18 เม.ย. 2022 เวลา 05:32 • สุขภาพ
👩🏻 ทราบกันหรือไม่ว่า การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับทรวงอกก็มีความเชื่อมโยงกับอาการปวดของหลัง ปวดคอได้ จะมีความเกี่ยวข้องอย่างไรนั้น เราลองมาดูกัน 🙂
ปกติแล้วการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับทรวงอก (Thoracic spine) จะเกิดการเคลื่อนไหวของกระดูกซี่โครงร่วมด้วย และจากการที่กระดูกซี่โครงเชื่อมต่อกับกระดูกสันอก (Sternum) ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับอกนั้น เป็นการเคลื่อนไหวร่วมกันทั้งหมดของทรวงอก
💁🏻‍♀️ ดังนั้น หากมีการจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกซี่โครง ก็จะส่งผลให้มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับอกด้วย เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน และเกิดการเคลื่อนไหวพร้อมกันขณะทำการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ รวมทั้งในการหายใจ ซึ่งในทางกลับกันหากมีความผิดปกติ หรือจำกัดการเคลื่อนไหวที่กระดูกสันหลังระดับอกก็จะส่งผลให้มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกซี่โครงและทรวงอกขณะหายใจเช่นกัน ☝🏻
🤔 ซึ่งสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับทรวงอกทีน้อยลง (Thoracic Hypomobility) คือมาจาก
🔺1. ข้อต่อ (Joint), เนื้อเยื่อรอบๆหนาตัว หรือเกิดพังผืด (Capsular fibrosis) และความผิดปกติของส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังบริเวณด้านหลังของตัวกระดูกสันหลัง (Facet Joint)
🔺2. กล้ามเนื้อ Muscle (Dysfunction syndrome) การทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุ หรือที่พบมากในปัจจุบันคือ การนั่งผิดท่าทางเป็นเวลานาน (Prolonged poor posture) เกิดการหดสั้นของกล้ามเนื้อ (Adaptive shortening) รวมถึงเกิดการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกัน (Muscle imbalance)
🤔อะไรคือ Poor posture 💁🏻‍♂️
ตามนิยามของ The Posture Committee of American Academy of Orthopedic Surgeons ในปี 1947 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า
🔹Posture คือ ความสัมพันธ์ของร่างกายในแต่ละส่วน
🔹Good posture คือ จุดที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆอยู่ในจุดสมดุล โดยเป็นการรักษาและคงไว้ไม่ให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บหรือโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป ขณะเกิดการทำงานหรือขณะพัก
💭😮 Poor posture คือ ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีของร่างกายที่ก่อให้เกิดแรงเครียด เพื่อรักษาให้โครงสร้างนั้นอยู่ในสมดุลของร่างกายภายในบริเวณของ Base of support
👉🏻 สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิด Poor posture
🔸ปัจจัยภายใน ได้แก่ ลักษณะนิสัยที่แย่ อารมณ์และความรู้สึก อายุ โรค และอื่นๆ
🔸ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ลักษณะสถานที่ทำงาน และสภาพแวดล้อมอื่นๆ
💁🏻‍♀️ จากที่กล่าวมา เรามาดูกันว่า กลไกที่มาของการเกิด poor posture นั้นว่าเกิดจากอะไร โดยจะยกตัวอย่างรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือ
🧍🏻‍♀️🚶🏻 เมื่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งมีความผิดปกติ จะส่งผลต่อร่างกายส่วนอื่นเป็นเหมือนวงจรต่อเนื่องกันไป โดยไม่ได้เกิดปัญหามาจากกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง หรือโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งในร่างกาย โดยตัวอย่าง Cog wheel model (รูปซ้าย) เมื่อศีรษะยื่นไปข้างหน้าจะเกิด Kyphosis ของ thoracic spine ส่งผลให้เกิด posterior pelvic tilting ตามมา สาเหตุส่วนใหญ่ของท่าทางที่ไม่ดีมักเกิดมาจากการทรงท่าที่ผิดปกติเป็นเวลานาน โดยท่าที่มักเกิดเป็นส่วนใหญ่คือรูปท่านั่งซ้าย ทำให้น้ำหนักของร่างกายตกลงไปที่โครงสร้างที่ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เมื่อโครงสร้างร่างกายเปลี่ยนแปลงไปน้ำหนักของร่างกายตกลงไปที่โครงสร้างก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อ จุดศูนย์กลางมวล (Center of Mass) และจุดศูนย์ถ่วง(Center of Gravity) ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
Image credit: healthandbalance.com.au
🧐 ซึ่งผลส่งต่อการทำงานของกล้ามเนื้อด้านหลังทั้งบริเวณคอและหลัง ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดหลัง ของชาวออฟฟิตและนักเรียนนักศึกษาได้ เราจึงควรพยายามนั่งในท่าทางที่ถูกต้อง ปรับรางกายให้อยู่ในจุดที่สมดุล ก็จะช่วยให้พวกเราลดปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการปวดของเราได้ 😊💁🏻‍♀️
อ้างอิง
1. Posture and its relationship to orthopaedic disabilities. A report of the Posture Committee of the American Academy of Orthopedic Surgeons 1947
2. Anterior thoracic posture increases thoracolumbar disc loading, Deed E. Harrison, Eur Spine J (2005) 14 : 234–242
3. Spinal facet joint biomechanics and mechanotransduction in normal, injury and degenerative condition, Nicolas V. Jaumard, Journal of Biomechanical Engineering, July 2011, vol.133
4. Productivity Pains: New Survey Finds Majority of American Office Workers Experience Physical Pain at Work, American Osteopathic Association (AOA), 2014
โฆษณา