18 เม.ย. 2022 เวลา 14:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเยนอ่อนค่าหนักในรอบ 20 ปี
อาจสูญเสียการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงวิกฤต
เมื่อเราพูดถึง “สินทรัพย์ปลอดภัย” เราจะนึกถึงทองคำที่ราคาพุ่งต่อเนื่องเมื่อโลกต้องเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
1
เช่น ในช่วงนี้ที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งวลาดีเมียร์ ปูติน ได้ประกาศสงครามในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้ราคาทองคำในวันนั้นทำจุดสูงสุดที่ 1,963 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ในวันที่ 8 มีนาคม หลังจากบุกยูเครนได้ 2 สัปดาห์ ราคาทองคำทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,070 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ชี้ให้เห็นว่า ในยามที่โลกไม่ปกติ นักลงทุนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยการถือสินทรัพย์ปลอดภัย
แต่ทว่า สินทรัพย์ปลอดภัยไม่ได้มีเพียงแค่ทองคำเพียงอย่างเดียว ในอดีตที่ผ่านมายังมีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และบางสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นเดียวกัน เช่น ฟรังก์สวิส และเยนญี่ปุ่น
1
โดยเฉพาะเยนญี่ปุ่นที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในตลาดสกุลเงินหรือฟอเร็กซ์ ซึ่งหลายคนคงมีคำถามว่าทำไมเงินเยนถึงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัย ?
คำตอบก็คือ ญี่ปุ่นมีเงินลงทุนในต่างประเทศสูงกว่าที่ชาวต่างชาติมาลงทุนในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศสูงที่สุดในโลก เพราะญี่ปุ่นคือเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก และมีเงินสดสำรองมากที่สุด
2
แต่ทำไมสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังดุเดือด แทนที่เงินเยนจะแข็งค่า แต่กลับอ่อนค่าลง มันมีสาเหตุมาจากอะไร ?
24 กุมภาพันธ์ 2565 วันแรกของการบุกยูเครนอย่างเป็นทางการจากกองทัพรัสเซีย ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงจาก 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน มาเป็น 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน
ซึ่งผิดกับเหตุการณ์สำคัญเมื่อปี 2551 ที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติการเงินของสหรัฐที่ลามเป็นโดมิโนไปทั่วโลก ค่าเงินเยนแข็งค่าจากระดับ 106 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน มาเป็น 88 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน
และเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในเดือนมีนาคม 2554 เงินเยนแข็งค่าจาก 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน มาเป็น 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน
ชี้ให้เห็นว่า เงินเยนเป็นทรัพย์สินปลอดภัยในช่วงเวลาที่โลกเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ซึ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่เห็นวี่แววการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในสกุลเงินเยนให้เห็น
1
🔵 ทำไมเยนถึงอ่อนค่าแทนที่จะแข็งค่า ?
1
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า ในเดือนมกราคม 2565 ญี่ปุ่นขาดดุลสะพัดมากกว่า 1.19 ล้านล้านเยน กล่าวคือรายจ่ายของประเทศญี่ปุ่นมากกว่ารายได้ 1.19 ล้านล้านเยน หรือถ้าคิดเป็นสากลจะอยู่ที่ประมาณ 1.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
ท่ามกลางการขาดดุลการค้ามหาศาลเช่นนี้ บีบให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายความว่า การส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นจะลดน้อยลง และมีการถือเงินเยนน้อยลง เพื่อแปลงรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศที่แข็งค่ากว่า
สกุลเงินเยน เป็นที่นิยมในการกู้ยืมเพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และยอดฮิตมากๆ ก่อนช่วงปี 2551 พอเกิดเหตุการณ์สำคัญดังที่กล่าวไปข้างต้น ยิ่งทำให้มีการกู้ยืมเงินเยนมากขึ้น ญี่ปุ่นจึงได้กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก แต่ในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา นโยบายธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้ 0 ทำให้การกู้ยืมดอลลาร์เป็นที่สนใจมากกว่าเยน
1
ในอดีต ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการที่เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะมันช่วยให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศอย่างยานยนต์ที่มีการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกมีรายได้มากขึ้น เมื่อเปลี่ยนจากดอลลาร์เป็นเยน
5
แต่ในเวลานี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาก การที่เยนอ่อนค่าลงยิ่งส่งผลเสียซ้ำเติม เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสินค้าเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือค่าครองชีพเพิ่ม กระทบเป็นลูกโซ่ต่อการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากภาวะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายใดๆ จะมีก็เพียงแต่รัฐบาลที่ออกมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งการออกมาตรการของรัฐบาลบางส่วนก็อาจเป็นการกดดันบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเช่นกัน
2
สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น มันจึงอาจเป็นผลเสียที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่า ก็มาจากการเดินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่สวนทางกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐมีการทำนโยบายดึงสภาพคล่องทางการเงินกลับโดยการขึ้นดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังส่งสัญญาณออกมาต่อเนื่องว่าจะปล่อยสภาพคล่องและดูแลดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป
ทว่าการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเลือกใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป เป็นเพราะวิกฤตโควิดทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าไหร่นัก และในตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้สูงถึง 236% ของปริมาณ GDP หากมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงสภาพคล่องกลับเหมือนอย่างสหรัฐ ก็จะกระทบการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อการคลังของรัฐบาล
3
อย่างไรก็ดี ภาพรวมของสกุลเงินเยนยังคงเป็นที่จับตามองต่อไป ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกต่างมองว่าเยนอาจอ่อนค่าได้มากกว่านี้ไปสู่ระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อเยน หากเกิดกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น มันคือสัญญาณอันตราย แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นและรัฐบาลจะมีท่าทีในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างไร ในขณะที่คำว่า Safe Haven หรือสินทรัพย์ปลอดภัยยังคงเป็นศักดิ์ศรีที่ค้ำคอสกุลเงินเยนญี่ปุ่นอยู่
1
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา