25 พ.ค. 2022 เวลา 13:32 • การศึกษา
ฉลาดคิด จิตจึงหลุดพ้น
2
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
สิ่งทั้งมวลล้วนมาจากความนึกคิดในจิตใจ ทำให้เกิดจินตภาพที่กว้างไกลไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทั้งปวง เมื่อใส่ความพยายามเข้าไปในความปรารถนาอันแรงกล้าแล้ว ความสำเร็จก็จะพลันเป็นจริงขึ้นมาได้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม จะมีแรงผลักดันอยู่ภายใน และหลั่งไหลออกมาเป็นถ้อยคำที่ดี ก่อให้เกิดการกระทำที่ดีตามมา ผลก็คือจะบันดาลความสุขและความสำเร็จสมปรารถนาให้เกิดขึ้น
ความคิดที่แตกต่างกันก็ให้ผลที่แตกต่างกัน หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมคนเราถึงแตกต่างกันในเรื่องฐานะความเป็นอยู่ รูปร่างหน้าตาและสติปัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตมาจากความคิด ขึ้นอยู่กับว่ามีความคิดที่ดีหรือไม่ดี ถ้าคิดดี แล้วให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาจะได้รับผลดี คือ ความร่ำรวย ความสวย ความหล่อและความเฉลียวฉลาด
แต่ถ้าคิดไม่ดี ไปทำตรงกันข้าม ผลจะเกิดขึ้นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลาย ทั้งมวลจะดีหรือร้าย ขึ้นอยู่กับใจเป็นสำคัญ
มีวาระแห่งพุทธภาษิตที่มาใน สจิตตสูตร ว่า….
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่าเราทั้งหลาย จักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล”
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกเป็นผู้ฉลาดในจิตของตน ถ้าหากว่ายังไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น อย่างน้อยก็ให้รู้ใจของตัว เพื่อจะได้รู้เท่าทันกิเลสอาสวะ ที่มันคอยจะสอดแทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เราเผลอเป็นไม่ได้
ถ้าใจเราว่างจากกุศล มีช่องว่าง เดี๋ยวกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสามอย่าง มันจะเข้ามา แล้วควบคุมใจ บังคับใจเราให้คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี ก็จะมีวิบากที่เป็นบาปอกุศลเกิดขึ้นตามมา
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราสำรวมระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น พยายามนึกคิด ให้ใจเป็นบุญเป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา ในใจให้อัดแน่นเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี ใจใสๆ ใจสว่างไม่หมองคล้ำ บาปหรือกิเลสแม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี เพราะมันไม่ได้โอกาสเข้ามา มันทำอะไรเราไม่ได้ เนื่องจากเรามีสติรู้เท่าทันมัน เรามีสติ มีหิริ โอตตัปปะ เพียรละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส บาปอกุศลอะไร ก็ทำอันตรายเราไม่ได้
เหมือนดังเรื่องของพระเถระรูปหนึ่ง ที่ท่านสำรวมระวังจิตไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น แม้ด้วยความคิด คำพูดและการกระทำ ท่านฉลาดในการคิด รู้จักคิด เมื่อมองเห็นสิ่งที่เย้ายวนแล้ว กลับหวนระลึกถึงธรรมสังเวชได้ และได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เรื่องมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้มีงานมหรสพเกิดขึ้นในเมือง ชาวเมืองทั้งหลายต่างแต่งตัวออกจากบ้าน ไปร่วมสนุกสนานรื่นเริงอย่างคับคั่ง ในระหว่างทางมีหญิงรูปงามและชายรูปหล่อ เดินทางมาด้วยกัน ขณะนั้นเป็นจังหวะเดียวกันกับที่พระเถระจะต้องอาศัยเส้นทางนั้น เดินทางไปประกอบศาสนกิจ จึงโคจรมาพบกันโดยบังเอิญ
1
หญิงงามเมื่อเห็นพระเถระ ขณะที่กำลังพูดคุยกับฝ่ายชาย ก็ได้หันมาส่งยิ้มให้ ยิ้มกว้างจนกระทั่งเห็นฟันขาวที่สวยงามเรียงชิดติดกันเป็นระเบียบ พระเถระเห็นอาการนั้นก็ตั้งสติสำรวมใจ ไม่ให้กิเลสที่น่าใคร่น่าพอใจใด ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปสวย ๆ หรือความยิ้มแย้มที่น่าพอใจ
แม้ตอนนั้นพระเถระจะเป็นเพียงแค่ภิกษุธรรมดา ยังไม่บรรลุธรรมอะไรก็ตาม แต่ว่าท่านเป็นผู้ที่อยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดาที่ว่า หากยังไม่ฉลาดในจิตของผู้อื่น ก็ให้ฉลาดในจิตของตน อย่าให้เสียท่ากิเลส
ท่านจึงรวบรวมจิตให้กลับเข้ามายังฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือ ที่ศูนย์กลางกายของท่าน และพิจารณาความงามนั้นให้แปรผันไปเป็นความไม่งาม โดยเอากระดูกฟันของหญิงนั้น เป็นนิมิต คิดว่าสักวันหนึ่ง ฟันซึ่งมีความขาวเงางามนี้ จะต้องแปรเปลี่ยนไป เสื่อมคลอน และหลุดร่วงออกจากปาก ท่านพิจารณาถึงความไม่เที่ยงอย่างนี้ จิตพลันสงบจากความยินดี จากความรู้สึกที่นึกชอบใจ สภาวะใจในตอนนั้นกลับรู้สึกเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้าย
เมื่อใจเป็นอุเบกขา ใจหยุดนิ่งละเอียดถูกส่วนไปตามลำดับ กระทั่งได้บรรลุฌานต่าง ๆ ไปตามลำดับขั้น ความสว่างความบริสุทธิ์ภายใน อันเกิดจากใจที่เป็นหนึ่ง รวมกับบุญเก่าที่ท่านเคยสั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วนตามมาทัน ช่วยสนับสนุนให้ท่านหยุดนิ่งได้แนบแน่นเข้าไปอีก มีแรงขับเคลื่อนเร็วแรงเข้าสู่ภายในจิต ไปสู่สภาวธรรมที่ละเอียดยิ่งๆขึ้น
จากโลกียฌาน คือ ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็เลื่อนชั้นเข้าสู่โลกุตรฌาน เข้าถึงกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี และกายธรรมพระอนาคามี กระทั่งได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมพระอนาคามี เป็นพระอนาคามีบุคคล
ถึงตอนนี้ ความคิดความกำหนัดยินดีในเพศตรงข้ามก็หมดไป จะมองเห็นทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มองด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ ความคิดเรื่องกามก็หมดไป
ท่านมองดูหญิงงามนั้น ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างจากตอนแรก คือ มองว่าเป็นเพียงเพื่อนร่วมทุกข์ หรือหมู่ญาติคนหนึ่ง ไม่ได้มองว่าสวยหรือไม่สวย เพราะพระอนาคามี ท่านละกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำห้าอย่างได้แล้ว คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ
พอท่านได้บรรลุพระอนาคามีแล้ว ท่านยิ่งมีกำลังใจอย่างเปี่ยมล้น ที่จะทำความเพียรให้บรรลุผลอันสูงสุดต่อไป คือ พระอรหัตผล วันหนึ่ง ขณะที่ท่านได้ฟังธรรมจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ท่านปฏิบัติตามด้วยความเคารพ ได้ปล่อยใจไปตามกระแสเสียงแห่งพระธรรมเทศนา
ใจของท่านที่ละเอียดอยู่แล้ว และพร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงขึ้นไป โดยได้รับคำแนะนำจากพระสารีบุตรซึ่งถือว่า เป็นยอดกัลยาณมิตรชั้นเยี่ยม รองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งง่ายต่อการบรรลุธรรม ท่านตั้งใจปฏิบัติตาม โดยไม่ลังเลสงสัย
ในที่สุดจิตหลุดพ้นจากสังโยชน์เบื้องสูงห้าอย่างได้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ และอวิชชา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่ออวิชชาถูกขจัดให้หมดสิ้นไปด้วยอรหัตมรรค อาโลโก คือ แสงสว่างอันไม่มีประมาณแห่งวิชชาก็บังเกิดขึ้นให้บรรลุอรหัตผล วิชชาสาม วิชชาแปด วิโมกข์แปด อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณสี่ จรณะสิบห้า บังเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ได้สำเร็จกรณียกิจในทางพระพุทธศาสนา เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์
จะเห็นได้ว่า ความเป็นผู้ฉลาดในจิตของตนเป็นเรื่องที่สำคัญ ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ ใครมีสิ่งนี้ถือว่ามีบุญมาก ๆ มีภูมิรู้ภูมิธรรมที่สั่งสมมาอย่างดีข้ามภพข้ามชาติ ฉะนั้นผู้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นชาวพุทธ
หรือแม้กระทั่งชาวโลกทั้งหลาย จะต้องฉลาดในศาสตร์ของชีวิต เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยอย่างแท้จริงของตัวเรา เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องศึกษา พุทธศาสตร์ จะได้มีศิลปะในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ ตามพุทธวิธีที่สามารถนำพาเราไปสู่อายตนนิพพานได้
เราทุกคนโชคดีที่อยู่ใต้ร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา จึงได้มารู้เรื่องบุญเรื่องบาป รู้ว่าอะไรเป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ บางทีเราอาจจะคุ้นกับสิ่งเหล่านี้จนเห็นว่าเป็นสิ่งธรรมดา อันที่จริง สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต เพราะมีผลต่อชีวิตของเราตั้งแต่ปัจจุบันนี้ไปจนถึงอายตนนิพพาน ฉะนั้นให้ตั้งใจละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส จะได้มีสุคติโลกสวรรค์และนิพพานเป็นที่ไปกัน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๕๒๕ – ๕๓๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
พระลกุณฏกภัททิยเถระ เล่ม ๗๒ หน้า ๓๒๑
1
โฆษณา