27 พ.ค. 2022 เวลา 08:26 • หนังสือ
ชีวิตฟรีแลนซ์นั้นก็เหมือนจะมีอิสระ
แต่ถ้าหากใช้อิสระอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้วล่ะก็
'อิสระ' ก็อาจจะกลายเป็น 'กับดัก'
ที่จะทำลายชีวิตของเราก็ได้
การจะเป็นฟรีแลนซ์นั้น จะต้องมีชีวิตที่ ห้ามป่วย ห้ามพัก จริงไหม?
แพนแพนมีมี เจอนั่น เจอนี่
เจอสิ่งดีๆ จากหนังสือ ว่างงาน ไม่ว่างเงิน
เป็นเรื่องของ '8 กฏเพื่อที่จะได้มีกินไปตลอดชีวิต'
อ่านและแบ่งปันในฐานะของ ฟรีแลนซ์
ที่ลาออกมาได้ 1 ปี กับอีก 3 เดือน
ยอมรับว่าช่วงแรกๆ มีความเครียดและความกังวลไม่น้อยเลย
และเมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ก็พบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ 'ดิ้นพล่าน' เพื่อเอาตัวรอด
เราคิดว่าตัวเองมีอิสระที่จะได้ทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ
แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ สิ่งที่เราต้องเลือกก็คือ 'งานที่ให้เงิน'
เพราะเรากลัวว่า จะไม่มีกิน ไม่มีเงินจ่ายค่าที่อยู่ ค่าอาหารแมว ค่าต่างๆนานา
สุดท้ายแล้ว งานที่รัก งานที่ให้อิสระ ก็ทำให้เรากลายเป็น 'ทุกข์' ได้เช่นกัน
การอ่านหนังสือเล่มนี้แม้ว่าจะดองไว้นานแล้ว แต่ก็รู้สึกว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่หนังสือทำงานร่วมกับประสบการณ์ของเราในเวลาของมันเอง แบบที่ควรจะเป็น
ถ้าเราอ่านหนังสือเล่มนี้ เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว... ก็อาจจะไม่อิมแพคกับความคิด ความรู้สึกของเรามากขนาดนี้ก็ได้ > <
มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
แต่เราไม่อยากใช้คำว่ากฏ แต่จะขอใช้คำว่า 'แนวคิด' แทนแล้วกันนะคะ
แนวคิดแรก :
ไม่ลำบากเรื่องงานไปอีกตลอดชีวิต
กุญแจคือ "ขยายอิทธิพลให้กว้างขึ้น"
ความจริงข้อหนึ่งที่เราอาจจะไม่ทันคิดก็คือ จริงๆแล้วฟรีแลนซ์นั้นมักจะมีงานเข้ามาเสมอ...แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานที่ 'ไม่ตรงใจ'
สิ่งสำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ
เราต้องตั้งหรือกำหนดเป้าหมายให้ตัวเองว่า
เราอยากอะไรจากการทำงาน เพราะการเป็นฟรีแลนซ์คือเรามีอิสระที่จะ ออกแบบ ระบบและชีวิตการทำงานของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น : การตั้งเป้าว่าอยากจะได้รายได้สักเท่าไหร่ดี? ( อยากได้ไหม )
: การตั้งเป้าว่าอยากจะใช้เวลาทำงานมากเท่าไหร่ ? ( มากหรือน้อย )
: การตั้งเป้าว่า อยากจะทำงานร่วมกับคนแบบไหน
: หรือกำหนดว่าเราอยากทำงานอะไร
ถ้าเราไม่กำหนด เราก็จะกลายเป็นเพียงแค่ คนรับจ้าง ทำทุกอย่างที่คนจ้างและได้เงินเท่านั้น
ความคิดเห็น : ข้อหนึ่งที่เราใช้เป็นหลักในการทำงานตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาคือ
* การใช้เวลาเพื่อทำงาน / เราไม่เชื่อเรื่องการทำงานทั้งวันทั้งคืน อดหลับอดนอนแล้วจะทำให้งานออกมาดี แบบที่เราเห็นในหนัง ก่อนอื่นเราต้องลบความเชื่อผิดๆ ข้อนี้ออกไปก่อน
* การตั้งเป้าว่าอยากทำงานกับคนแบบไหน ( เมื่อเราเลือกได้ )
หากว่าเราทำงานประจำ เราอาจจะเลือกได้ไม่มากนัก ว่าจะต้องเจอคนแบบไหนในที่ทำงาน บางคนเป็น Toxic Person
ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยกับชีวิตมากกว่างานทำเราเสียอีก
แต่ในชีวิตฟรีแลนซ์ เราไม่ได้เลือกงาน แต่เราเลือกคน
เพราะคนคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเราโดยตรง
งานก็คืองาน ไม่ว่างานไหน ก็คืองาน
แต่เรื่องของคน มันต่างออกไป
ถ้าเราเจอคนที่ดี ที่เห็นคุณค่าเรา ดึงประสิทธิภาพของเราออกมา เพื่อทำงาน
สิ่งที่เราได้รับ คือการพัฒนาตัวเอง เห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น ซึ่งมันประเมินค่าไม่ได้
ในทางกลับกัน หากว่าเราทำงานกับคนที่ไม่เห็นคุณค่าเราเลย
สิ่งที่เราจะได้รับกลับมาให้ตัวเอง นอกจากจะได้เงินแล้ว
เราจะได้ การไม่เห็นคุณค่าหรือดูถูกตัวเอง มาเป็นของแถมด้วย
-
อีกประเด็นของการขยายอิทธิพลคือ เรื่องการ 'เพิ่มช่องทาง'
เราเชื่อเรื่องหลักของการ ทวีคูณ หรือ การขยายผลผลิต เหมือนกับพืชผล ต้นไม้
ต้นไม้ไม่ได้เพียงขยายตัวเองด้วยขนาดเท่านั้น
แต่ยังขยายตัวเองผ่านดอก เกสร ผล เมล็ด ราก กิ่งก้าน ใบ ทุกทาง ที่จะขยายผลออกไป
เมื่อกลับมาดูตัวเราเอง เราขยายตัวเองไปในทิศทางใดบ้าง เพื่อให้คนรู้จักเรามากขึ้น หรือ เข้าถึงผู้คนได้เยอะขึ้น
ซึ่งในปัจจุบันก็มีช่องทางและวิธีการมากมายที่จะให้เราเลือกใช้
แนวคิดที่สอง :
กล้าปฏิเสธงาน ไม่ใช่รับงาน เพื่อให้มีกิน เท่านั้น
แนวคิดนี้ต่อเนื่องจากช่วงแรกคือ การรับงานเพื่อให้มีกินเท่านั้นอาจจะเป็นกับดักที่ทำให้เราสุดท้ายแล้วเราก็จะกลายเป็นคนที่รับจ้าง แล้วก็ได้เงิน สุดท้ายก็อาจจะมีชีวิตอยู่ไปแค่วันๆ พอเอาตัวรอดได้เท่านั้น
แต่เราเชื่อว่า เราทุกคนไม่ได้เป็นแบบนั้น
เราล้วนมองหาคุณค่าและความหมายจากงานและสิ่งที่ทำเสมอ
2
เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งเป้าหมายที่จะปฏิเสธงานที่ไม่ใช่ไปบ้าง
มีคำหนึ่งที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า
'ไม่เลือกงานไม่ยากจน'
1
ทุกคนคิดอย่างไรกับคำนี้คะ?
สำหรับเราแล้วมีทั้งส่วนที่จริงและส่วนที่ไม่จริง
หากว่าเรามัวแต่เลือกและไม่ทำอะไรเลย แน่นอนว่าเราคงไม่มีจะกินแน่ๆ
แต่ถ้าหากว่า เรามัวแต่ทำงานทุกอย่างที่เข้ามา เพราะกลัวว่าจะไม่มีกิน สุดท้ายเราก็จะไม่ได้ 'พัฒนา' อะไรเกี่ยวกับตัวเองเลย
เราอาจจะพอมีกิน...
แต่เราก็อาจจะกลายเป็นคนที่เราไม่ได้อยากเป็น หรือ ไปไม่ถึงเป้าหมายของเรา
เลือกงานผิดก็เหมือนปีนภูเขาผิดลูก
1
การเป็นฟรีแลนซ์ทำให้เรามีอิสระที่จะทดลองทำ เรียนรู้ สิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ อย่างเช่น ในปีนี้เราอาจจะสนใจทำงานอย่างหนึ่ง จนรู้สึกว่าเราอิ่มตัวและอยากจะไปลองทำงานอื่นๆ ก็ได้
และในปัจจุบัน งานที่มีให้ทำนั้นก็สามารถ take corse ระยะสั้นก็สามารถทำงานหาเงินได้แล้ว
บางคนทำงานที่ไม่ได้ตรงกับสายอาชีพที่เรียนมาด้วยซ้ำ
ฟรีแลนซ์จึงเป็นอาชีพที่ทำให้คนเรามีโอกาสที่จะได้ค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ
แนวคิดที่สาม :
แค่ทำงานให้เสร็จเฉยๆ ย่อมมองไม่เห็นอนาคต
การทำงานให้เสร็จไปเฉยๆ แล้วได้เงิน ก็เป็นอันจบปิดจ้อบ
เท่านั้นเพียงพอหรือไม่?
คำตอบคือ ไม่เลย
อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น
หากเราทำงานแลกเงินไปเฉยๆ เราก็จะกลายเป็นคนที่แค่ทำงาน
แต่สุดท้ายไม่ได้ทำงานที่อยากทำ หรือ ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเป็นการพัฒนาตัวเองเลย
มีการแบ่งตารางเกี่ยวกับ งาน และ เงิน เอาไว้ 4 ประเภท
แนวคิดที่สี่ :
ถึงจะหาเงินได้มากเท่าไหร่ก็ลบความกังวลไปไม่ได้
เคยเป็นกันมั้ยคะ?
ตอนไม่มีเงินก็กังวล
แต่พอมีเงินเพิ่มขึ้นก็กังวลว่าจะไม่พออยู่แล้ว
แล้วก็ต้องหาเพิ่มอีก หาเพิ่มอีก
เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า ปีหน้า ของอาชีพฟรีแลนซ์ จะเป็นอย่างไร?
ปีนี้ อาจจะมีงาน ปีหน้า อาจจะมีมากขึ้นหรือไม่มีเลยก็ได้
อยากเช่นสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ก็ทำให้เราเห็นตัวอย่างและเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้นอย่างชัดเจน
และในความเป้นจริง ก็มักจะไม่มีอะไรเป็นอย่างที่เราคิดไว้
แม้ว่าเราจะวางแผนอย่างดี ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น
และธรรมชาติของอาชีพฟรีแลนซ์ก็คือ เราไม่สามารถหาเงินได้แบบพรวดพราด และ ไม่สามารถหาเงินในจำนวนที่เท่าๆ กันไปได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำคือ 'ฝึกควบคุมความกังวล' ไม่ได้แปลว่ากังวลไม่ได้หรือความกังวลเป็นเรื่องผิด
แต่เมื่อเรากังวลก็ให้จัดการกับความกังวลนั้น
พร้อมกับอยู่ร่วมกับสถานการณ์ที่มักจะทำให้เรากังวลอย่างเข้าอกเข้าใจ
(เข้าใจตัวเอง และ เข้าใจสถานการณ์)
ชีวิตที่ไม่กังวลคือชีวิตที่เบาสบาย
แล้วเราจะมีพลังไปทำเรื่องดีๆอีกมากมาย
อย่าเสียพลังงานไปให้กับความกังวล
แนวคิดที่ห้า :
ถ้าเก็บเงินไม่ได้ ก็เปลี่ยนกระแสการไหกลของเงินให้ดีขึ้น
การเก็บเงิน โดยไม่ใช้เลย นับว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่?
การจะมีเงินเยอะๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเก็บเงินได้มากเท่าไหร่
แต่มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้เงินนั้นอย่างไร...
การสร้างกระแสไหลเวียนของเงิน เหมือนกับสายน้ำ
อาจจะมาเรื่อยๆ ไม่เยอะ แต่ไม่ขาดสาย
สิ่งที่เราต้องทำคือ การขยายและทำทางให้น้ำไหลผ่านได้
ด้วยการลงทุน
ลงทุนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการลงทุนหุ้น หรือกองทุนอย่างเดียว
แต่เป็นการลงทุนเงินไปกับการพัฒนาทักษะให้ตัวเอง เป็นการทำทางที่กว้างขึ้น
หรือหากว่าเรามีเงินน้อย แต่สิ่งที่มีคือเวลา
เราก็สามารถออกแบบได้ว่า
เรามีเวลาอยู่เท่าไหร่?
เราจะลงทุนเวลาของเราไปกับอะไร?
มันต่างจากการขุดบ่อแล้วเอาน้ำไปใส่ นานวันไปก็อาจจะเหือดแห้งไปเฉยๆ ก็ได้
เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์เงิน เป็นสิ่งที่มีค่าลดลง หรือเงินเฟ้อ
จำนวนเงินเท่ากัน กาลเวลาผ่านไป ก็จะมีค่าลดลง
แนวคิดที่หก :
สร้างพลังที่จำเป็นสำหรับฟรีแลนซ์ 3 อย่าง ไว้ติดตัว
1. พลังสร้างงาน
งานมีหลากหลายประเภท ทั้งงานที่สร้างรายได้มาเรื่อยๆ กับงานที่สร้างรายได้เพียงครั้งเดียว
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราจะจัดการเวลาของตัวเองเพื่อทำงานเหล่านี้
และจัดการกับปริมาณงาน
สิ่งที่เราเห็นด้วยกับหนังสือคือ การทำหลายๆ งานแล้วให้งานเชื่อมโยงกัน
ดูเหมือนจะทำหลายอย่าง แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน
...ลองออกแบบงานแบบนั้นให้ตัวเองดู
2. พลังในการบอกเล่าเรื่องตัวเองออกไป
การบอกเล่า ก็คือ การโฆษณาตัวเอง
ซึ่งทำได้และควรทำ ในวิธีที่ตัวเองโอเค
เพียงแต่เราต้องสื่อสารกับลูกค้าให้เขารู้จักเรา
3. พลังในการหมุนเงิน
ทักษะการใช้เงินอย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีอย่างมาก
สำหรับการเป็นฟรีแลนซ์ หากเราได้เงินมาแล้วก็ใช้เงินไปเฉยๆ เราจะไม่ได้ต่างจากการเป็นพนักงานประจำเลย แถมยังเสียเปรียบตรงที่เราไม่มีกองทุน ไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้ตัวเองเลย
เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เงินอย่างสร้างสรรค์ด้วยการลงทุนทักษะให้ตัวเอง
ให้สามารถต่อยอด รับงานที่ดีขึ้นได้ รับงานที่ใหญ่ขึ้นได้ หรือแม้แต่การสร้างกิจการขึ้น และอาจจะไปถึงการจัดสัมนาเลยก็ได้
แนวคิดที่เจ็ด :
ทิ้งความคิดแบบพนักงานกินเงินเดือน
ฟรีแลนซ์แตกต่างจากพนักงานกินเงินเดือนตรงที่ เราต้องดูแลตัวเอง
หากมีเรื่องที่ผิดพลาด เราต้องรับผิดชอบตัวเอง
หากเราเลือกจะเป็นฟรีแลนซ์แล้ว สิ่งที่เราต้องมีและตระหนักไว้เสมอคือ
1. ตระหนักว่า มีเรื่องที่ทำไม่ได้
การตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ได้ทำได้ทุกเรื่อง
แม้ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์แต่ไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่าง
เรื่องที่ไม่รู้และไม่ถนัดก็ควรจะหาคนช่วย
2. รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง
สัญญาที่ให้กับตัวเองก็สำคัญไม่แพ้สัญญาที่ให้กับคนอื่น
เช่น การหยุดพัก การไปเที่ยว การให้รางวัลตัวเอง เหล่านี้เราควรเคร่งครัดที่จะรักษาสัญญาให้ตัวเอง
หากเราเป็นพนักงานบริษัท เราจะมีตารางวันหยุดประจำปีคอยเตือน มี HR. คอยบอก หรือเพื่อนร่วมงานกระตุ้นไปด้วย แต่เมื่อเราเป็นฟรีแลนซ์ เราไม่มีใคร
บางครั้งก็อาจจะทำงานจนลืมวันลืมคืนก็ได้
3. ให้ความสำคัญกับความเร็วของงาน
คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ
แต่เรื่องที่ลูกค้าเข้าใจง่ายที่สุดคือ 'ความเร็ว' ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเร่งรีบเพื่อส่งงาน แต่ควรรักษากำหนดการณ์ที่นัดส่งงานอย่างมั่นคง หรือหากเป็นไปได้ให้ส่งก่อน
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างที่เรากล่าวไปข้างตน เราไม่เชื่อเรื่องการทำงานแบบไม่หลับไม่นอน
เหมือนที่เชื่อกันมาแบบผิดๆ ว่าชีวิตฟรีแลนซ์เป็นแบบนั้น
สมัยเรียนมหาลัย เด็กสถาปัตย์ทุกคนอดนอนกับจนเป็นเรื่องปกติ
จนสุขภาพร่างกายแย่ สุขจิตก็เสีย ไม่มีอะไรดีเลย
และบางครั้งงานก็ไม่ได้มีคุณภาพด้วย
แต่ในตอนนั้น เราเลือกที่จะให้ตัวเองได้นอนด้วย
แม้ว่าอาจจะได้นอนน้อยหน่อย แต่ยังไงก็ต้องนอน
งานก็อาจจะไม่ได้ดีมาก
แต่ว่า เรารู้สึกโอเคกับตัวเองก็พอ
สุดท้ายแล้ว งานพวกนั้นก็แค่ผ่านไป
สิ่งที่ทิ้งไว้อาจจะเป็นเกรด เป็นผลการเรียน
ซึ่ง พอเวลาผ่านไป ก็แทบจะใช้อะไรไม่ได้เสียด้วยซ้ำ
แนวคิดที่แปด :
เวลาสำคัญกว่าเงิน
งาน เงิน เพิ่มได้
แต่เวลา เพิ่มไม่ได้
เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหวนกลับ...เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ
เราจะไม่พูดอะไรมากในข้อนี้
แต่จะขอจบลงด้วยประโยคจากหนังสือว่า
ก่อนจะตายไม่มีใครพูดว่า 'ถ้าทำงานให้มากกว่านี้ก็ดีสิ'
แต่เรามักจะได้ยินคำว่า 'ถ้าไปเที่ยวให้เยอะกว่านี้ก็ดีสิ'
'ถ้าใช้เวลากับพ่อกับแม่ให้มากกว่านี้ดีสิ'
สุดท้ายแล้ว รู้อะไร ไม่เท่า รู้งี้ ใช่มั้ยละคะ 555555
เนื้อหา : จากหนังสือ ว่างงานแต่ไม่ว่างเงิน
ผู้เขียน : โยอิจิ อิโนะอุเอะ
บทความโดย : mint - panpanmeme journal & journey
โฆษณา