24 เม.ย. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
แนวโน้มการลดการใช้พลาสติก และระเบียบที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่น
เทรนด์การลดการใช้พลาสติกในญี่ปุ่น
ปี 2558 กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโลก เนื่องจากเป็นปีที่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นส่วนขยายและเพิ่มเติม (Supplementary Agreement) ต่อจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol–KP) ปี 2540 เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากพิธีสารเกียวโตนั้นมีข้อจำกัดไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของพิธีสารฯ ดังกล่าว
ทั้งนี้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) กำหนดให้ทุกประเทศต้องรายงาน ตลอดจนทบทวนเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกๆ 5 ปี นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้าในระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ที่มุ่งจะบรรลุภายในปี 2573 อีกด้วย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกระแสความนิยมการให้ความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวโน้มความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความพยายามในการลดการก่อขยะที่ไม่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติก โดยมีกระแสการนำวัสดุทดแทน หรือลดการใช้พลาสติกลงทั้งในหมู่ผู้บริโภค และ ผู้ให้บริการทั่วโลก ญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ SDGs อย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำหรับญี่ปุ่นเองเดือนพฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศ “แผนกลยุทธ์การหมุนเวียนทรัพยากรสำหรับพลาสติก (Resource Circulation Strategy for Plastics)” ขึ้นเพื่อสนับสนุนการรีไซเคิลพลาสติกให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ โดยอ้างอิงจาก “แผนพื้นฐานที่ 4 สำหรับการจัดตั้งสังคมการหมุนเวียนวัสดุที่สมบูรณ์ (4th Fundamental Plan for Establishing a Sound Material-Cycle Society)” ตามที่คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีการประกาศในเดือนมิถุนายน 2561
ในญี่ปุ่นแต่ละปีมีขยะพลาสติกจานวนมากเกิดขึ้น ถึงแม้จะมีการพยายามรีไซเคิลอย่างเต็มกำลังก็ยังมีขยะส่วนเกินอยู่ดี (ที่มา: https://mainichi.jp/english/articles/20210602/p2a/00m/0sc/023000c)
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2565 กฎหมายที่มุ่งลดการใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) ก็เริ่มมีผลบังคับใช้ในญี่ปุ่น โดยกฎหมายว่าด้วยการหมุนเวียนทรัพยากรพลาสติกฉบับนี้ครอบคลุมสิ่งของ 12 รายการ ได้แก่ หลอด ช้อน แปรงสีฟัน ที่โกนหนวด ไม้แขวนเสื้อ และถุงคลุมเสื้อ เป็นต้น ร้านค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่ให้บริการสิ่งของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในลักษณะนี้ปีละ 5 ตันขึ้นไป จะถูกบังคับให้ลดปริมาณการใช้ลง โดยธุรกิจต่างๆ ต้องจัดหาสิ่งของที่ทำจากวัสดุอื่น หรือเรียกเก็บเงินจากลูกค้าสำหรับสิ่งของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถือเป็นอีกแรงขับเคลื่อนใหญ่ที่ทำให้บริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นหลายรายปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อกฎหมายที่มีผลบังคับใช้นั่นเอง
การรีไซเคิลพลาสติกในญี่ปุ่น
จากรายงานสถานการณ์การรีไซเคิลพลาสติกในญี่ปุ่นประจำปี 2563 ซึ่งเผยแพร่โดย Plastic Waste Management Institute ในเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ในปี 2563 ความต้องการในการใช้ผลิตภัณฑ์เรซิน (พลาสติก) ลดลงเนื่องจากข้อจำกัดด้านมาตรการการผลิตในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในญี่ปุ่น โดยปริมาณ “การผลิตเรซิน (พลาสติก)” ปี 2563 ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 9.63 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.3 หรือประมาณ 870,000 ตัน ในขณะที่ “การนำเข้าเรซิน (พลาสติก)” ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.19 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12.2 หรือประมาณ 300,000 ตัน และ “ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์เรซิน(พลาสติก) ในประเทศ” อยู่ที่ 8.41 ล้านตัน ลดลงอย่างมากจากปีก่อนหน้าประมาณ 980,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.4 เทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ หากพิจารณาปริมาณ “ขยะพลาสติกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น” พบว่าในปี 2563 ลดลงเหลือ 8.22 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.3 หรือประมาณ 280,000 ตันจากปีก่อนหน้า ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการก่อขยะพลาสติกสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ขยะพลาสติกทั้งหมดนั้นแบ่งเป็นขยะพลาสติกจากครัวเรือน 4.1 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.6 หรือประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งถือว่าลดลงในปริมาณที่ไม่มาก เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เลี่ยงการออกจากบ้านมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ขยะพลาสติกจาก “ภาคอุตสาหกรรม” ลดลงมากถึงร้อยละ 5.8 หรือประมาณ 260,000 ตัน ไปอยู่ที่ 4.13 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดด้านมาตรการการผลิตขยะพลาสติกจากโรงงานต่างๆ จึงลดลงตามไปด้วย
ปริมาณการใช้พลาสติก ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น และการจัดการขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น ตลอดจนสถานการณ์การรีไซเคิลพลาสติกในญี่ปุ่นในปี 2563 (ปริมาณตัวเลขในแผนภาพ หน่วย: หมื่นตัน) (ที่มา: https://www.pwmi.or.jp/pdf/panf2.pdf)
สำหรับญี่ปุ่นการจัดการ/ การกำจัดขยะพลาสติกด้วยการรีไซเคิลนั้นมี 3 วิธี ได้แก่
1. Material recycling หรือ การรีไซเคิลวัตถุดิบเป็นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยการนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกใหม่อีกครั้ง หรือนำมาขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล
2. Chemical recycling หรือ การรีไซเคิลเชิงเคมี อาศัยการทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางประเภท ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแตกสลายของโมเลกุลขนาดใหญ่ หรือทำให้โมเลกุลของสายโซ่โพลิเมอร์ขาดออก (ย่อยสลายทางเคมี) และทำให้บริสุทธิ์โดยการกลั่น และตกผลึก เพื่อให้ได้สารตั้งต้นที่มีคุณภาพสูงอีกครั้ง
3. Thermal recycling หรือ การรีไซเคิลพลาสติกเป็นพลังงานความร้อน หมายถึงการเผาพลาสติกโดยใช้เป็นเชิงเพลิงเพื่อนำความร้อนไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ต้มน้ำเพื่อใช้หมุนกังหันสำหรับผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
การจัดการ/การกำจัดขยะพลาสติกในญี่ปุ่นด้วยการรีไซเคิลแบบต่างๆ 3 วิธี (ที่มา: https://www.pwmi.or.jp/pdf/panf2.pdf)
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลของการรีไซเคิลขยะพลาสติกของญี่ปุ่นในปี 2563 จะพบว่ามีสัดส่วนการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ (Utilized plastic waste) ที่ร้อยละ 86 หรือประมาณ 7.1 ล้านตัน โดยเป็นปริมาณการจัดการด้วยวิธี Material recycling ที่ 1.73 ล้านตันคิดเป็นร้อยละ 21 ของการจัดการทั้งหมด ลดลงกว่าปีก่อนหน้า ร้อยละ 6.7 หรือประมาณ 120,000 ตัน
ในขณะที่ปริมาณการจัดการด้วยวิธี Chemical recycling อยู่ที่ 270,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3 ของการจัดการทั้งหมด เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ตัน หรือร้อยละ 2.5 จากปีก่อนหน้า และปริมาณการจัดการด้วยวิธี Thermal recycling อยู่ที่ 5.09 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 63 ของการจัดการทั้งหมด ลดลงประมาณ 40,000 ตัน หรือร้อยละ 0.8 จากปีก่อนหน้า หมายความว่ามีการนำมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบอยู่เพียงร้อยละ 21 เท่านั้น ส่วนการรีไซเคิลเชิงเคมีก็ยังมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ในขณะที่ส่วนที่เหลือถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการรีไซเคิลเป็นความร้อนมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 63
หากพิจารณาข้อมูลของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะพบว่าในปี 2563 อันดับที่ 1 เป็นขยะพลาสติกจำพวกบรรจุภัณฑ์ภาชนะต่างๆ อยู่ที่ร้อยละ 47.5 หรือประมาณ 3.9 ล้านตัน (ภาคครัวเรือน: 3.16 ล้านตัน/ ร้อยละ 77.1 ของขยะพลาสติกจากภาคครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ของภาคครัวเรือน; ภาคอุตสาหกรรม: 750,000 ตัน/ ร้อยละ 18.1 ของขยะพลาสติกจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ของภาคอุตสาหกรรม) ในขณะที่อันดับที่ 2 เป็นขยะพลาสติกจำพวกชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟ สายเคเบิล หรือเครื่องจักรต่างๆ อยู่ที่ร้อยละ 19.1 หรือประมาณ 1.57 ล้านตัน (ส่วนมากเกิดจาก ภาคอุตสาหกรรม: 1.39 ล้านตัน/ ร้อยละ 33.8 ของขยะพลาสติกจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนขยะพลาสติกอันดับ 1 ของภาคอุตสาหกรรม) จึงเห็นได้ว่าขยะพลาสติกในญี่ปุ่นนั้น ส่วนมากเป็นขยะจำพวกบรรจุภัณฑ์ และภาชนะต่างๆ
กฎหมายที่มุ่งลดการใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic)
ในเดือนพฤษภาคม 2562 ญี่ปุ่นได้ประกาศ “แผนกลยุทธ์การหมุนเวียนทรัพยากรสำหรับพลาสติก (Resource Circulation Strategy for Plastics)” เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งข้อจำกัดด้านทรัพยากรของเสีย ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ภาวะโลกร้อน และข้อจำกัดการนำเข้าขยะของประเทศในเอเชีย ทั้งนี้หลักการพื้นฐาน ก็คือ “3R + Renewable” (3R: Reduce/ Reuse / Recycle)”
ทั้งนี้ Reduce คือการลดของที่จะทิ้งให้น้อยลง หรือลดการสร้างขยะ ส่วน Reuse คือการยืดอายุการใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยการใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ในขณะที่ Recycle เป็นการนำขยะพลาสติกไปผ่านกระบวนการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ หรือจัดการด้วยวิธีอื่นๆ รวมกับ Renewable เป็นแนวคิดความพยายามที่จะไม่สร้างขยะให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก โดยเปลี่ยนจากการใช้วัสดุที่จะก่อให้เกิดขยะมาใช้วัสดุทดแทนที่จะทำให้หลังใช้งานเสร็จ วัสดุนั้นจะกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ เป็นที่มาของเทรนด์ “Biomass plastic หรือ Bioplastic” ในญี่ปุ่น
แนวคิด 3R + Renewable ที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน (ที่มา: https://www.kiracs.co.jp/blog/2029/)
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเริ่มนโยบาย “คิดเงินค่าถุงพลาสติก” พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2573 เพื่อลดการใช้พลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ทำให้ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ ในญี่ปุ่นเปลี่ยนมาเก็บค่าถุงพลาสติกหากผู้บริโภคต้องการ ซึ่งทำให้กระแสการพกถุงใส่ของของตนเอง (My bag หรือ Eco bag) ในหมู่ผู้บริโภคในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับสิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) ในญี่ปุ่นนั้น มีการผลิต นำเข้า และบริโภคในญี่ปุ่นกันจำนวนมากในแต่ละปี รัฐบาลญี่ปุ่นจึงกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับนโยบาย 3R+Renewable ไว้ดังนี้
Reduce: ลดปริมาณการก่อขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น ภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ ให้เหลือร้อยละ 25 ของทั้งหมดภายในปี 2573
Reuse & Recycle:
- รีไซเคิล หรือใช้ซ้ำภาชนะ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2573
- ทำให้สัดส่วนการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ (Utilized plastic waste) เป็น 100% ภายในปี 2578
- เพิ่มการรีไซเคิลพลาสติกเป็น 2 เท่าภายในปี 2573
Renewable: ขยายตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวมวลให้เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2573
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังออกกฎหมายที่มุ่งลดการใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป
กฎหมายว่าด้วยการหมุนเวียนทรัพยากรพลาสติกฉบับนี้ครอบคลุมสิ่งของ 12 รายการ ได้แก่ ส้อม ช้อน มีด ไม้คน หลอด แปรงหวีผม หวี ที่โกนหนวด หมวกคลุมผมอาบน้ำ แปรงสีฟัน ไม้แขวนเสื้อ และถุงคลุมเสื้อ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการแปรรูปทรัพยากรพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการกำจัดขยะที่เกิดขึ้น โดยร้านค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านซักรีด บริษัทจัดส่งพิซซ่า และธุรกิจ อื่นๆ ที่ให้บริการสิ่งของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลักษณะนี้ปีละ 5 ตันขึ้นไป จะถูกบังคับให้ลดปริมาณการใช้ลง
ผู้ให้บริการข้างต้นต้องจัดหาสิ่งของที่ทำจากวัสดุอื่น หรือเรียกเก็บเงินจากลูกค้าสำหรับสิ่งของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหากลูกค้าต้องการ ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่นี้ อาจถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 เยน (ประมาณ 135,000 บาท) หากยังคงละเมิดข้อบังคับนี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ให้บริการสิ่งของ 12 รายการที่กฎหมายกำหนดข้างต้นปีละไม่ถึง 5 ตัน จะได้รับการร้องขอให้ลดปริมาณการใช้ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
12 รายการสินค้าตามกฎหมายลดการใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 (ที่มา: https://plastic-circulation.env.go.jp/about/pro/gorika)
ภาคธุรกิจในญี่ปุ่นตอบรับกฎหมายลดการใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในญี่ปุ่น FamilyMart จะ ไม่ให้ส้อมพลาสติก (ช้อน) แก่ลูกค้าที่ซื้ออาหารอีกต่อไป อย่างไรก็ตามลูกค้าสามารถขอตะเกียบไม้ไผ่ได้ฟรีหากต้องการ โดย FamilyMart คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ปีละ 260 ตัน
นอกจากนี้โรงแรมชั้นนำของญี่ปุ่น Imperial Hotel ก็ปรับรูปแบบการให้บริการโดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุจากไม้ หรือไม้ไผ่ทำด้ามจับของแปรงสีฟัน มีดโกนหนวด และแปรงหวีผมที่ให้บริการในโรงแรม ทั้งนี้ทางโรงแรม เผยว่าค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอำนวยความสะดวก (amenities) จะเพิ่มเป็นเกือบ 3 เท่าของต้นทุนปัจจุบัน แต่คาดว่าจะลดการใช้พลาสติกได้มากกว่าร้อยละ 80
สินค้าที่ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่หลายราย เตรียมเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ เพื่อขานรับกับกฎหมายลดการใช้สิ่งของที่ทำจากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (ที่มา: https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20220401_40/)
ทั้งนี้ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารรายใหญ่อื่นๆ ในญี่ปุ่นเองก็มีการทยอยประกาศจะเริ่มเปลี่ยนจากช้อนส้อมพลาสติกไปเป็นช้อนส้อมที่ทำจากไม้ หรือวัสดุที่ทำจากพืช ในขณะที่โรงแรมบางแห่งก็มีการประกาศจะไม่จัดเตรียมแปรงสีฟันไว้ในห้องพัก และจะเริ่มวางแปรงสีฟันที่บริเวณเคาน์เตอร์ต้อนรับ หรือขอให้แขกนำมาเอง เพื่อขานรับกับกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้นี้
เทรนด์การพัฒนาวัสดุทดแทนพลาสติกในญี่ปุ่น
เทรนด์การพัฒนาวัสดุทางเลือกสำหรับใช้แทนพลาสติกในญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยมา เพื่อตอบรับกับกฎหมายใหม่ที่ออกมา รวมถึงตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สนใจเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แนวคิดการซื้อผลิตภัณฑ์ที่แพงกว่าพลาสติกนั้นแทบไม่มีให้เห็นในสังคมทั่วไป แต่ในปัจจุบันแนวคิดเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
• บริษัท Biomass Resin Holdings ผู้ผลิตถุงใส่ของจากข้าว ได้พัฒนา "Rice resin" ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้จากการนำข้าวเก่า และข้าวที่แตกหักจากกระบวนการทำข้าวเกรียบจากข้าวมาผสมกับเรซิน (พลาสติก) ที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียม ทั้งนี้วัสดุนี้สามารถนำมาฉีดวัสดุเข้าไปในแม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เช่นเดียวกับ พลาสติกแบบดั้งเดิม ตลอดจนสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความบางได้ เช่น ถุงพลาสติก (ถุงใส่ของ) เป็นต้น
• บริษัท TBM พัฒนาวัสดุทดแทนพลาสติก "LIMEX" ซึ่งเป็นส่วนผสมของหินปูน และเรซินที่ได้จากปิโตรเลียม นอกจากนี้ TBM ก็ยังผลิตวัสดุทดแทนกระดาษ "LIMEX Sheet" ที่ทำจากหินปูนอีกด้วย ทั้งนี้ทาง TBM ได้ ผลิต LIMEX โดยนำวัสดุใช้จากวัสดุเดียวกันนี้กลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ด้วย ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ ได้แก่ การที่ TBM ได้ร่วมมือกับบริษัท Seven & i Food Systems นำ LIMEX Sheet มาทำเมนูในร้านกาแฟแฟรนไชส์ "Kojimachi Coffee" และหลังใช้งานแล้วก็นำเมนูนั้นมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตถาดที่ใช้ในร้านอาหารสำหรับครอบครัวรายใหญ่ในญี่ปุ่น "Denny's"
• บริษัท Amica Terra ได้พัฒนาวัสดุทางเลือกที่ไม่ผสมเรซินจากปิโตรเลียมเลยเพื่อใช้แทนพลาสติกขึ้นมา โดย นำเศษไม้ไผ่ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการแปรรูปตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง ผสมกับแป้งมันสำปะหลัง (starch) เพื่อให้ได้วัสดุใหม่ "modo-cell" ขึ้นมา ทั้งนี้ทางบริษัทยังเผยอีกว่า ไม่ได้จำกัดแค่ไม้ไผ่ แต่สามารถใช้พืชอื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบหลักได้อีกด้วย เช่น กรณีฮอกไกโดมีข้าวโพดเยอะก็นำแกนข้าวโพดมาใช้ได้ ที่นีกาตะ มีข้าวเยอะ ก็ใช้แกลบแทนได้ ในขณะที่นากาโนะ มีโซบะมาก ก็ใช้เปลือกเมล็ดโซบะมาใช้แทนได้เช่นกัน
• บริษัท Sumitomo Chemical ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของญี่ปุ่น พัฒนาพลาสติกชนิดใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าน้ำยาผงซักฟอกแบบเติม ทั้งนี้เดิมทีบรรจุภัณฑ์เดิม ทำจากวัสดุหลายชนิดประกอบกันเพื่อให้มีความแข็งแรงเลยทำให้รีไซเคิลได้ยาก วิธีการจัดการแบบง่ายที่สุดที่ผ่านมาก็คือ การเผาทำลาย แต่วัสดุใหม่ที่พัฒนาขึ้นมานี้ ทำจากวัสดุเพียงชนิดเดียว ทำให้ง่ายสำหรับการรีไซเคิล และยังคงคุณสมบัติความแข็งแรงเอาไว้ได้อีกด้วย
พลาสติกชนิดใหม่ที่ Sumitomo Chemical พัฒนาขึ้น เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น (ที่มา: https://www3.nhk.or.jp/news/html/20220404/k10013566021000.html/)
พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงระเบียบข้อบังคับ มาตรการ กฎหมายบังคับใช้ที่ออกมาเพื่อลดการใช้พลาสติกนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้า วัสดุทดแทนพลาสติก ตลอดจนการนำวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้มาใช้ แทนพลาสติกที่เคยใช้กันมาแต่เดิม ธุรกิจรายใหญ่ในญี่ปุ่นล้วนตอบรับกับเทรนด์การลดการใช้พลาสติกนี้ ทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือตัวผลิตภัณฑ์ก็ล้วนมีให้เห็นมากในปัจจุบัน ที่หันไปใช้วัสดุจากธรรมชาติมากขึ้นพยายามใช้พลาสติกในการผลิตน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับโอกาสของสินค้าไทย และผู้ประกอบการไทย ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้ให้บริการธุรกิจโรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นต้องหาวัสดุทดแทนพลาสติกมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์เดิม เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถร่วมงานกับบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ผู้ผลิตในญี่ปุ่นเอง ก็มีการหาวัสดุทดแทนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบันกันมากขึ้น ทั้งเรื่องการย่อยสลายได้ วัสดุทำมาจากธรรมชาติ หรือการสามารถนำไปใช้งานทดแทนพลาสติกได้ เป็นต้น วัสดุเหล่านี้ นอกจากวัสดุใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ข้าว พืชต่างๆ ก็จะเป็นพลาสติกชีวมวลที่มีความหลากหลายนั่นเอง
จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ประกอบกับแนวคิด 3R+Renewable นั้น จะเป็นการผลักดันให้ธุรกิจทั้งรายใหญ่ และรายย่อยต้องปรับตัวในกระบวนการผลิต พยายามลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตพลาสติกจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้ การเตรียมใช้วัสดุทดแทนพลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ ในการผลิตก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดการจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นเป็นระยะ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสการเป็นคู่ค้ากับญี่ปุ่นในอนาคตได้ เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก สำหรับตลาดบรรจุภัณฑ์ และภาชนะ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ ตลอดจนตลาดสินค้าพลาสติกชีวมวลที่คาดว่ากำลังจะขยายตัวอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
โฆษณา