12 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ประเทศใดบ้างในเอเชีย ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มากที่สุด
1
ในช่วงแรกที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราคงได้ยินหลายคนพูดว่าเป็นเรื่องไกลตัวไม่น่าจะส่งผลอะไรกับเราที่อยู่ห่างออกไปตั้งไกล แต่ตอนนี้ทุกคนก็คงจะเห็นแล้วถึงผลกระทบที่เกิดเป็นลูกโซ่ตามๆ กันไปในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร ราคาอาหาร ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับตัวขึ้นจนทำให้เงินเฟ้อพุ่งไปตามๆ กัน
ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปดูว่าประเทศไหนในเอเชีย ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากสงครามนี้ และประเทศไหน ที่อาจจะได้ประโยชน์จากสงครามนี้
📌 สารพัดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน
นอกจากปัญหาราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นทั่วโลกจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เราเคยพูดกันบ่อยๆ ก่อนหน้านี้ ราคาอาหารในประเทศแถบเอเชียได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งก็ตาม
1
ข้อมูลจาก Morgan Stanley พบว่ารัสเซียส่งออกยูเรีย 11% ของทั้งโลก และส่งออกแอมโมเนียมไนเตรตถึง 48% ของปริมาณทั้งโลก ถ้าเอาปริมาณการส่งออกปุ๋ยจากไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ของรัสเซียและยูเครนรวมกัน จะคิดเป็นกว่า 28% ของปริมาณปุ๋ยที่ส่งออกไปทั่วโลก
ประกอบกับรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีกว่า 30% ของโลก และส่งออกข้าวโพดคิดเป็น 20% ของโลก
1
เมื่อเกิดสงคราม การขนส่งส่วนใหญ่ขัดข้องและหยุดชะงักเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร แต่ประเทศแถบเอเชียบางส่วนยังจำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยจากรัสเซีย จึงทำให้ปุ๋ยมีราคาพุ่งขึ้นสูง ในบางแห่งราคาปุ๋ยพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว อีกทั้งยังส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรกรรมจำพวกธัญพืชพุ่งสูงขึ้นไปยิ่งกว่าเนื่องจากความขาดแคลนที่เกิดขึ้นนี้
2
ผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่อีกคือ สินค้าใดๆ ก็ตามที่จำเป็นต้องใช้ธัญพืช ข้าวสาลี และข้าวโพด เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ก็จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น
ดังนั้นสำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้นำเข้าจากรัสเซียหรือยูเครนโดยตรง นี่จึงถือเป็นปัญหาที่ค่อนข้างน่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียใต้ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พึ่งพาปุ๋ยและธัญพืชจากรัสเซียและยูเครนเป็นอย่างมาก ปัญหาในครั้งนี้อาจทำให้เกษตรกรรมหยุดชะงักได้เลยทีเดียว
แต่แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เมื่อมีคนเสียประโยชน์ ก็ย่อมมีคนได้ประโยชน์ เพราะราคาที่สูงขึ้นก็ย่อมหมายความว่าผู้ส่งออกจะขายสินค้าแล้วได้เงินมาขึ้นเช่นกัน
ประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น
  • ผู้ส่งออกถ่านหิน : ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มองโกเลีย
  • ผู้ส่งออกน้ำมันดิบ : มาเลเซีย, บรูไน
  • ผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว : ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, ปาปัวนิวกินี
  • ผู้ผลิตข้าวสาลี : ออสเตรเลีย, อินเดีย
ประเทศที่เปราะบางและเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาสินค้า (สัดส่วนการนำเข้าจากรัสเซีย/ยูเครน ในปี 2020) :
  • ปุ๋ย : อินโดนีเซีย (มากกว่า 15%), เวียดนาม (มากกว่า 10%), ไทย (มากกว่า 10%), มาเลเซีย (มากกว่า 10%), อินเดีย (มากกว่า 6%), บังคลาเทศ (ประมาณ 5%), เมียนมาร์ (ประมาณ 3%), ศรีลังกา (ประมาณ 2%)
  • ธัญพืชจากรัสเซีย : ปากีสถาน (มากกว่า 40%), ศรีลังกา (มากกว่า 30%), บังคลาเทศ (มากกว่า 20%), เวียดนาม (ประมาณ 10%), ไทย (ประมาณ 5%), ฟิลิปปินส์ (น้อยกว่า 5%), อินโดนีเซีย (น้อยกว่า 5%), เมียนมาร์ (น้อยกว่า 5%), มาเลเซีย (น้อยกว่า 5%)
  • ธัญพืชจากยูเครน : ปากีสถาน (ประมาณ 40%), อินโดนีเซีย (มากกว่า 20%), บังคลาเทศ (ประมาณ 20%), ไทย (มากกว่า 10%), เมียนมาร์ (มากกว่า 10%), ศรีลังกา (ประมาณ 10%), เวียดนาม (น้อยกว่า 5%), ฟิลิปปินส์ (ประมาณ 5%), มาเลเซีย (ประมาณ 5%)
ขึ้นชื่อว่าสงคราม ก็มีทั้งคนได้ประโยชน์ และคนที่เสียประโยชน์ มีทั้งฝ่ายแพ้ และก็มีทั้งฝ่ายชนะ แต่ไม่ฝ่ายไหนจะชนะ ผู้ที่แพ้ก็คือประชาชน ที่ต้องแบกรับต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากสงครามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสงครามก็ตาม…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
  • Asia winners and losers in Russia-Ukraine war: commodities, weapons (cnbc.com)
  • A fertilizer shortage, worsened by war in Ukraine, is driving up global food prices and scarcity (cnbc.com)
โฆษณา