6 พ.ค. 2022 เวลา 10:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“เงินเฟ้อคาดการณ์” นั้น...สำคัญไฉน
ถือเป็นอีกข่าวใหญ่ เมื่อกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคของไทยเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ 5.7% และเงินเฟ้อผู้ผลิต 11.4% เงินเฟ้อไทยสูงขึ้นมากถ้าเทียบค่าเฉลี่ยปีก่อนที่ 1.2% และ 4.7% ตามลำดับ
ตั้งแต่ต้นปีมานี้ อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคและผู้ผลิตไทยเร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ เงินเฟ้อผู้บริโภคสูงขึ้นมากในหมวดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และหมวดอาหาร ด้านเงินเฟ้อผู้ผลิตสูงขึ้นมากเกือบทุกหมวด ตามต้นทุนราคาวัตถุดิบโลกที่แพงขึ้นเยอะ โดยเฉพาะหลังเกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกดีดตัวแรงเกือบถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน มี.ค. 65 จนตอนนี้เงินเฟ้อไทยทะยานสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นไปถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จนเงินเฟ้อผู้บริโภคและผู้ผลิตของไทยปีนั้นเร่งตัวสูงกว่า 5% และ 12% ตามลำดับ คล้ายเรื่องราวที่เกิดขึ้นตอนนี้
3
พอเห็นเงินเฟ้อไทยออกมาสูงแบบนี้ เลยอยากชวนคุณผู้อ่านคิดกันต่อค่ะว่า มุมมองผู้คนต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคตสำคัญเพียงใดต่อเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง แล้วภาครัฐจะคุมเงินเฟ้อคาดการณ์นี้ได้อย่างไร?
  • เงินเฟ้อคาดการณ์สำคัญเพียงใด?
ปกติเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะใกล้ไกลสามารถสำรวจได้จากคนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มครัวเรือน ธุรกิจ นักวิเคราะห์นักลงทุนในตลาดการเงิน แต่ละกลุ่มจะคาดการณ์เงินเฟ้อโดยใช้ข้อมูลรอบตัวที่คุ้นเคยต่างกัน จึงมีความแม่นยำต่างกัน มีผลศึกษาพบว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อของนักวิเคราะห์นักลงทุนในตลาดการเงินจะค่อนข้างแม่นยำกว่ากลุ่มอื่น เพราะเกาะติดทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และมาตรการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐได้ใกล้ชิดรอบด้านมากกว่า จึงมักถูกนำมาใช้อ้างอิงในการทำนโยบาย โดยเฉพาะมุมมองเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวที่สะท้อนข้อมูลจากตลาดการเงิน
แต่คนกลุ่มไหนจะคาดการณ์แม่นแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า คนส่วนใหญ่คาดการณ์เงินเฟ้อแบบใด ก็มักปรับพฤติกรรมไปตามมุมมองนั้น จนอาจทำให้เงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ (self-fulfilling) ถ้าคนส่วนใหญ่มองว่าเงินเฟ้อในอนาคตจะพุ่งแรงต่อเนื่อง อาจอยากรีบตุนข้าวของหรือวัตถุดิบไว้ก่อน ทำให้สินค้าไม่พอความต้องการ ราคาแพงขึ้นได้ทันที เมื่อเงินเฟ้อสูงถึงจุดหนึ่งก็อาจทำให้แรงงานร้องขอขึ้นค่าจ้างเพื่อชดเชยอำนาจซื้อที่หายไป พอนายจ้างต้องจ่ายค่าแรงแพงขึ้น ก็อาจขึ้นราคาสินค้าส่งผ่านต้นทุนสูงขึ้น กลายเป็นวงจรเงินเฟ้อสูง-ค่าแรงแพงไม่รู้จบ (wage-price spiral) พาให้เศรษฐกิจประเทศนั้น ๆ ตกต่ำได้
แต่ถ้าผู้คนไม่หวั่นไหวกับเงินเฟ้อสูงชั่วคราว ยังมั่นใจว่านโยบายภาครัฐดูแลได้ เงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ว่าระยะใกล้ไกลก็จะไม่หนีไปจากเป้าหมายที่ธนาคารกลางประกาศว่าเป็นระดับเหมาะสมมากนัก ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เงินเฟ้อคาดการณ์ยังคงถูกยึดเหนี่ยวเอาไว้ได้ (anchored) ตามเป้าหมายนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศเป็นสำคัญ การที่ผู้คนยังเชื่อมั่นว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนแพงมีกลไกภาครัฐช่วยชะลอการขึ้นราคาไม่ให้ปรับตามต้นทุนเร็วมากนัก และมีมาตรการภาครัฐออกมาบรรเทาผลกระทบผ่อนหนักเป็นเบา ส่วนธนาคารกลางจะออกมาใช้เครื่องมือดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อจากอุปสงค์ร้อนแรงได้ทันการณ์ การประสานนโยบายภาครัฐเช่นนี้เพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนแพงหรือเศรษฐกิจร้อนแรง จะสามารถคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะใกล้ไกลเอาไว้ได้
แบงก์ชาติเพิ่งออกจดหมายเปิดผนึกเมื่อต้นเดือน เม.ย. 65 รับว่า ในช่วง 1 ปีข้างหน้าเงินเฟ้อไทยจะสูงถึง 4% เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วง 1 - 3% แต่ต้นปีหน้าเงินเฟ้อจะกลับเข้าเป้าได้ โดยมีมุมมองว่าราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบคงไม่แพงต่อเนื่องจากปีนี้ที่แพงขึ้นมามากแล้ว เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่เป็นตัวการสำคัญทำให้สินค้าโภคภัณฑ์โลกขาดแคลน ก็น่าจะคลี่คลายได้ในปีนี้ นโยบายการเงินจึงยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เพื่อคุมเงินเฟ้อสูงชั่วคราวจากด้านต้นทุนแพงเช่นนี้ ยังสามารถใช้เครื่องมือดอกเบี้ยต่ำช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ต่อ ขณะที่รัฐบาลก็เร่งออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพสูงชั่วคราว มีกลไกตรึงราคาสินค้าจำเป็นช่วยกลุ่มคนที่เดือดร้อน
  • จับตาการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ในต่างประเทศ
ธนาคารกลางในต่างประเทศก็พยายามหาจุดสมดุลในการปรับทิศนโยบายการเงิน หลายประเทศกำลังเจอพายุหลายลูกซัดปัญหาเงินเฟ้อสูง ทั้งจากแรงกดดันอุปสงค์หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากแรงกระตุ้นนโยบายการเงินการคลัง แรงกดดันอุปทานจากต้นทุนแพง และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะใกล้ไกลเริ่มไต่สูงเกินกรอบเป้าหมายไปมาก จนต้องผ่อนคันเร่งและเริ่มเหยียบเบรคปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ให้ทัน และมีแววว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยให้เร็วและแรงขึ้นอีก เพื่อคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น-ยาวให้อยู่ ไม่หวั่นไหวไปกับเงินเฟ้อสูงช่วงนี้
ตัวอย่างกรณีสหรัฐฯ ตัวเลขเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะใกล้ไกลของทุกกลุ่มสำรวจเริ่มทิ้งห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2% จากข้อมูล ณ มี.ค. 65 เงินเฟ้อผู้บริโภคออกมา 8.5% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524 ที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก ข้อมูลผลสำรวจเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 1 ปีข้างหน้าของครัวเรือนและธุรกิจเร่งตัวสูงอยู่ที่ 6.6% และ 3.8% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวจากข้อมูลตลาดการเงิน (ดูได้จากเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะ 5 ปีในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ 5-year, 5-year forward inflation expectation rate) แม้จะไม่ได้เร่งตัวมากเท่าเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น แต่ข้อมูลล่าสุดเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ 2.4% เริ่มหนีห่างจากเป้าเงินเฟ้อมากขึ้น
ในช่วงหลังมานี้ Fed เริ่มให้ความสำคัญกับการคาดการณ์เงินเฟ้อของครัวเรือนมากขึ้น เพราะผลสำรวจให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สัดส่วนคนที่ไม่อยากตอบคำถามมุมมองเงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงครึ่งหนึ่งจนเหลือไม่ถึง 6% ของผู้ตอบทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนคนที่ยินดีตอบคำถามนี้กลับให้มุมมองเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ผลศึกษาเชิงประจักษ์ของ Fed ชี้ชัดว่า ในช่วงที่ผู้คนสนใจมีมุมมองเงินเฟ้อคาดการณ์เยอะขึ้น จะยิ่งส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมในวันนี้แรงขึ้นอีก ทำให้ธนาคารกลางควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้เตลิดไปตามเงินเฟ้อสูงได้ยากกว่าช่วงที่คนไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินเฟ้อกัน
ย้อนมาดูตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ของไทย แม้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมาตามทิศทางเงินเฟ้อที่ออกมาสูงขึ้นมาก แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งระยะใกล้และไกลยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ สะท้อนความเชื่อมั่นของคนไทยในช่วงเวลานี้ว่า นโยบายการเงินจะยังสามารถรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางตามเป้าหมายที่ประกาศไว้ได้
หากเทียบกับช่วงปี 2551 ที่เจอสถานการณ์คล้ายกัน เป็นช่วงที่เงินเฟ้อสูง 5.5% ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ดีดตัวไปถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปีนั้นเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นของธุรกิจเร่งตัวเกิน 6% แต่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางกลับเพิ่มขึ้นไม่มากและยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ไม่อ่อนไหวไปตามความผันผวนของราคาในระยะสั้น สิ่งนี้สะท้อนได้ชัดว่า การยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้คนจะมองเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการปรับเพิ่มราคาเป็นระลอกตามมา ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณนี้ในไทย แตกต่างจากสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งระยะใกล้และไกลปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตาม ๆ กันมา จึงนับว่าเป็นความท้าทายของผู้ดำเนินนโยบายต้องเร่งทำทุกทางเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ให้ทันการณ์ก่อนจะสายไป
จะเห็นว่าธนาคารกลางทั่วโลกพยายามเลี่ยงสถานการณ์ “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” หาจังหวะสมดุลการออกแรงผ่อนคลายนโยบายการเงินให้ถั่วสุกทั่วถึงและงาคั่วได้หอมกำลังดี เพราะด้านหนึ่งกำลังใช้เครื่องมือดอกเบี้ยต่ำเร่งฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด แต่อีกด้านก็ต้องระวังคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ให้เตลิดจากนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำไป หากเห็นท่าไม่ดีก็ออกมาส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ให้เตลิดไปเสียก่อน แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ คาดการณ์เงินเฟ้อระยะใกล้ไกลกันแบบไหน?
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
เอกสารอ้างอิง
John O'Trakoun, Your Attention Please ..., Macro Minute, Federal Reserve Bank of Richmond, 15 Feb 2022
โฆษณา