27 เม.ย. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข้อจำกัดของการเลี้ยงสัตว์ ทั้งเรื่องของเวลา การเอาใจใส่ รวมถึงปัญหาสุขภาพ อาจทำให้หลายคนไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ทั้งๆ ที่การเลี้ยงสัตว์ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก สมดุลร่างกาย ปรับพฤติกรรมของเจ้าของให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จากการได้ดูแลและทำกิจกรรมร่วมกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งการเข้ามาของโลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) จึงอาจเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้
ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับการมีเลี้ยงสัตว์ดิจิทัลในรูปแบบของเกม เช่น เกมทามาก็อตจิ (Tamagotchi) โปเกมอนโก (Pokémon GO) ซึ่งเอาเทคโนโลยี Augmented reality (AR) มาใช้ ไปจนถึง CryptoKitties ซึ่งเป็นเกมบนระบบปฏิบัติการบล็อกเชนบนอีเธอเรียม งานวิจัยตลาดล่าสุดของ InsightAce Analytic พบว่าตลาดเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกในปี 2021 มีมูลค่าถึง 1425.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2030 จะมีมูลค่าสูงถึง 8037.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 21.91% โดยที่ไร้การผูกขาดไม่ว่าจากเจ้าของแพลตฟอร์มใด ก็อาจปลุกกระแสความนิยมของคนรักสัตว์ดิจิทัลขึ้นมาอีกครั้ง จนอาจนำไปสู่การสร้างสังคมของคนรักสัตว์ดิจิทัล รวมไปถึงการลงทุนเพื่อเก็งกำไรจากการเลี้ยงสัตว์ดิจิทัล
ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องสัตว์เลี้ยงบนโลกเมตาเวิร์ส อาทิ
-เกม Bogo ที่มุ่งสร้างประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์ดิจิทัลให้สมจริงด้วยแว่น Oculus และเทคโนโลยี Virtual reality (VR)
-Duro Dogs ตั้งเป้าว่าจะเป็นทั้งเกมและแพลตฟอร์มสินค้าดิจิทัลแห่งแรกบนโลกเมตาเวิร์สที่เปิดให้ผู้ใช้งาน และภาคธุรกิจสามารถเอาสุนัขดิจิทัลของตนไปใช้บนแพลตฟอร์มอื่นได้ และอาจต่อยอดไปสู่กิจกรรม เช่น การประกวดสัตว์เลี้ยง และเกมแข่งขันต่าง ๆ
-MetaPets นำเสนอแนวคิดเพื่อนกันตลอดกาล (Forever friend) ให้เจ้าของสามารถสร้างสัตว์เลี้ยงของตนเองในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (Non-fungible Tokens; NFTs) ที่จะยังคงอยู่แม้ว่าคู่หูตัวจริงของผู้เลี้ยงจะจากโลกนี้ไปแล้ว ทั้งยังพร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงคนอื่นๆ ได้มีสังคมเพื่อแบ่งปันเรื่องราวร่วมกัน
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงยังคงเป็นหนึ่งกิจกรรมที่คนให้ความสำคัญ แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ยึดโยงกับโลกเสมือนมากขึ้น
- เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ในชีวิตจริงอาจมีปัจจัยและข้อจำกัด การเลี้ยงสัตว์ในโลกเสมือนอาจเป็นอีกทางเลือกที่สะดวกสบายกว่าสำหรับคนที่อยากมีสัตว์เลี้ยง
- ในอนาคตที่เทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น อาจมีข้อถกเถียงว่าสัตว์เลี้ยงดิจิทัลควรถูกมองในฐานะสัตว์เลี้ยงที่ต้องให้เวลาเอาใจใส่หรือเป็นแค่เกมที่ให้ความบันเทิง ซึ่งอาจต่อขยายไปถึงประเด็นจริยธรรมสัตว์
- การเลี้ยงสัตว์เพื่อพัฒนาการด้านอารมณ์ แก้เหงา บำบัดภาวะซึมเศร้า หรือเพื่อกระตุ้นให้ออกกำลังกายยังคงต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบผลทางจิตวิทยาที่ผู้เลี้ยงมีต่อการเลี้ยงสัตว์ในโลกจริงกับโลกเสมือน
- งานวิจัยของ Sun Joo-Grace Ahn (2015) ชี้ว่าสัตว์เลี้ยงดิจิทัลก็สามารถส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีได้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าผู้สร้างแพลตฟอร์มสัตว์เลี้ยงบนโลกเสมือนจะให้ความสำคัญกับการออกแบบกิจกรรมที่ใส่ใจสุขภาพของผู้ใช้งานหรือไม่อย่างไร
- เนื่องจากผู้คนเลี้ยงสัตว์ดิจิทัลเพื่อเก็งกำไรได้มากขึ้น อาจส่งผลให้ความนิยมของการเลี้ยงสัตว์ปกติ เช่น สุนัขหรือแมว ในโลกจริงลดลง ในทางกลับกันทิศทางการเลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษ (exotic pet) จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงและมีตลาดเฉพาะ เพราะเป็นสัตว์หายากแต่มีตัวตนอยู่ในโลกจริง และสามารถเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงฐานะทางสังคมของผู้เลี้ยงได้
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.blockdit.com/pages/6184ec3b07f0660cad381cf9
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #Metaverse #Pet #เมตาเวิร์ส #สัตว์เลี้ยง #MQDC
โฆษณา