14 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • ยานยนต์
ทำไม Norway ถึงเป็นประเทศผู้นำการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV
1
(Norway – The EV Capital of The World)
ในช่วงปี 2010 – 2018 มียอดขายรถยนต์โดยสารทั่วโลกเฉลี่ยสูงถึง 71 ล้านคันต่อปี เกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นแหล่งพลังงานในการขับเคลื่อน แม้ว่าในปี 2020 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เผชิญวิกฤติอย่างหนัก
2
ยอดขายรถยนต์นั่งโดยสารรวม 63.8 ล้านคัน ลดลง 14% จากปี 2019 แต่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) กลับเพิ่มขึ้น โดยในปี 2020 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) กว่า 3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านคันในปี 2019
สวนทางกับยอดขายรถยนต์โดยรวม แม้ว่าสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อรถยนต์ทั่วโลกจะมีเพียง 4.7% แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐหลายประเทศที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และบริษัทรถยนต์มีการออกรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) รุ่นใหม่ออกมามากมาย
1
📌 ปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น คือ
การที่รัฐบาลหลายประเทศมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซมลพิษให้เป็นศูนย์ (Net zero emission) เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน ภาครัฐจึงออกนโยบายเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เรื่อยมา บางประเทศถึงกับวางแผนให้ภายใน 5 – 20 ปี ข้างหน้าจะไม่มีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษจำหน่ายหรือใช้งานในประเทศแล้ว
จากการสำรวจในปี 2020 พบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) ในทวีปยุโรปได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง จากยอดขายที่เติบโตสูงมากถึง 137% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็น 1.4 ล้านคัน ในขณะที่จีนและสหรัฐฯ มีการซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 12% และ 4% ตามลำดับ ทำให้ปัจจุบัน สัดส่วนการถือครองตลาดด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) ของยุโรป จีน และสหรัฐฯเป็น 43%, 41%, และ 10% ตามลำดับ
1
โดยประเทศที่มีความโดดเด่นและประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถยนต์ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) คือ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้รถ BEV ต่อรถยนต์นั่งโดยสารส่วนบุคคลสูงถึง 17.2% นำหน้าทุกประเทศในโลก
📌 อะไรทำให้ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อประชากรมากที่สุดในโลก
ด้วยนโยบายด้านการคมนาคมในการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero emission) ที่กำหนดเป้าหมายของประเทศให้ในปี 2025 รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศทั้งหมดต้องเป็นรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เท่านั้น (ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง) รัฐบาลนอร์เวย์จึงมีการปฏิรูปการใช้รถใช้ถนนในประเทศอย่างจริงจัง
1
เมื่อสิ้นปี 2020 ประเทศนอร์เวย์มีรถ BEV จดทะเบียนสะสมในประเทศมากกว่า 330,000 คัน หรือคิดเป็น 17.2% ของรถยนต์นั่งโดยสารส่วนบุคคลทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่ยอดขายรถ BEV ปี 2020 ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศถึง 54% ความสำเร็จนี้เป็นผลจากนโยบายและสิ่งกระตุ้นทั้งหลายของรัฐบาลนอร์เวย์
3
📌 รัฐบาลนอร์เวย์เริ่มมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 1990
1
1) โดยเริ่มจากการงดเว้นภาษีซื้อและภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสร้างแรงจูงใจในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบการเก็บภาษี ด้วยการกำหนดภาษีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษ (รถยนต์ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้) สูงกว่ารถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ (เช่น HEV และ PHEV) และรถ BEV หรือรถ FCEV
โดยนำปริมาณการปล่อยก๊าซมลพิษและน้ำหนักรถมาใช้ในการคิดราคา รวมถึงงดเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (25%) ให้กับรถ BEV หรือรถ FCEV ทำให้รถยนต์ที่มีน้ำหนักมากและปล่อยก๊าซพิษมีราคาแพง ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า รุ่น Volkswagen e-golf มีราคาขายต่ำกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันรุ่น Volkswagen Golf ประมาณ 2.4% หรือคิดเป็นเงิน 808 ยูโร ทำให้ผู้ซื้อรถหันไปเลือกรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น
1
ทางด้านบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ก็ได้รับการลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นด้าน supply ให้บริษัทนำรถ EV เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น โดยลดหย่อนภาษีนิติบุคคลลง 50% (2000 – 2018) ต่อมาปรับเป็น 40% จนถึงปัจจุบัน
2) ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลนอร์เวย์มีการจัดการสร้างเครือข่ายชาร์จไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลมีโครงการให้เงินทุนในการจัดตั้งสถานีชาร์จเร็วอย่างน้อย 1 แห่งทุก ๆ 50 กม. บนถนนสายหลักทั้งหมดในนอร์เวย์ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งสถานีชาร์จเร็วบนถนนสายหลักทุกสายในนอร์เวย์เรียบร้อยแล้ว
2
ทำให้การเดินทางระยะทางไกลสะดวกสำหรับประชาชน อีกทั้งรัฐบาลยังมีการจัดสรรงบประมาณในปี 2018 ในการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าให้กับสมาคมการเคหะถึง 2.1 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าตามครัวเรือน ทั้งนี้ในปี 2020
1
ประเทศนอร์เวย์มีสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งสิ้นกว่า 400,000 จุดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีถานีชาร์จไฟสาธารณะ 16,000 จุด ซึ่งมีที่ชาร์จประเภทต่างๆและ super charger ของ Tesla ติดตั้งอยู่ด้วย
3) นอกจากนี้ทางรัฐบาลนอร์เวย์ยังให้สิทธิพิเศษกับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
รัฐบาลใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อำนวยความสะดวกและให้ประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้รถ จึงมีมาตรการยกเว้นและลดหย่อนต่าง ๆ มาดึงดูดให้ประชาชนเลือกใช้รถ EV กันมากขึ้น เช่น
  • ไม่เก็บค่าบริการทางด่วน ค่าบริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก และค่าที่จอดรถสาธารณะ สำหรับรถ EV (1997 – 2017) ต่อมาเปลี่ยนมาเก็บในอัตรา 50% ของค่าบริการที่เรียกเก็บกับรถยนต์ใช้น้ำมันทั่วไป,
  • รัฐบาลท้องถิ่นมีการอนุญาตให้รถ EV วิ่งในเลนรถบัสได้ และ
  • ผู้ใช้รถ EV สามารถเดินทางคนเดียวได้ โดยไม่ต้องมีผู้โดยสารไปด้วย เป็นต้น
1
📌 World Wide Fund for Nature (WWF)
ได้ทำการสำรวจเหตุผลในการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชนนอร์เวย์พบว่า 47% ของประชากรมองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีค่าดำเนินการราคาถูกกว่ารถใช้น้ำมัน, 39% ของประชากรเห็นว่าการใช้ทางหลวงฟรีเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า และ 53% ของประชากรบอกว่าอัตราภาษีที่ถูกเป็นเหตุผลหลัก โดยสรุปแล้วจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในการใช้รถยนต์เป็นเหตุผลหลักในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการที่รัฐฯจะสามารถเพิ่มจำนวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องมีนโยบายลดหย่อนและให้สิทธิพิเศษต่างๆเป็นหลัก แต่ก็ต้องมีความพร้อมในสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วยเช่นเดียวกัน
📌 นอกจากประเทศนอร์เวย์แล้ว
ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็กำลังเร่งดำเนินนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ในช่วงปี 2030 – 2050 เช่นเดียวกัน ในประเทศสวีเดนซึ่งมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าต่อรถใช้น้ำมันรองจากนอร์เวย์ก็ดำเนินนโยบายด้านภาษีและโครงสร้างพื้นฐานในแนวทางเดียวกัน ส่วนในประเทศเยอรมนีหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมรถยนต์มีการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลงจาก 19% เหลือ 16% รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่จดทะเบียนในปี 2020 ได้รับการยกเว้นภาษีรถยนต์ 10 ปี และในปี 2021 มีการให้เงินอุดหนุนสูงสุดถึง 9,000 ยูโร แก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า 40,000 ยูโร
1
คาดว่าภายในปี 2030 ทวีปยุโรปจะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าโดยสารส่วนบุคคลทั้งหมด 40 ล้านคัน
ผู้เขียน: ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ : FQ Magazine
โฆษณา