3 พ.ค. 2022 เวลา 11:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แผนที่กองทุน KTAM Weekly Strategy
กลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์ที่ 3-6 พ.ค. 65
2 ตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน “แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ” (แกนนอนในชาร์ต) และ “แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐ” (แกนตั้ง) โดยแบ่งแนวโน้มการเติบโตเป็น 3 ระดับ ได้แก่ เติบโตสูง (fast growth) เติบโตต่ำ (slow growth) และ ถดถอย (recession) แบ่งแนวโน้มเงินเฟ้อ 3 ระดับเช่นกันคือ เงินเฟ้อสูง (high inflation) เงินเฟ้อต่ำ (disinflation) และ เงินฝืด (deflation) จึงเกิด 9 สถานการณ์ที่เป็นไปได้ทางทฤษฎี
เราพยายามระบุ “พื้นที่” ซึ่งแต่ละกองทุนน่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีหรืออย่างน้อย “เอาตัวรอด” ในแต่ละสถานการณ์
KT-CLIMATE, KT-GESG, KT-EPIC, KT-WEQ, KT-US ตลาดสหรัฐมีสัดส่วนสูงที่สุดในพอร์ตกองทุนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เน้นหุ้นเติบโต (growth) คุณภาพ (quality) market cap ใหญ่-กลาง เป็นหลัก “พื้นที่ปฏิบัติการ” น่าจะเป็นกลางๆตารางคือ เงินเฟ้อต่ำ เศรษฐกิจเติบโตปานกลางถึงต่ำ เพราะศักยภาพการเติบโตเหนือกว่า GDP จึงต้องการเพียง “สภาพคล่อง” จากนโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลาง (ดอกเบี้ยต่ำ - ปั๊ม QE)
KT-WTAI, KT-BLOCKCHAIN หุ้นแนว disruptive innovation มีสัดส่วนสูงในพอร์ต โดยหลักทรัพย์กลุ่มนี้ถูกมองเป็น long-duration assets เพราะกระแสเงินสดที่คาดหวังว่าจะได้รับจากผลกำไรในอนาคตหลายปีข้างหน้าสูงกว่าปัจจุบันมาก (หลายบริษัทยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน) ราคาหุ้นอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของยีลด์พันธบัตร และน่าจะ outperform เมื่อ เศรษฐกิจโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำมากหรือติดลบ (เงินฝืด) เพราะในสถานการณ์ดังกล่าว ยีลด์พันธบัตรก็มักต่ำมากหรือติดลบ ขณะที่มูลค่าของเงินแทบไม่ลดลงตามเวลา (ถือเงินสดไว้เฉยๆก็รวยขึ้นเมื่อเงินฝืด) นักลงทุนจึงอดทนรอ “กำไรในอนาคตอันไกลโพ้น” ได้ยาวนานยิ่งขึ้น
KT-EUROTECH หุ้นเทคโนโลยียุโรป ส่วนใหญ่เติบโตสูงและคุณภาพสูง แต่ก็มีบางส่วนที่ปรับตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจ (cyclical) น่าจะทำได้ดีเมื่อ เศรษฐกิจเติบโตปานกลาง เงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ
KT-EURO, KT-JAPAN หุ้นขนาดเล็ก (small cap) ใน 2 ตลาดพัฒนาแล้ว ปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัวของบริษัทมีอิทธิพลมาก หุ้นวัฏจักร มีสัดส่วนสูง ราคาเฉลี่ยไม่แพง น่าจะชอบ เงินเฟ้อค่อนข้างสูง เศรษฐกิจโตค่อนข้างดี
KT-FINANCE, KT-JPFUND หุ้นกลุ่มการเงินโลก และ Nikkei 225 Index ซึ่งประกอบด้วยหุ้นญี่ปุ่นขนาดใหญ่และมีผู้ส่งออกจำนวนมาก น่าจะ outperform เมื่อ เงินเฟ้อค่อนข้างสูง เศรษฐกิจเติบโตสูง เพราะยีลด์พันธบัตรโลกปรับตัวขึ้น มักเป็นปัจจัยหนุนทั้งสองกองทุนดังกล่าวโดย เพิ่มอัตรากำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย และ กดเงินเยนอ่อนค่า ตามลำดับ
KT-OIL, KT-ENERGY, KT-MINING อิงสินค้าโภคภัณฑ์ที่ความต้องการใช้โดยภาพรวมแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจโลก จึงมักชอบ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเติบโตดีถึงปานกลาง เป็นหลัก
KT-PRECIOUS, KT-GOLD ความต้องการลงทุน (investment demand) ทองคำและโลหะมีค่า น่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อ เงินเฟ้อสูง (แซงดอกเบี้ย) เศรษฐกิจโตต่ำถึงถดถอย กองทุนเหล่านี้จึงน่าจะเป็นผู้ชนะในภาวะ stagflation
KT-AGRI, KT-HEALTHCARE หุ้นสไตล์ defensive (ไม่ค่อยอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ) มีสัดส่วนสูงในพอร์ต น่าจะเป็นที่ต้องการในภาวะ เศรษฐกิจโตต่ำถึงถดถอยแบบอ่อนๆ ทั้งนี้ KT-AGRI น่าจะรับมือเงินเฟ้อสูงได้ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านเกษตรและอาหาร (อ่านเพิ่มเติม “ลงทุนฝ่าวิกฤตอาหาร” KTAM Focus 27 มี.ค.)
KT-BOND พอร์ตตราสารหนี้โลกซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือเฉลี่ยสูง ดูเรชั่นเฉลี่ยค่อนข้างยาว เหมาะสำหรับใช้รับมือสถานการณ์ เศรษฐกิจชะลอตัวถึงถดถอย เงินเฟ้อต่ำถึงเงินฝืด
โฆษณา