งหมด)
แล้ว ที่เหลือมันเป็นโครงสร้างแบบไหนล่ะ? โครงสร้างที่เหลือของตลาด จะมีการเคลื่อนตัวในลักษณะที่มีทิศทางไม่แน่นอน เราเรียกพฤติกรรมของตลาดลักษณะนี้ว่าตลาดแบบ Sideway หรือ Non-trend
➡️➡️โครงสร้างของ Sideway
ถ้าอ้างอิงโครงสร้างของแนวโน้มขาขึ้น(Up Trend/Bullish Market) จะสังเกตจากจุด “HighยกLowยก” และแนวโน้มขาลง(Down Trend/Bearish Market) จะดูจากจุด “Highย่อLowย่อ” แล้วโครงสร้างแบบ Sideway ล่ะเป็นยังไง?
ตอบง่ายๆ ว่ามันไม่ได้เคลื่อนตัวแบบ Trend นั่นแหละ แสดงว่าโครงสร้างแบบ Sideway มันจะมีหน้าตาประมาณแบบนี้
ตลาดช่วง Sideway มันคือช่วงตลาดที่ไม่ค่อยมีความชัดเจนแน่นอน High อาจจะปรับตัวขึ้น แต่ Low ดันปรับตัวลง หรืออาจจะสลับกันเป็นช่วงๆ หรือมีการยกตัวขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ
และต้องบอกว่าตลาดมีการเคลื่อนตัวลักษณะนี้บ่อยมาก ในอัตราส่วนเกือบ 80% เลยก็ว่าได้ แสดงว่าเมื่อคุณเปิดกราฟมา จะเจอกราฟที่มีการเคลื่อนตัวขึ้นลงที่มีทิศทางไม่ชัดเจนค่อนข้างบ่อย
ถ้ากราฟมาทรงนี้ ส่วนใหญ่จึงมักจจะเก็งกำไร โดยการดักซื้อเมื่อราคาย่อตัว แล้วไปขายตอนราคาแกว่งขึ้นไปเกินค่าเฉลี่ยซักเล็กน้อย เพื่อมาดักรอซื้ออีกรอบเมื่อราคาหลุดกรอบมาด้านล่างอีกที ทำแบบนี้วนๆ กันไป
➡️➡️กลยุทธ์การเทรด
เอาล่ะ ผมคงต้องพักเรื่องทฤษฏีน่าปวดหัวไว้เพียงเท่านี้ เรามาดูแนวทางการทำกำไร (ที่ผมเรียกติดปากว่า “ท่ายิงออเดอร์”) ไปพร้อมกันดีกว่า โดยในงานสัมมนา ผมเน้นให้พวกเราฝึกการทำกำไรจากตลาดแบบ Trend เป็นหลักก่อน (เน้นตลาดที่ดูได้ง่ายๆ ก่อน)
ผมเลยนำเอาท่ายิงมาตาฐานแบบง่ายๆ มาให้คุณได้ดู และลองดูว่าแต่ละท่ามันมีข้อดีข้อเสียยังไง และท่ายิงแบบไหนที่เหมาะกับจริตของคุณ โดยผมจะยกตัวอย่างจาก Up Trend เป็นหลักนะครับ เอาล่ะ ไปดูพร้อมกันเลย
➡️➡️ท่ายิงที่ 1 ยิงตอนราคาทะลุ High ปัจจุบัน
ท่ายิงมาตรฐานในการเทรด นั่นก็คือ การเข้าซื้อ เมื่อราคามีการปรับตัวขึ้นอย่างยต่อเนื่อง และราคาสามารถยืนเหนือ High ปัจจุบันได้ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการซื้อตามราคา เมื่อมันมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวขึ้นนั่นเอง
ในตลาด Commonity เราสามารถทำแบบนี้ได้ค่อนข้างง่าย เพราะเวลาที่ตลาดมีการเหวี่ยงตัวขึ้น มันจะมีแรงส่งตามขึ้นไปด้วย(เกือบ)ทุกครั้ง ดังนั้นเราจึงใช้ท่ายิงแบบนี้ได้ค่อนข้างที่จะแม่นยำ
สำหรับแนวทางการเทรด เมื่อคุณเห็นโครงสร้างของราคาเป็นแนวโน้มขาขึ้น และคุณมองเห็นว่า ราคา(น่าจะ) ไม่หลุด Low ปัจจุบัน … มาแบบนี้คุณสามารถตั้งออเดอร์ Buy Stop ไว้ที่บริเวณราคา High ปัจจุบันได้เลย เมื่อราคาชนเส้น Buy Stop ระบบของ MT4 ก็จะเปลี่ยนให้กลายเป็นออเดอร์ Buy ให้คุณโดยอัตโนมัตินั่นเอง
จุดในการตั้ง SL ก็ตั้งเอาไว้ที่จุด Low ปัจจุบันได้ แต่หากคุณกังวลว่าราคาอาจลากไปโดนจุด SL ก่อนจะปรับตัวพุ่งขึ้นไป แบบนี้ก็สามารถใช้เทคนิคที่เรียกว่า Double Stop Loss ในการเลื่อน SL ไปยังจุด Low ถัดไปได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในการวางออเดอร์ พยายามคำนึงถึงอัตราส่วนขาดทุนต่อกำไร (Risk Reward Ratio: RRR) ด้วย หากเป็นการเทรดตามแนวโน้ม ควรตั้ง RRR ให้อยู่ในสัดส่วน 1:3 ขึ้นไปถึงจะคุ้มกับการเทรดนะครับ
มาถึงการตั้งจุด TP กันบ้าง อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าการตั้งมีหลายแบบ แต่ถ้าให้แนะนำ ก็ใช้จุด RRR 1:3 นี่แหละในการกำหนดจุด TP นั่นหมายความว่า สมมติจากจุด Buy Stop มายังจุด SL มีระยะ 500 จุด … งั้นจุด TP ก็ควรมีระยะ 3 x 500 = 1,500 จุด นั่นเอง (ง่ายมั้ยล่ะ)
แต่หากคุณบังเอิญมีโอกาสได้เรียนเรื่อง Fibonacci Expansion มาแล้ว ก็สามารถลากเส้น Fibo จากจุด High ปัจจุบัน ไปยังจุด Low ก่อนหน้า แล้วดูเป้าออกที่จุด 161.8% ก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตำแหน่งมันก็จะใกล้เคียงกับการตั้ง RRR = 1:3 นั่นแหละ
➡️➡️ท่ายิงที่ 2 รอราคาทะลุ High ปัจจุบัน แล้วย่อตัวกลับมาก่อน แล้วค่อยยิง
ท่านี้ มีชื่อในการยิงอย่างเป็นทางการว่า Throwback คือการรอให้ราคาปรับตัวขึ้น เพื่อทำการทดสอบราคา High ปัจจุบันให้เรียบร้อยก่อน เมื่อมันทะลุขึ้นไปแล้ว เราจึงค่อยวางออเดอร์ Buy Limit เพื่อมาดักช้อนซื้อ ตอนที่ราคามีการปรับตัวลงจะดีกว่า
ทำไมต้องทำอะไรวุ่นวายขนาดนั้นกันนะ?
ท่ายิงนี้ บอกตามตรงว่าเป็นท่ายิงที่ขัดใจวัยรุ่นมาก เพราะต้องรอให้ราคาทะลุ High ไปก่อน แถมยังต้องรอให้ราคาปรับฐานมาลงอีกหนึ่งตลบ เพื่อให้มาเกี่ยวโดนออเดอร์ที่เราวางดักเอาไว้อีกที เรียกได้ว่าต้องรอแล้วรออีกกว่าจะได้ออเดอร์ซักอัน
เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้ เพราะทุกครั้งที่ตลาดมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันจะต้องมีการปรับฐานลงมาก่อนเสมอ การที่ราคาสามารถทะลุ High ปัจจุบันไปได้ นั่นทำให้เทรดเดอร์หลายคนพลาดโอกาสในการ “เก็บของ” ถูกมั้ยล่ะ?
แล้วคนที่พลาดโอกาสเก็บของเค้าจะทำอย่างไร ในเมื่อราคาก็มีการปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแล้ว … ก็ทำการขายทำกำไรออกไปบางส่วน เพื่อทำให้ตลาดเกิดความลังเลชั่วขณะ และเกิดการขายตามด้วยแรงส่ง ทำให้ราคามีโอกาสปรับฐานลงมาบ้างในบางจุด ลักษณะที่ตลาดที่มีปรับฐานลงมาแบบนี้แหละเราจะเรียกมันว่า Throwback (หรือเรียกว่า Rebound ก็ได้)
หากเราเข้าออเดอร์ด้วยท่าที่ 1 เราอาจจะต้องตกใจ เพราะราคายังไม่ทันถึงจุดทำกำไรของเรา แต่ก็ย่อตัวลงมาซะแล้ว หลายๆ คนจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าการเบรกหลอก (False Break) ทำให้กลุ่มคนที่เทรดท่าที่ 1 อาจตกใจแล้วทำการ SL ไปบางส่วนก็เป็นได้
แต่สำหรับการกดท่าที่ 2 เป็นท่าที่หลายคนนิยมใช้ เพราะเป็นกระบวนท่าในการเก็บของตามเจ้า เราจะได้ของที่ราคาถูก และจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ได้ตื่นเต้นไปตามกองไฟของราคาที่มีการพวยพุ่งไปตั้งแต่แรก
แม้ว่าโอกาสในการกดท่านี้ติดอาจจะมีได้ไม่บ่อย แต่หากกดติดเมื่อไหร่ โอกาสได้กำไรสูง จะมีมากกว่าท่าแรก และมีโอกาสทำ RRR ได้สูงกว่า 1:3 ด้วย
➡️➡️บรรยากาศในงาน สัมมนา Forex
เรื่องหลักๆ ที่ผมแชร์ให้ในงานสัมมนาก็มีประมาณนี้แหละครับ เนื่องจากเวลาจำกัด ทำให้ไม่มีโอกาสสาธิตและจำลองโมเดลเทรดในแต่ละท่าให้ดู เอาเป็นว่าถ้าคุณอ่านแล้วสนใจ เรามาแลกเปลี่ยนและเจาะประเด็นให้มันลึกขึ้นใน Line ส่วนตัวของผมก็ได้นะ
และในงานยังมีความลับ รวมถึงรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถแนะนำในที่สาธารณะได้ เพราะมันเป็นงานวิจัยที่ผมกลั่นมันออกมาจากการค้นคว้าและวิจัยมาเป็นเวลานานด้วย หากครั้งนี้คุณไม่มีโอกาสมางานสัมมนาก็ไม่ต้องเสียใจไป เดี๋ยวถ้ามีโอกาสในครั้งหน้า เรามาร่วมกินดื่ม และเสวนาไปพร้อมกันได้นะครับ
ผมได้เก็บเอาภาพบรรยากาศภายในงานมาฝากให้กับคุณด้วย ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้กับเพื่อนๆ เทรดเดอร์ทั้งมือใหม่และมือเก่า ได้แลกเปลี่ยนและแชร์มุมมองในการเทรดกับเพื่อนๆ ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เทรดอย่างโดดเดี่ยวในหน้าจอมือถือแค่คนเดียว แต่ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอยู่อีกเยอะแยะเลย
และขอบพระคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่มาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วยนะครับ
➡️➡️เพื่อนๆ ที่มา สัมมนา Forex คิดเห็นกันยังไงบ้าง ?
ในตอนท้ายงาน ผมได้สอบถามความคิดเห็นจากแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อจะได้ความคิดเห็นของเพื่อนๆ มาปรับใช้ และพัฒนาให้ตนเองสามารถนำมาพัฒนาในเรื่องการแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนๆ กันอีกที
พอดีว่าในงานสัมมนา ผมแอบแชร์เทคนิคเรื่อง Fibonacci ทั้ง Expansion และ Retracement ไปให้ เพื่อต่อยอดการเทรดโดยใช้เทคนิคแบบ Harmonic อีกที แต่เนื่องด้วยเวลาไม่พอ ส่วนใหญ่เลยอยากให้ผมจัดสัมมนา โดยเน้นเทคนิคนี้โดยเฉพาะ … หากมีโอกาสหน้า ผมจะเน้นเฉพาะส่วนนี้ให้แบบจัดเต็มเลยนะครับ
อ้อ สิ่งสำคัญอีกอย่างในการจัดงานสัมมนา คือผมตั้งใจให้งานมันมีความ “สนุก” จึงออกแบบงานสัมมนาออกมาให้ไม่เครียด มีความเป็นกันเอง เนื้อหาใน Slide เลยมีความเป็นเอกลักษณ์ และใส่มีมมาซะเยอะ สาระจริงๆ ไปอยู่ช่วงท้ายๆ นู้นๆ
สำหรับรายละเอียดอีกหลายๆ อย่างที่เพื่อนๆ อยากรู้เพิ่มเติม คงมาเน้นคุยแลกเปลี่ยนกันใน Zoom หรือใน Line ดีกว่าครับ แค่ได้มีโอกาสมาพบปะเจอหน้ากัน และได้แชร์มุมมองให้ตรงกันก่อนเริ่มเทรด ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี และมายืนอยู่ในจุดเริ่มต้นเดียวกันแล้วล่ะ หากมีโอกาสครั้งต่อไป ผมสัญญาว่าจะจัดงานสัมมนาให้ตรงกับความคาดหวังของทุกคน และจัดเนื้อหามาให้เต็มที่กว่าเดิมอีกแน่นอน
ขอบพระคุณที่ติดตามกันมาโดยตลอด ในครั้งหน้าถ้าผมมีเรื่องราวอะไรดีๆ รับรองว่าจะนำมาแบ่งปันให้กับคุณอีกแน่นอน เจอกันใหม่บทความหน้าครับผม
ปล. รูปนี้ได้มีโอกาสเจอกับเทรดเดอร์ ที่คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเทรดผ่านโทรศัพท์ตลอด ได้เจอตัวจริง พร้อมกับความเติบโตในสายอาชีพ นับเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าภูมิใจมากครับผม
➡️➡️อ้างอิง
บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.thailandfxwarrior.com/forex/seminar-forex-trading-broker-tmgm-in-2-years/
➡️➡️บทความที่คุณอาจสนใจ
#ฟอเร็กซ์ #สัมมนา Forex #สัมมนาForex
➡️➡️ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่
➡️➡️สมัครต่อ IB เพื่อเป็นกำลังใจและรับ Service พิเศษ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
3 ถูกใจ
1 แชร์
6.8K รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 3
    โฆษณา