23 เม.ย. 2022 เวลา 06:59 • ปรัชญา
เสือหลังพุ่มไม้ พระเจ้า และโลกหน้า: ทำไมคนเรามักเชื่อเรื่องลวงหลอก?
สมมติว่า เราอาศัยอยู่ในป่าและกำลังนั่งปลดทุกข์อยู่ใกล้ๆ พุ่มไม้หนึ่ง. ทันใดนั้นเอง, เราได้ยินเสียงเหมือนมีอะไรเคลื่อนไหวอยู่หลังพุ่มไม้. เราจ้องมองพุ่มไม้นั้นอย่างระแวดระวัง, ในใจนึกถึงความเป็นไปได้สองประการในการอธิบายว่าพุ่มไม้นั้นสั่นไหวได้อย่างไร:
หนึ่ง, ลมพัด; และสอง, มีสัตว์แอบอยู่หลังพุ่มไม้นั้น, ซึ่งอาจเป็นเสือหรือสัตว์ร้ายที่อาจจะมากินเรา.
การเชื่อแบบไหนเป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดของเรามากกว่า? สมองของเราควรตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร?
2
เมื่อพูดถึงสมอง, โดยพื้นฐานแล้ว, หน้าที่ของมันคือการทำให้ร่างกายที่มันควบคุมอยู่นั้นสามารถอยู่รอดได้. และหนึ่งในภารกิจแห่งการอยู่รอดของสมองคือการค้นหาแบบแผนของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ. สีสันฉูดฉาดบนของสัตว์บางชนิดหมายถึงพิษ, สีเหลืองของกล้วยหมายถึงกล้วยที่กินได้, เมฆแบบนี้หมายถึงฝนกำลังจะตก เป็นต้น. การเข้าใจแบบแผนต่างๆ ในธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของเรา.
2
เมื่อมองเห็นแบบแผนต่างๆ, สมองก็บันทึกและสร้างเครือข่ายเซลล์ประสาทที่เชื่อมโยงกันเกี่ยวกับแบบแผนนั้นๆ ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม เช่น การเชื่อมโยงสีสันฉูดฉาดเข้ากับความเป็นพิษอันนำไปสู่พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้สิ่งๆ นั้น. แต่หลายต่อหลายครั้ง, สมองมองเห็นแบบแผนซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีแบบแผน, สร้างความเชื่อมโยงที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา.
1
ทว่า, สิ่งนี้เองกลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้บรรพบุรุษของพวกเราในอดีตได้ดี. อย่างไร?
ย้อนกลับที่คำถามข้างต้น, การเชื่อแบบไหนเป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดของเรามากกว่า?
การเห็นพุ่มไม้สั่นไหวแล้วเชื่อว่ามีเสือหรือศัตรูแอบอยู่, ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่มี, (Type I Error – การยอมรับสิ่งที่ไม่เป็นจริง) เป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดมากกว่าการเชื่อว่าพุ่มไม้สั่นไหวเพราะลม, แต่จริงๆ แล้วมีเสือแอบอยู่ (Type II Error - การปฏิเสธสิ่งที่เป็นจริง). ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภยันตราย, เช่นในป่ารกหรือทุ่งหญ้า, การเชื่อแบบแรก (แม้ว่าจะไม่จริง) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอะไรเลย, แต่การเชื่อแบบที่สองจะทำให้เรากลายเป็นอาหารของเสือได้.
2
ตัวอย่าง Type I Error อื่นๆ ก็เช่น เห็นงูเลื้อยผ่านก็คิดไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นงูพิษหรือเห็นสัตว์หน้าตาประหลาดก็คิดไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นอันตรายกับเราแน่ๆ. มันเป็นกลไกตอบสนองของสมองที่มีประโยชน์ในแง่ของการอยู่รอด.
กลไกการสร้างความเชื่อแบบนี้เองที่นำไปสู่การเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ. นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเชื่อว่า พระเจ้า, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อทางศาสนาต่างๆ เป็นผลพวงมาจากการพยายามหาแบบแผนในธรรมชาติที่ผิดพลาด. การเชื่อในพระเจ้า, โลกหลังความตาย, บุญ-บาปอาจไม่ต่างอะไรจากการเชื่อไปก่อนว่ามีเสือแอบอยู่หลังพุ่มไม้: มันเป็น Type I Error ในระดับที่ใหญ่ขึ้น. และกลไกนี้ยังคงทำงานอย่างแข็งขันอยู่ในมนุษย์ปัจจุบันอย่างพวกเรา.
2
นี่ช่วยอธิบายว่า เหตุใดคนเราจึงยังคงเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ. ในอดีตการเชื่อไว้ก่อนว่าอะไรบางอย่างเป็นจริงแล้วมาค้นพบภายหลังว่าไม่จริงมีราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่าการไม่เชื่อว่าอะไรบางอย่างเป็นจริงแล้วพบว่ากลับเป็นจริง. แต่มันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปในทุกวันนี้, เพราะเสือหลังพุ่มไม้ในโลกยุคปัจจุบันได้แปลงร่างเปลี่ยนรูปไปอย่างมากมายหลายหลาก, ซึ่งหลายครั้งสร้างความเสียหายให้แก่ผู้เชื่อเสียเอง.
3
โฆษณา