16 เม.ย. 2022 เวลา 02:39 • การศึกษา
เกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Dunning-Kruger Effect
หลังจากรู้สึก down อยู่สักพัก จากการค้นพบในตอนที่แล้ว (https://www.blockdit.com/posts/6259991b611152c5400729bf) ผมก็ได้กลับไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้รู้ว่าผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ Dunning-Kruger Effect เยอะมาก เช่น
2
- งานวิจัยนี้ได้รับรางวัล Ig Nobel (ซึ่งเป็นรางวัลล้อเลียนรางวัล Nobel ให้กับงานวิจัยที่แปลก หรือดูเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียจนบางคนอาจจะคิดว่าไม่ควรเป็นงานวิจัย ซึ่งทำให้คนหัวเราะในตอนแรก แต่ก็ทำให้คนได้คิด) ในปี 2000
- งานวิจัยนี้ถูกอ้างถึงโดยงานวิจัยอื่นถึงมากกว่า 2000 ครั้ง (ดีไม่ดีอาจจะเป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัล Ig Nobel ที่ได้รับการอ้างถึงมากที่สุดก็เป็นได้)
- งานวิจัยถูกคนสังเกตเห็นว่าไม่ได้เจ๋งอย่างที่คนอื่นให้ความสำคัญตั้งแต่ปี 2002 โดย Philip Ackerman (https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S019188690100174X)
- มีงานวิจัยที่มาโต้แย้งงานวิจัยนี้เพิ่มในปี 2016 และ 2017 (https://digitalcommons.usf.edu/numeracy/vol9/iss1/art4/ และ https://digitalcommons.usf.edu/numeracy/vol10/iss1/art4/) ซึ่งบอกกลาย ๆ ว่า Dunning-Kruger โดน Dunning-Kruger Effect เล่นงาน เพราะเขาทั้งสองยังอ่อนด้อยในด้าน numeracy หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลข
- ในงานประกาศรางวัล Ig Nobel ในปี 2017 ก็ได้มีการแสดง mini opera ที่ชื่อว่า The Incompetence Opera ในเพลงที่มีชื่อว่า The Dunning-Kruger Song ซึ่งตลกมาก (https://youtu.be/BdnH19KsVVc)
- คำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่อธิบายถึงจุดผิดพลาดของงานวิจัยนี้ที่ผมเห็นแล้วชอบ ก็คือ ลองจินตนาการคนที่ทำข้อสอบ แล้วผิดทุกข้อ คือได้คะแนน 0 เขาไม่สามารถเดาว่าตัวเองได้คะแนนติดลบได้ เขาสามารถเริ่มเดาได้ตั้งแต่ 0 ถึง 100 คะแนนเท่านั้น ดังนั้นคนที่ได้คะแนนน้อย จึงมีแนวโน้มที่จะประมาณตัวเองสูงเกินไป โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ในทางกลับกันคนที่ได้คะแนนเต็มร้อย ก็เดาว่าตัวเองได้คะแนนระหว่าง 0 ถึง 100 เช่นกัน จึงไม่สามารถประมาณความสามารถของตัวเองได้สูงกว่าความเป็นจริงเช่นกัน จึงมีแนวโน้มที่จะประเมินตัวเองต่ำเกินไปอยู่แล้ว จึงทำให้งานวิจัยนี้มีจุดบกพร่องตั้งแต่แรก
- มีเว็บบางเว็บ (https://medium.com/@littlebrown/i-wore-the-juice-the-dunning-kruger-effect-f8ac3299eb1 ) ระบุว่า Dunning และ Kruger อาจจะได้แรงบันดาลใจจากการที่นาย McArthur Wheeler ที่ปล้นธนาคารใน Pittsburgh 2 ธนาคาร โดยไม่สวมหน้ากาก (ถ้าเป็นสมัยนี้ คงโดนจับข้อหาไม่สวมหน้ากากในที่สาธารณะ) ตอนกลางวันแสก ๆ ทำให้กล้องวงจรปิดสามารถจับหน้าตาของเขาได้ชัดเจน พอตำรวจจับเขาได้ เขาก็พูดอะไรประหลาดออกมาว่า เขาใส่น้ำผลไม้อยู่ (But I wore the juice)
1
ภายหลังเขาให้การกับตำรวจว่า เขารู้ว่า น้ำมะนาว (lemon juice) สามารถใช้เป็นหมึกที่มองไม่เห็นได้ และเชื่อว่า ถ้าเอาน้ำมะนาวทาหน้าตัวเอง จะทำให้คนอื่นมองไม่เห็นหน้าเขา เขาได้ทำการทดลอง โดยเอาน้ำมะนาวบีบใส่หน้าตัวเอง ถึงแม้จะแสบหน้าแสบตาก็ตาม แล้วก็ลองถ่ายรูปโดยใช้กล้องโพราลอยด์ และก็พบว่า กล้องไม่สามารถจับภาพหน้าของเขาได้ (อาจจะแปลว่า ทักษะในการถ่ายรูป หรือใช้กล้องของเขาก็ห่วยพอกัน)
1
ในที่สุด เขาจึงโดนจำคุก และได้รับรางวัลเป็นโจรโคตรโง่ ใน The World Almanac ปี 1996 นั่นเอง
หากเรื่องนี้เป็นจริง มันน่าจะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ของ ความไม่รู้ ที่เริ่มต้นจาก McArthur Wheeler วันนั้นมาเรื่อย ๆ จนถึงผมในวันนี้ครับ
โฆษณา