22 เม.ย. 2022 เวลา 10:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การออกแบบ Data Center ที่สมบูรณ์ ควรมีการออกแบบระบบควบคุมอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพ เพราะนับว่าเป็นส่วนของโครงสร้างที่สำคัญอย่างมาก นอกเหนือไปจากระบบไฟฟ้าและระบบโครงข่าย
1
เนื่องจากใน Data Center ถือว่าเป็นศูนย์รวมของข้อมูล ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภายนอกอยู่ตลอดเวลา และมีปริมาณ Traffic รวมมหาศาล เนื่องจากเป็นแหล่งที่ตั้งของเครื่อง Server เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเครื่อง Server เหล่านี้ โดยปกติจะถูกเปิดไว้ตลอดเวลา เพื่อทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จึงทำให้เครื่อง Server ทำงานหนัก และมีปริมาณความร้อนออกจากระบบเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นหากระบบควบคุมอุณหภูมิ ไม่มีประสิทธิภาพที่จะระบายความร้อนออกจากระบบ และใส่ลมเย็นเข้าสู่ระบบได้อย่างเพียงพอ จะทำให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นที่ตัวเครื่อง Server ทำให้อายุการใช้งาน Server สั้นลง และทำให้เกิดการล่มของระบบได้
โดยทั่วไปอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใน Data Center จะสร้างความร้อนระหว่างการทำงานเป็นอย่างมาก รวมทั้งไวต่อความร้อน ความชื้นและฝุ่น
ดังนั้นการดูแลรักษาอุณหภูมิและความชื้นภายใน Data Center ให้คงที่ จึงมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของระบบสารสนเทศ เพราะหากระบบเกิดการล้มเหลว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้
โดยระบบการควบคุมเครื่องปรับอากาศที่มีความแม่นยำ จะนิยมใช้ประเภท Precision Air Conditioning (PAC) โดยระบบนี้จะเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการกรองอนุภาคต่างๆ ในอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบการทำงานระบบได้จากระยะไกล และตั้งการแจ้งเตือนหากระบบเกิดมีปัญหาภายใต้เงื่อนไขที่เราได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งการออกแบบระบบปรับอากาศโดยทั่วไป จะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่เป็นหลัก
เราสามารถแบ่งระบบปรับอากาศที่ใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ ออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
  • 1.
    ระบบปรับอากาศแบบขยายตัวทางตรง (Direct Expansion หรือ DX)
  • 2.
    ระบบปรับอากาศแบบใช้น้ำเย็น (Chiller)
  • ระบบปรับอากาศแบบขยายตัวทางตรง (Direct Expansion หรือ DX)
การขยายตัวในที่นี้หมายถึง “สารทำความเย็น” ระบบนี้เป็นระบบปรับอากาศแบบดั้งเดิมที่นิยมใช้กันทั่วไป เนื่องจากราคาถูก ติดตั้งและดูแลรักษาง่าย
ในส่วนของการทำความเย็นจะใช้น้ำยาทำความเย็นที่หมุนเวียนในระบบเป็นสื่อในการดูดความร้อนจากในห้องคอมพิวเตอร์ผ่านคอยล์เย็น (Evaporator) แล้วนำความร้อนเหล่านั้นออกไประบายทิ้งภายนอกห้องคอมพิวเตอร์ผ่านคอยล์ร้อน (Condenser)
โดยมีคอมเพรสเซอร์ (Compressor) เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนน้ำยาทำความเย็นให้ไหลวนไปในระบบการทำความเย็น (Refrigeration Cycle)
แต่ระบบนี้มีข้อจำกัดที่ระยะห่างในการติดตั้งระหว่างคอยล์เย็น (Evaporator) และคอยล์ร้อน (Condenser) ซึ่งจะติดตั้งห่างกันมากเกินไปไม่ได้
เพราะจะส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนน้ำยาในระบบทำงานหนักและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง
  • ระบบปรับอากาศแบบใช้น้ำเย็น (Chiller)
ระบบทำความเย็นแบบใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหรืออาคารขนาดใหญ่ ในการทำงานของระบบชิลเลอร์นั้นจะใช้น้ำเป็นสื่อกลางในการดูดความร้อนภายในห้องคอมพิวเตอร์ผ่านคอยล์เย็น (Evaporator)
แล้วนำความร้อนเหล่านั้นออกไปถ่ายเทผ่านเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller Plant) ที่ตั้งอยู่ภายนอกห้องคอมพิวเตอร์ จากนั้นความร้อนที่ถ่ายเทออกมาจากน้ำจะถูกส่งต่อไปยังหอระบายความร้อน (Cooling Plant) เพื่อระบายทิ้งอีกครั้ง
จุดเด่นของระบบชิลเลอร์คือ สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำและคงที่ ทำความเย็นได้อย่างรวดเร็ว และลดข้อจำกัดการติดตั้ง สามารถวางคอยล์เย็น (Evaporator) และคอยล์ร้อน (Condenser) ห่างกันได้
เนื่องจากใช้น้ำเป็นสื่อในการทำความเย็น ระยะทางจึงขึ้นอยู่กับขนาดปั้มน้ำเป็นหลัก แต่ข้อจำกัดของระบบชิลเลอร์คือราคาสูง ใช้พื้นที่ในการติดตั้งมาก และดูแลรักษาระบบยากกว่า
สำหรับเรื่องของอุณหภูมิ ห้อง Server เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก เพราะหากผิดพลาดขึ้นมาก็จะสร้างความเสียหายให้กับ Data Center ทั้งหมดได้เลยทีเดียว
ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีมาตรฐานสากลเป็นตัวกำหนดอยู่ว่าควรจะกำหนดอุณหภูมิอยู่ที่เท่าไหร่ และควรจะต้องติดตั้งอะไรแบบไหนบ้าง
ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการ Data Center ควรจะศึกษาทำความเข้าใจเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อการคำนวณงบประมาณและการออกแบบ Data Center ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
โฆษณา