1 เม.ย. 2022 เวลา 12:22 • ไลฟ์สไตล์
คุยเรื่องลำบากใจอย่างไรให้ราบรื่น? เทคนิคการพูดจากหนังสือ Difficult Conversations
ทั้งคนที่ ‘พูดเก่ง’ และ ‘พูดไม่เก่ง’ ล้วนต้องเจอปัญหาเหล่านี้
..ไม่ชอบที่เขาทำ แต่จะบอกเขาอย่างไรดีโดยไม่ทะเลาะกัน?
..รูมเมทไม่ยอมล้างจาน จะบอกให้เขาทำอย่างไรให้ไม่เหมือนการสั่ง?
..รู้สึกแย่กับการกระทำของเขา แต่จะอธิบายความรู้สึกอย่างไรไม่ให้อีกฝ่ายเสียใจ?
เราทุกคนเคยเผชิญสถานการณ์แบบ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ไม่รู้ว่าจะการสื่อสารกับอีกฝ่ายอย่างไร แม้จะเป็นคนพูดเก่งแค่ไหน ก็ตกม้าตายได้เพราะถ้าพูด ‘ไม่ถูกหู’ อีกฝ่าย ปัญหาก็ตามมาอยู่ดี
บางเรื่องเราก็หยวนๆ ได้และปล่อยไปแบบไม่พูดอะไร แต่ในหลายๆ เรื่องเราจำเป็นต้องพูดจริงๆ! ไม่เช่นนั้นเราจะแย่เอาได้ แต่ปัญหาคือเราจะเริ่มต้นบทสนทนาอย่างไรดี?
หนังสือเรื่อง “Difficult Conversation” หรือ “กลวิธีรับมือกับการพูดคุยที่คุณลำบากใจ” ได้รวบรวมเคล็ดลับในการคุยเรื่องยากๆ ให้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แบบไม่ต้องโต้เถียงและเสียความรู้สึกเกินทั้งสองฝ่าย มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1) อย่ามัวแต่กังวลว่า ‘พูดออกไปดีไหม’ ให้พูดออกไปเถอะ!
1
เรื่องยากๆ อยู่รอบตัวเราและเราต้องเผชิญกับมันเป็นประจำ อย่างการออกความเห็นเรื่องเชื้อชาติ การเมือง ศาสนา และเพศ ไปจนถึงการขอให้บ้านข้างๆ เลิกเปิดเพลงเสียงดัง
1
ผู้เขียนแนะนำว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ให้พูดออกไปเถอะ
หากเราปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้น (อย่างเช่น เปิดเพลงดังจนเราไม่มีสมาธิ นอนไม่ได้) คนที่รับผลเสียก็จะมีเพียงแค่เรา เรา และเราล้วนๆ! ดังนั้นลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเองบ้าง แน่นอนว่าการคุยเรื่องยากๆ มันน่าอึดอัดและน่ากังวล แต่เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่าที่จะพูดออกไป
โดยเฉพาะเมื่อเรามีเคล็ดลับที่จะได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
2) รู้จักบทสนทนาน่าหนักใจ 3 ประเภท
1
หนังสือได้แบ่งประเภทบทสนทนายากๆ ไว้ 3 ประเภท
อันดับแรกคือ บทสนทนาแบบ “เกิดอะไรขึ้นนะ?” (The “What Happened?” Conversation) ที่มักจะประกอบไปด้วยการโต้เถียงกันว่าใครถูก ใครผิด โดยที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าตนถูกและรู้สึกว่าอีกฝ่ายมีเจตนาไม่ดี จริงอยู่ที่การอธิบายว่าเราถูกอย่างไรไม่ใช่เรื่องผิดเลย แต่ปัญหาคือเรามักจะบอกว่าเราถูก โดยการชี้ความผิดของอีกฝ่ายเพราะมันง่ายกว่ามาก
1
ประเภทที่ 2 คือ บทสนทนาเรื่องความรู้สึก (Feelings Conversation) การแสดงให้คนอื่นรับรู้ความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะด้านที่อ่อนไหว บางคนเลยเลือกที่จะเก็บกดอารมณ์ไว้แทน
1
ส่วนประเภทที่ 3 คือ บทสนทนาที่ส่งผลต่อตัวตน (Identity Conversation) ซึ่งหากพูดออกไปแล้วจะขัดแย้งกับตัวตนของเรา (เช่น เรามองว่าเราเป็นคนใจดี แต่ถ้าพูดเตือนคนอื่นที่ล้ำเส้นเรา อาจถูกมองว่าไม่ใจดีอีกต่อไป)
1
และนี่ก็คือบทสนทนาน่าหนักใจทั้ง 3 ประเภท ต่อไปเราจะมาดูกันว่าจะสื่อสารปัญหาเหล่านี้อย่างให้ราบรื่นและไม่ทุกข์ใจทั้งสองฝ่าย
3) จัดการกับบทสนทนาแบบ “เกิดอะไรขึ้นนะ?”
ผู้เขียนเชื่อว่าบทสนทนาแบบเรียนรู้ (Learning Conversation) ซึ่งผู้พูดและผู้ฟังพยายามหาทางออกด้วยกันโดยไม่เถียง ไม่โยนความผิด และไม่เงียบใส่กัน คือกุญแจสู่บทสนทนาที่ราบรื่น
เราลองมาใช้กับสถานการณ์ของบทสนทนาประเภทแรกดู
อันดับแรก แทนที่จะมองว่าอีกฝ่ายผิดหรือไม่มีเหตุผล ลองตั้งคำถามดูว่าทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น ทั้งๆ ที่เผชิญสถานการณ์เดียวกับเรา แต่ทำไมเขาถึงมองคนละมุม? เขาไม่เห็นด้วยเพราะอะไร? หรือเขารู้อะไรที่เราไม่รู้กันนะ? ความสงสัยเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่าอีกฝ่ายเพียงแค่ ‘เห็นต่าง’ ไม่ได้เป็น ‘ศัตรู’ กับเรา
1
ต่อมาคือ อย่าทึกทักว่าอีกฝ่ายมีเจตนาไม่ดี ให้โฟกัสที่การกระทำของเขาแทนว่าเป็นอย่างไร
ขั้นตอนสุดท้ายคือ เลิกโทษกันและกัน แต่ให้พยายามหาคำตอบด้วยกันว่า ทำไมเราถึงเถียงกันจนเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดนี้ และเราจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ทั้งสองฝ่าย
1
4) จัดการกับบทสนทนาเรื่องความรู้สึก
สมมุติว่า เรากำลังอยู่ในช่วงว่างงานและกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านกับครอบครัว อยากพักสัก 1-2 เดือน แต่แม่คอยบ่นเราตลอดว่าให้รีบหางานทำ เรารู้สึกแย่และมองว่าที่แม่มากดดันเราแบบนี้ เป็นเพราะอายคนอื่นๆ ที่ลูกไม่มีงานทำ ผลที่ตามมาคือแม่และเราทะเลาะกันเสียทุกครั้ง
แทนที่เราจะรีบโต้ตอบและลงเอยด้วยการทะเลาะกัน ลองใช้เทคนิคการสนทนาแบบเรียนรู้ดู
อันดับแรกให้สำรวจความรู้สึกตัวเองก่อนว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ในกรณีนี้คือ เรารู้สึกแย่เพราะแม่ไม่เข้าใจว่าเราเหนื่อย แถมยังน้อยใจด้วยที่แม่แคร์ความรู้สึกคนรอบตัวมากกว่าเรา
พอเข้าใจความรู้สึกแล้ว อันดับต่อมาคือ สำรวจความคิดของเราว่า ‘คิดไปเองหรือเปล่า?’ เราทึกทักไปว่าแม่อายคนอื่นๆ เพราะลึกๆ แล้วเราก็กดดันตัวเอง หรือว่าที่แม่พูดเป็นเพราะเป็นห่วงเราจริงๆ อยากให้ทำงาน มีเงินใช้ และรีบสร้างเนื้อสร้างตัว
หากได้คำตอบแล้วว่าเหตุผลของแม่คืออะไร ลองถามตัวเองต่อว่า ‘แล้วเรารู้สึกอย่างไร ถ้าแม่คิดแบบนั้น?’ ท้ายสุดคือบอกเล่าความรู้สึกอย่างใจเย็น ไม่ว่าเราจะรู้สึกดีหรือรู้สึกแย่ แต่อธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเรารู้สึกแบบนี้เพราะอะไร และการกระทำของเขาส่งผลต่อเราอย่างไร
แทนที่จะโต้ตอบว่า “แม่จะบ่นอะไรนักหนา!” ลองบอกว่า “เข้าใจว่าแม่เป็นห่วง แต่ไม่ชอบเลยที่ยกเรื่องงานมาพูดบ่อยๆ ผมรู้สึกโกรธและกดดัน เพราะการพูดซ้ำๆ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนคนไม่เอาไหน” บางทีปัญหาอาจคลี่คลายโดยไม่ต้องทะเลาะกันก็ได้นะ
5) จัดการกับบทสนทนาที่ส่งผลต่อตัวตน
เมื่อพูดถึงว่า ‘เราเป็นใคร’ เรามักจะตัดสินตัวเองอย่างแน่ชัด อย่างเช่น ขยัน-ขี้เกียจ เป็นมิตร-หยิ่ง ช่างพูด-เงียบ หรือ กล้าแสดงออก-ขี้อาย เรามักจะเลือกขั้วใดขั้วหนึ่งระหว่างคุณลักษณะเหล่านี้ในการอธิบายตนเอง
ทั้งๆ ที่จริงแล้วตัวตนของมนุษย์เราละเอียดอ่อนกว่านั้นมาก คำนิยามสุดขั้วอย่างไม่ดีก็ชั่ว หรือ ไม่ขาวก็ดำ จึงไม่ถูกต้องนักและอาจทำให้เราใช้ชีวิตยุ่งยากอีกด้วย
ลองจินตนาการถึงสถานการณ์นี้ดู เรามองว่าตนเองใจเย็นและมีนิสัยเป็นมิตรกับทุกคน เราผูกพันกับตัวตนด้านนี้ของเรามากและคนอื่นๆ ก็รับรู้ว่าตัวตนของเราเป็นแบบนี้ เรียกได้ว่า หากมีใครถามเพื่อนในกลุ่มว่า ‘ใครใจเย็นที่สุด’ ทุกคนจะชี้มาที่เรา
แต่อยู่ๆ วันหนึ่ง เราสังเกตเห็นว่ารูมเมทแอบหยิบของของเราไปใช้ ใจหนึ่งเราก็อยากเตือนและขอให้เขาหยุดพฤติกรรมนั้น แต่อีกใจหนึ่งเราก็รู้สึกว่า หากบอกไป หล่อนต้องมองว่าเราเป็นคนใจร้ายแน่เลย — ซึ่งนั่นตรงข้ามกับตัวตนของเราสุดๆ!
เราเลยเลือกที่จะเงียบ
เห็นหรือยังว่าการนิยามตัวเองอย่างแน่ชัดอาจเป็นปัญหา
ดังนั้น ในการที่จะสนทนาบางเรื่องที่ท้าทายตัวตนของเรา เราต้องเลิกมองทุกอย่างเป็นขั้วตรงข้ามอย่างขาวกับดำเสียก่อน อย่างในกรณีตัวอย่างที่ยกไป จริงๆ แล้วการพูดออกไปไม่ทำให้เราเป็นคนใจร้ายเลย เราเพียงแค่รักษาขอบเขตของตัวเอง ไม่ให้ใครมาเอาเปรียบต่างหาก
6) เล่าเรื่องจากมุมมองที่ 3
นอกจากเทคนิคบทสนทนาแบบเรียนรู้ (Learning Conversation) ที่ยกตัวอย่างไปด้านบน ยังมีอีกเทคนิคที่จะช่วยให้การคุยราบรื่นขึ้น ซึ่งเทคนิคนั้นคือ “การเล่าเรื่องมุมมองที่ 3” นั่นเอง
สมมุติว่า เรากับรูมเมทมีปัญหากันเรื่องการล้างจาน เราเป็นคนชอบล้างทันทีหลังใช้ ส่วนรูมเมทชอบรอให้จานเต็มอ่างก่อนค่อยล้าง ผลที่ตามมาคือเรามักจะทนไม่ได้และล้างจานเองเสียทุกครั้ง เลยทะเลาะกันแบบนี้..
“ฉันเป็นคนล้างจานตลอดเลย ทำไมเธอกินแล้วไม่ล้างบาง”
“ไม่จริงเสียหน่อย ฉันก็เคยล้างนะ ล้างเยอะด้วย แค่รอให้เต็มอ่างก่อนเฉยๆ”
“แบบนั้นมันสกปรกจะตาย อย่าขี้เกียจไปหน่อยเลย”
“เอ้ะ..$%$^&%*&^*”
จะเห็นได้ว่าบทสนทนาประเภท ‘ฉันทำแบบนั้น เธอทำแบบนี้’ มีแต่จะทำให้อีกฝ่ายขุ่นเคือง แต่ถ้าเราลองใช้เทคนิคเล่าเรื่องจากมุมมองที่ 3 ดู อย่าง “นิยามของคำว่าความสะอาดของเราต่างกัน” หรือ “ความถี่ในการล้างจานของเราต่างกัน” เมื่อประธานของประโยคไม่ใช่ ‘ฉัน’ หรือ ‘เธอ’ ทั้งคู่จะรู้ไม่รู้สึกว่าถูกอีกฝ่ายว่าอยู่ จากนั้นก็ค่อยเรียนรู้ต่อว่าต่างอย่างไร และ จะหาข้อตกลงที่เป็นกลางสำหรับทั้งสองฝ่ายอย่างไร
ความรู้สึกและความคิดของเราสำคัญ อย่าปล่อยให้มันกลายเป็นแค่เสียงเล็กๆ ในหัว เพียงเพราะเราไม่อยาก ‘สนทนาเรื่องยากๆ’ มาเรียนรู้วิธีการจากหนังสือ Difficult Conversation และนำไปปรับใช้ดีกว่า ต่อจากนี้ไม่ว่าบทสนทนาเรื่องใดก็ราบรื่นแน่นอน!
อ้างอิง
หนังสือ Difficult Conversation โดย Douglas Stone, Sheila Heen, Bruce Patton
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รู้จักคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ ผ่านหนังสือ “The Handbook for Highly Sensitive People” >> https://bit.ly/35nwRdP
รู้จักศาสตร์แห่งการจดจำและศิลปะแห่งการลืมกับหนังสือ Remember >> https://bit.ly/3qL0oWc
1
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskills
โฆษณา