2 เม.ย. 2022 เวลา 08:27 • ธุรกิจ
"ศุภชัย เจียรวนนท์" 5 ปี บนเก้าอี้ผู้นำ CP
ขับเคลื่อนองค์กร เข้าสู่ปีที่ 101
ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "ศุภชัย เจียรวนนท์" ในวันที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้ 4 ปี เศษ หลังจากเข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อ 6 ม.ค.2560
CP ภายใต้การบริหารของ "ศุภชัย" กำหนดเป้าหมายชัดเจนในแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการด้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์กรในระดับ LEAD สะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบภายใต้หลัก 10 ประการของ United Nations Global Compact
สัมภาษณ์ "ศุภชัย เจียรวนนท์" ผ่านระบบ True VRoom ห้องประชุมเสมือนจริง
"ศุภชัย" เป็นบุตรคนเล็กของ "ธนินท์ เจียรวนนท์" เริ่มต้นใน CP เมื่อปี 2532 ที่บริษัทสยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) ธุรกิจค้าส่งของ CP จากนั้นหมุนไปทำงานในหลายบริษัทของเครือหรือบริษัทร่วมทุนของ CP เช่น บริษัท วินิไทย จำกัด (มหาชน) ที่ CP ร่วมทุนกับโซลเวย์ (เบลเยียม) ทำธุรกิจเคมีภัณฑ์
แต่จังหวะก้าวสำคัญของ "ศุภชัย" อยู่ที่การเข้ามาร่วมทำงานกับ บริษัทเทเลคอมเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ TA จนสามารถก้าวขึ้นเป็น CEO แทน ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ในปี 2542 จนกระทั่ง TA รีแบรนด์และปรับโครงสร้างเป็น TRUE ซึ่งมีการดึงผู้บริหารมืออาชีพหลายคนเข้ามาร่วมงาน รวมถึง "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่มาเป็น Co CEO ในการบริหาร TA Orange
แน่นอนว่าความสำเร็จของ TRUE ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารงานของ "ศุภชัย" และในวันนี้ TRUE กำลังจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งบริษัทมือถือของไทยผ่านการควบรวมกิจการ DTAC
ในวันที่ผมสัมภาษณ์ "ศุภชัย" ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธกับคำถามหนาหูเรื่องการเข้าซื้อกิจการ DTAC บอกเพียงว่าเป็นคำถามที่มีมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่ประเด็นการพูดคุยจะไปเรื่องอื่น
วันนี้ "ศุภชัย" กำลังพา CP เติบโตในแบบยั่งยืน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์องค์กร CP ดูเป็นผู้ร้ายในสายตาหลายคน โดยเฉพาะประเด็นการผูกขาดธุรกิจ ไม่ว่า CP จะขยับขยายธุรกิจใดจะโดยข้อกล่าวนี้
ล่าสุด คือ การซื้อกิจการ Tesco Lotus จาก Tesco UK ถูกกล่าวหาว่าผูกขาดธุรกิจค้าปลีก เพราะ CP มีทั้งแม็คโคร ที่เป็นห้างค้าส่งขนาดใหญ่ รวมทั้งมีร้านสะดวกซื้อ 7-11 แล้วเมื่อได้ Tesco Lotus เข้ามาทำให้เข้าไปอยู่ในทุกเซ็กเมนต์ของค้าปลีก
แม้แต่การเข้าซื้อกิจการ DTAC จากเทเลนอร์ ก็ถูกกล่าวหาถึงการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย เพราะจะเหลือผู้เล่นรายใหญ่จาก 3 ราย เป็น 2 ราย
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมีการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) การประมูลครั้งนี้ CP ถูกวิจารณ์ถึงความเคี่ยวในการเจรจาต่อรองร่างสัญญากับรัฐ โดยเฉพาะประเด็นทางการเงิน เช่น การจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างของรัฐ
"ศุภชัย" บอกว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมองการทำธุรกิจที่ยั่งยืน คำนี้ฟังดูเข้าใจยาก เพราะมีการกำหนดความมหายมาเป็นแสนรูปแบบ แต่เป็นเทรนด์ของโลก
CP ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนมาแล้วมากกว่า 5 ปี แต่ภาพยังไม่ชัดเจน ดังนั้น CP ต้องมากำหนดเป้าหมายความยั่งยืนให้ตรงกัน ทำให้ทุกคนในองค์กรพูดตรงกันหมด และกำหนดเป็น 1 เป้าหมาย
คำหนึ่งที่ "ศุภชัย" พูดถึง คือ Transparency หรือ ความโปร่งใส ซึ่ง "ศุภชัย" เรียกกระบวนการที่กำลังดำเนินการว่า Transparency ที่มีการตั้งเป้าหมาย ตรวจสอบ ถือเป็นความโปร่งใส เมื่อมีความโปร่งใส ก็มีกลไกตลาด และมีความตระหนักรู้
กลไกตลาดจะเป็นแรงขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลง อย่างในเครือ CP ที่มีซัพพลายเชน พาร์ทเนอร์ ที่ต้องมาร่วมกันตั้งเป้าหมายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการสร้างการรับรู้ และทยอยนำนวัตกรรมเข้าไปในความรู้
จากนั้นมากำหนดเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนในแต่ละด้านให้ชัดเจน
ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ เป้าหมาย Zero Carbon และเป้าหมาย Zero Waste เป็นเป้าหมายที่ซีพีประกาศมา 2 ปี ซึ่ง 2 ส่วน นี้เป็นส่วนสำคัญทำให้ต้องมาโฟกัสก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า จึงตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 จะต้องทำให้ CP เป็นองค์กร Set zero
ความยากของการขับเคลื่อนเรื่องใหม่อยู่ที่ผู้นำ โดยเฉพาะ Mindset ของผู้นำว่าต้องเริ่มคิดถึงเรื่องนี้ และผู้นำจะต้องออกแรงให้มากเพื่อเป็นตัวอย่าง "ศุภชัย" ถึงกับบอกว่า "ส่วนตัวผมเองยังบังคับตัวเองด้วยเลย"
อีกส่วนที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนคือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในประเด็นนี้ CP ต้องมาคำนวณว่า Ecosystem ใช้พลังงานเท่าไหร่แล้วมาวางแผนการลงทุนพลังงานหมุนเวียน
CP วางแผนว่าภายใน 5 ปี จะลงทุนในเรื่องนี้ 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ และพลังงานที่ได้ 50% จะป้อนบริษัทในเครือ CP และอีก 50% จะป้อนลูกค้าภายนอก ส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ CP มองไว้ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน
วิธีการที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มองให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจแบบยั่งยืน คือ Insentive หรือ การสร้างแรงจูงใจ
และที่สำคัญในที่สุดธุรกิจก็จะต้องรับผิดชอบกับต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็นและกระทบต่อสังคม ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
นี่คือเหตุผลที่ "ศุภชัย" อธิบายว่าทำไมภาคธุรกิจถึงต้องให้ความสำคัญของกับพัฒนาที่ยั่งยืน และจะเป็นแนวทางสำคัญของ CP ในการขับเคลื่อนธุรกิจในปีที่ 101 หลังจากธุรกิจดำเนินมาครบ 1 ศตวรรตในปี 2564
โฆษณา